breaking news

เตือนจากกรมควบคุมโรค ระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เนื่องจากอากาศร้อนอาจทำสัตว์หงุดหงิดง่าย เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

เมษายน 10th, 2019 | by administrator
เตือนจากกรมควบคุมโรค ระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เนื่องจากอากาศร้อนอาจทำสัตว์หงุดหงิดง่าย เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
Health & Sport
0

วันที่ 9 เมษายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงนี้อากาศร้อน อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย ระวังถูกสุนัข-แมว กัดหรือข่วน เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2562 นี้ พบสุนัขกัดคนเกือบ 8 หมื่นคนแล้ว หากถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน แม้มีแผลเพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

           โรคกลัวน้ำและโรคหมาว้อ คืออีกชื่อหนึ่งของโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน(เนื่องจากสัตว์ประเภทหมาแมวชอบที่จะเลียบริเวณเท้าทำให้สัมผัสกับน้ำลาย) การเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยสัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุดคือสุนัข ร้อยละ 75 รองลงมาคือแมวและโค โรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปีแต่ในฤดูร้อนจะทำสัตว์หงุดหงิดง่ายซึ่งจะทำให้มีโอกาสถูกสุนัข แมว กัดหรือข่วน มากกว่าในฤดูอื่น

          ระยะตั้งแต่รับเชื้อถึงแสดงอาการอาจยาวนานตั้งแต่ 1 สัปดาห์ จนถึง 1 ปี อาการในคน เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คันรุนแรงบริเวณบาดแผล คลุ้มคลั่ง กลัวแสง กลัวลม  กลืนอาหารไม่ได้โดยเฉพาะของเหลว และหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาต และเมื่อผู้ติดเชื้อแสดงอาการแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องเสียชีวิตทุกราย

          ข้อมูลในปี 2562 แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังพบสุนัขบ้าจำนวนมากกระจายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยพบในปีที่ผ่านมา จากรายงานของกรมปศุสัตว์ พบสุนัขบ้าแล้ว จำนวน 156 ตัว ใน 39 จังหวัด และจากการสำรวจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพบว่าในปี 2561 มีสุนัขและแมวรวมกันประมาณ 10,780,000 ตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขร้อยละ 72  สำหรับปัญหาสุนัขกัดคนในปี 2562 (ตั้งแต่ ม.ค. – มี.ค.) พบสูงเกือบ 80,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 30  เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

          กรมควบคุมโรคแนะนำป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยใช้ “คาถา 5 ย.” คือ อย่าแหย่ สัตว์ อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกัน อย่าหยิบ อาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย หากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆครั้งอย่างเบามือ ใส่ยาฆ่าเชื้อหรือเบตาดีนที่บาดแผลทันทีหลังล้างแผลเสร็จ จากนั้นไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และให้กักสุนัข-แมว 10 วัน เพื่อสังเกตอาการ หากสัตว์ตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ที่สำคัญเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรฉีดวัคซีนตามแพทย์นัดและครบชุด

          ผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ให้นำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี โดยในช่วงรณรงค์ปี 2562 นี้ มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 นี้ โดยขอรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือผู้นำชุมชนทันที 

Share This:

Comments are closed.