breaking news

สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย 54.1% เป็นกังวลน้อยที่สุด?

สิงหาคม 8th, 2021 | by administrator
สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย 54.1% เป็นกังวลน้อยที่สุด?
ไม่มีหมวดหมู่
0

1 มิถุนายน 2564 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เผยแพร่ข้อมูล “ชนิดพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย” จากข้อมูลพบว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังมากกว่าครึ่งมีสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุด

ในอดีตประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีสัตว์ต่างๆ อาศัยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะสัตว์จำพวกมีกระดูกสันหลัง ที่ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การอยู่อาศัย แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหลักของสัตว์ได้ถูกบุกรุกและทำลายลงไปอย่างมาก ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากสัตว์ของมนุษย์อย่างไม่ถูกวิธี เป็นการใช้อย่างสิ้นเปลืองและไม่เกิดประโยชน์ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์มีจำนวนลดลง หรือสูญพันธุ์ไป ซึ่งถ้าหากสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศไทยเกิดการสูญพันธุ์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอีกด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดก็อาจทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล

ซึ่งในความเป็นจริงสัตว์มีประโยชน์ต่อมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ประโยชน์ของสัตว์ที่มีต่อมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไปในทางอ้อมมากกว่าทางตรง จึงทำให้มนุษย์มองไม่เห็นคุณค่าของสัตว์เท่าที่ควรเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อย่างเช่น ป่าไม้ หรือแร่ธาตุ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากสัตว์โดยตรงนั้น จะเป็นปัจจัยพื้นฐานบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ได้มาจากสัตว์ เช่น เนื้อและส่วนต่างๆ ของสัตว์บางชนิดที่มนุษย์ได้นำมาเป็นอาหาร อวัยวะของสัตว์บางอย่าง ที่นำมาเป็นเครื่องยาสมุนไพร และใช้ทำเครื่องใช้เครื่องประดับ นอกจากนี้สัตว์บางชนิด มนุษย์ยังได้นำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้า ตลอดจนนำมาใช้แรงงาน เช่น การนำช้างมาใช้ลากซุง เป็นต้น ส่วนประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากสัตว์โดยอ้อม นั่นคือการที่สัตว์มีประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เพราะสัตว์เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ทำให้เกิดสมดุลในธรรมชาติ

จากข้อมูล “ชนิดพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ถูกคุกคามของประเทศไทย” ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำการรวบรวมและเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ data.go.th พบว่าปัจจุบัน สัตว์กลุ่มมีกระดูกสันหลังจำนวน 5 กลุ่ม ซึ่งได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีจำนวนรวมกันอยู่ที่ 2,276 สายพันธุ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. นก                           มีจำนวน 1,012  สายพันธุ์
  2. สัตว์เลื้อยคลาน            มีจำนวน 392    สายพันธุ์
  3. ปลา                         มีจำนวน 370    สายพันธุ์
  4. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม        มีจำนวน 345    สายพันธุ์
  5. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก  มีจำนวน 157    สายพันธุ์
ดูเพิ่มเติม https://datastudio.google.com/s/lGcI7yf3jWM

ทั้งนี้ สถานภาพของชนิดพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้ง 2,276 สายพันธุ์ จะถูกแบ่งเป็นสถานภาพต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • สูญพันธุ์

เป็นชนิดพันธุ์ที่สูญพันธ์ไปแล้ว โดยมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการตายของชนิดพันธุ์นี้ตัวสุดท้าย  มีจำนวนทั้งหมด 8 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 สายพันธุ์ นก 3 สายพันธุ์ และปลา 1 สายพันธุ์

  • สูญพันธุ์ในธรรมชาติ

เป็นชนิดพันธุ์ที่ไม่มีรายงานว่าพบอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ มีจำนวนทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น นก 2 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 1 สายพันธุ์ และปลา 1 สายพันธุ์

  • ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

เป็นชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในขณะนี้ มีจำนวนทั้งหมด 102 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น นก 43 สายพันธุ์ ปลา 26 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 17 และสัตว์เลื้อยคลาน 16 สายพันธุ์

  • ใกล้สูญพันธุ์

ชนิดพันธุ์ที่กำลังอยู่ในภาวะอันตรายที่ใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากโลกหรือสูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ ถ้าปัจจัยต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ยังดำเนินต่อไป มีจำนวนทั้งหมด 185 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น ปลา 66 สายพันธุ์ นก 58 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 40 สัตว์เลื้อยคลาน 1 สายพันธุ์ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 4 สายพันธุ์

  • มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

ชนิดพันธุ์ที่เข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ถ้ายังคงมีปัจจัยต่างๆ อันเป็นสาเหตุให้ชนิดพันธุ์นั้นสูญพันธุ์ มีจำนวนทั้งหมด 282 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น ปลา 116 สายพันธุ์ นก 70 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 66 สัตว์เลื้อยคลาน 16 สายพันธุ์ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 สายพันธุ์

  • ใกล้ถูกคุกคาม

เป็นชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มอาจถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ยังไม่มีผลกระทบมาก    มีจำนวนทั้งหมด 292 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น นก 122 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 62 สายพันธุ์ ปลา 59 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 30 และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 19 สายพันธุ์

  • เป็นกังวลน้อยที่สุด

เป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและพบเห็นอยู่ทั่วไป มีจำนวนทั้งหมด 1,232 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น นก 707 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 265 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 157 และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 103 สายพันธุ์

  • เป็นกังวลน้อยที่สุด

เป็นชนิดพันธุ์ที่มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยตรงหรือโดยอ้อม ชนิดพันธุ์กลุ่มนี้มีความจำเป็นต่อการจัดหาความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาวิจัยในอนาคต มีจำนวนทั้งหมด 171 สายพันธุ์ โดยแบ่งเป็น ปลา 101 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 31 สายพันธุ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 17 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 15 และนก 7 สายพันธุ์

จากข้อมูลที่กล่าวมานั้น พบว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มปลา เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเพียงกลุ่มเดียวจากทั้งหมด 5 กลุ่ม ที่ไม่มีสายพันธุ์ใดถูกจัดอยู่ในสถานภาพเป็นกังวลน้อยสุด อีกทั้งยังมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากกว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่น โดยคิดเป็นร้อยละ 41.1 หรือเท่ากับปลาจำนวน 116 สายพันธุ์ จากจำนวนปลาทั้งหมด 370 สายพันธุ์ ขณะเดียวกันสัตว์มีกระดูกสันหลังอีก 4 กลุ่ม ต่างมีสัดส่วนของสายพันธุ์อยู่ในกลุ่มสถานภาพเป็นกังวลน้อยที่สุดมากกว่าสถานภาพอื่น

แล้วอะไรคือสาเหตุ?

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่สัตว์มีกระดูกสันหลังทุกกลุ่มที่จะมีสถานภาพที่ดีอย่าง “เป็นกังวลน้อยที่สุด” ซึ่งเป็นสถานภาพของสัตว์ที่สะท้อนให้เห็นว่าสัตว์ชนิดนั้นๆ ไม่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและพบเห็นอยู่ทั่วไป แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปลามีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากกว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มอื่น

ด้านองค์กรรณรงค์อิสระที่ทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอย่าง “กรีนพีซ” ให้เหตุผลที่สัตว์น้ำจำนวนมากต้องสูญพันธุ์หรือตกอยู่ในความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ว่ามีสาเหตุจากภัยคุกคามที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น

การจับสัตว์น้ำเกินขนาด (Overfishing)

อุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ที่ไร้ความรับผิดชอบออกแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลที่มีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเรือประมงที่พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากการจับปลาในปริมาณมหาศาลแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ดอกไม้ทะเล หรือสัตว์หน้าดิน เร่งให้เกิดทำลายระบบนิเวศเกินกว่าการที่ธรรมชาติจะสามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้

การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch)

การทำประมงยุคใหม่นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยไม่จำเป็น ในทุกๆ ปี เครื่องมือประมงทำลายล้างและอวนลากคร่าชีวิตวาฬและโลมาไม่น้อยกว่า 300,000 ตัวทั่วโลก เนื่องจากการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสมกับประเภทสัตว์น้ำที่จับ วาฬ โลมา หรือฉลามจึงมักจะติดอวนลากขึ้นมาโดยไม่ใช่สัตว์น้ำกลุ่มเป้าหมาย และยังทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและสัตว์น้ำประจำถิ่น ตัวอย่างเช่น เรืออวนลากที่ทำลายระบบนิเวศปะการังที่อยู่มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ไปพร้อมกับระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบางโดยรอบ

การประมงที่ไม่เป็นธรรม

เรือประมงที่ละเมิดกฎหมายมักออกทำการประมง และไม่คำนึงถึงน่านน้ำของประเทศที่ขาดความมั่นคงทางอาหารและรายได้ โดยกิจการประมงที่ผิดกฎหมายนั้นจะให้ผลตอบแทนน้อยมากให้กับประเทศผู้เป็นเจ้าของน่านน้ำที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เช่นประเทศชายฝั่งทะเลของแอฟริกาและกลุ่มประเทศริมฝั่งและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

ภาวะโลกร้อน

อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวทะเลสูงเพิ่มขึ้นขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่เร่งเร้ามากขึ้น องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.Environmental Protection Agency) ระบุว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงกว่าในอดีต จากการบันทึกข้อมูลไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2423

บรรดาสายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำทั้งหมดล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงจากการที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สัตว์น้ำไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวและตายเนื่องจากไม่สามารถทนสภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นได้

ขณะเดียวกัน มหาสมุทรกำลังกลายสภาพเป็นกรดจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในบรรยากาศ และเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ทั้งการกัดกร่อนของปะการัง การทำให้เปลือกของสัตว์ประเภทหอยบางลง และทำให้ปลามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงและอ่อนไหวต่อสัตว์ที่เป็นผู้ล่ามากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ ทำให้ห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนไปทั้งระบบ

การที่สัตว์น้ำบางชนิดที่ไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน ก็หมายถึงว่าปลาเศรษฐกิจที่มนุษย์บริโภคก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล ด้วยเหตุนี้สภาวะน้ำทะเลเป็นกรดจึงถูกขนานนามว่าเป็น “แฝดตัวร้าย” ของภาวะโลกร้อน

สารพิษ

มลพิษจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์คืออีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล อาจจะเป็นมลพิษที่ถูกทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษที่มาจากน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสกปรก หรืออาจจะมาจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเลก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลเช่นกัน

ทั้งนี้ ในจำนวนสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มปลาที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ มีจำนวน 116 สายพันธุ์ จากจำนวนปลาทั้งหมด 370 สายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในปลาที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์อย่าง “ปลาแรดเขียว” มีสาเหตุมาจาก ที่ปลาแรดเขี้ยวเป็นปลาที่มนุษย์มีความต้องการในการจับมาเลี้ยงสูง เนื่องจาก ปลาแรดเขี้ยวนี้มีจำนวนน้อย พบได้ยาก และมีสีสันบนลำตัวที่โดดเด่น ในขณะที่ “ปลาหมอทะเล” หรือ “ปลาเก๋าทอง” มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มาจากสาเหตุที่มันเป็นปลาที่มีรสชาติดี มักจะถูกเอามาทำเป็นเมนูอาหารที่มีราคาสูงตามภัตตาคารขึ้นชื่อ นอกจากนี้ยังมี “ปลากระดี่กระทิงไฟ” ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เพียงเพราะมันเป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงปลาสวยงาม และจากความสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของปลากระดี่กระทิงไฟนี้ ทำให้มันกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ติดอันดับของวงการปลาสวยงามของเมืองไทย

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากสัตว์ (มีกระดูกสันหลัง) สูญพันธุ์?

ปัจจุบันสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 12 สายพันธุ์ โดยที่สูญพันธุ์ในธรรมชาติ 4 ชนิดพันธุ์ ซึ่งได้แก่ ปลาเสือตอ นกช้อนหอยดำ นกกระสาคอดำ และตะโขง ซึ่งมีสาเหตุดังนี้

ปลาเสือตอ

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มปลา ที่มีสาเหตุการสูญพันธุ์ในธรรมชาติจากการที่พื้นที่มีความเสื่อมโทรม และถูกล่าเพื่อไปทำเป็นอาหาร

นกช้อนหอยดำ

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มนก ที่มีสาเหตุการสูญพันธุ์ในธรรมชาติจากการดำรงชีวิตของมันที่นกชนิดนี้มักจะอยู่เป็นคู่หรือตัวเดียว มากกว่าอยู่กันเป็นฝูง

นกกระสาคอดำ

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มนก ที่มีสาเหตุการสูญพันธุ์ในธรรมชาติจากอัตราการเติบโตของประชากรอาจลดลงตามจำนวนปีที่แห้งแล้งเพิ่มขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินซึ่งทำให้จำนวนคู่ผสมพันธุ์ลดลงอย่างถาวร และถูกคุกคามจากการทำลายที่อยู่อาศัยการระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำตื้นการรบกวนที่รังการตกปลามากเกินไปมลภาวะการชนกับสายไฟฟ้าและการล่าสัตว์ รวมถึงการถูกล่าและการสูญเสียถิ่นอาศัย มีรายงานพบครั้งสุดท้ายที่หาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง

ตะโขง

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีสาเหตุการสูญพันธุ์ในธรรมชาติจากเนื่องจากความต้องการบริโภคของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหนังและเนื้อจระเข้ ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ และแหล่งอาศัยหากินในธรรมชาติถูกทำลายด้วยการรุกล้ำของมนุษย์

ส่วนสัตว์ที่สูญพันธุ์อีก 8 ชนิด ได้แก่ แรด สายยู สมัน นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง นกพงหญ้า นกช้อนหอยใหญ่ กูปี และกระซู่ ซึ่งมีสาเหตุการสูญพันธุ์ดังต่อไปนี้

แรด

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สูญพันธุ์เนื่องจาก การบุกรุกป่าจากการทำไม้และการถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำให้แรดชวาสูญเสียพื้นที่อาศัยและหากิน ส่งผลให้จำนวนประชากรของแรดชวา “สูญพันธุ์ จากถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย” นอกจากนี้แรดยังถูกล่า เพียงเพราะความเชื่อว่า นอของแรดนั้นสามารถเอาไปทำยาเสริมสมรรถภาพทางเพศของคนได้ หรือเอาไปทำเป็นเครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล เครื่องประดับ จึงทำให้มีการฆ่าแรดชวาเพื่อเอา “นอ” ทั้งนี้ พฤติกรรมของแรดเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันสูญพันธุ์ เนื่องจากแรดมีนิสัยชอบนอนแช่ปลักโคลน ถ่ายมูลที่เดิมประจำ และไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ จึงเป็นสัตว์ที่เชื่องช้าไม่ปราดเปรียว ทำให้ถูกพบตัวและถูกล่าได้ง่าย

สมัน

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สูญพันธุ์เนื่องจากการถูกล่า เพื่อนำไปทำอาวุธ และยาสมุนไพร รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนทุ่งหญ้าธรรมชาติมาเป็นไร่นา ทำให้ประชากรสมันลดจำนวนลงจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

กูปรี

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สูญพันธุ์เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยคือป่าเต็งรังในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น

กระซู่

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่สูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าเพื่อเอานอ และอวัยวะทุกส่วนของตัว ซึ่งมีฤทธิ์ในทางเป็นยา กระซู่จึงถูกล่าอยู่ต่อเนือง ประกอบกับกระซู่มีอยู่ในธรรมชาติน้อย และประชากรแต่ละกลุ่มและแม้แต่กลุ่มเดียวกันก็อยู่ห่างกันมากไม่มีโอกาสจับ คู่ขยายพันธุ์ได้

นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มนก ที่สูญพันธุ์เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยคือป่าเต็งรังในพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น

นกพงหญ้า

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มนก ที่สูญพันธุ์เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมทั้งหมดถูกทำลาย

นกช้อนหอยใหญ่

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มนก ที่สูญพันธุ์เนื่องจากถูกการล่า และการสูญเสียถิ่นอาศัยคือป่าเต็งรังในพื้นที่ราบลุ่ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นกในประเทศไทยถูกคุกคาม บุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยดำเนินไปอย่างรุนแรงและยาวนานทำให้แหล่งอาหาร ถิ่นอาศัย และสร้างรังวางไข่ของนกเหล่านี้ถูกทำลายจนเปลี่ยนสภาพไป

สายยู

สัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มปลา ที่สูญพันธุ์เนื่องจากเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียว จึงมีโอกาสในการสูญพันธุ์มากกว่าปลาชนิดอื่นที่พบว่าอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่

จากข้อมูลการสูญพันธุ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย พบว่าสัตว์ที่มีสถานภาพสูญพันธุ์เป็นเพียงสัตว์จำนวนน้อย กล่าวคือ มีเพียงแค่ 12 ชนิดพันธุ์ที่สูญพันธุ์ จากจำนวนสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด 2,276 ชนิดพันธุ์ และในความเป็นจริง “การสูญพันธุ์” ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการทางธรรมชาติจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป แม้ว่าโลกนี้จะไม่มีมนุษแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบัน มนุษย์เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นก่อนเวลาที่ควร อันเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์ทำ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาสัตว์มาทำเป็นอาหาร การใช้สัตว์เพื่อการค้า หรือการล่า เพราะเหตุผลบางประการ โดยผิวเผินแล้ว เรามีเหตุผลมากมายที่สนับสนุนว่าทำไมเราจึงควรอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ สาเหตุหลักที่ชัดเจนที่สุดอาจเป็นเพราะสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของ “นิเวศบริการ” ซึ่งนิเวศบริการนี้เป็นคำอธิบายว่า ด้วยทฤษฎีที่ว่าสัตว์และพืชมีประโยชน์ต่อมนุษย์โดยการดำรงอยู่ บางตัวอย่างของนิเวศบริการนั้นชัดเจน เช่น เรากินพืชและสัตว์บางชนิด แพลงก์ตอนในทะเลและพืชสีเขียวช่วยผลิตออกซิเจนที่เราใช้หายใจ ซึ่งถ้าหากไม่มีสัตว์บางชนิด อาจทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล และเราเองก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็ได้มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า เราจะได้ผลประโยชน์เท่าไรจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พวกเขาสรุปว่าผลประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าต้นทุนนับ 100 เท่า กล่าวคือ การอนุรักษ์ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและน่าสนใจ ในทางตรงข้าม การปล่อยให้ชนิดพันธุ์ลดจำนวนลงและสูญพันธุ์ไปดูเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนัก การศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2554 สรุปว่า การปล่อยให้เกิดการสูญพันธุ์โดยไม่กำกับดูแลจะทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลกลดลงราวร้อยละ 18 ภายในปี พ.ศ. 2593 นี่คงกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ต่างๆ บนโลก ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังมีเหตุผลง่ายๆ อย่าง “เราอยากที่จะอนุรักษ์มัน” ซึ่งการอนุรักษ์ก็ทำได้หลายวิธี เช่น การตระหนักรู้ถึงปัญหา การลงมือหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของสัตว์ อาทิ กิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่เพื่อให้สัตว์อาศัย กิจกรรมต่อต้านการล่าสัตว์ การรณรงค์ไม่ให้ใช้อวนตาถี่ในการจับสัตว์น้ำ หรือกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับการงดจับสัตว์น้ำในฤดูผสมพันธุ์หรือวางไข่

อ้างอิงบทความ

1. https://www.data.go.th/dataset/red-data-vertibrates

2. https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88/

3. https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/oceans/oceans-crisis/

4. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B2

5. https://www.facebook.com/DNP.Wildlife/posts/3010438009280819/

6. https://sites.google.com/site/aphisitsaenjaiban571310311/satw-pa-sngwn/raed-rhinoceros-sondaicus-1

7. http://www.thaigoodview.com/node/37215

8. http://www.rangsit.org/sculpture/samun/menu21.php

9. https://m.facebook.com/SeubNakhasathienFD/photos/a.191738355826/10152873052270827/?type=3

10. http://tafnit.tv/2020/12/25/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%89%E0%B8%B2/

11. https://eia.onep.go.th/images/monitor/1565926736.pdf

12. https://mgronline.com/indochina/detail/9560000103809

13. https://sites.google.com/site/bv540107/page1/page1-5

14. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8B%E0%B8%B9%E0%B9%88

15. https://sites.google.com/site/aphisitsaenjaiban571310311/satw-pa-sngwn/krasu-dicerorhinus-sumatrensis

16. https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20200408153605_1_file.pdf

17. http://www.dusit.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=519&c_id=

18. http://www.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=115&c_id=58

19. https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php?id=vinitsiri&month=02-2011&date=01&group=51&gblog=251

20. http://shorturl.asia/peRQt

21. https://sites.google.com/site/satwna12345/ch6-2/plaraedkheiywmaenakhong

22. http://www.siamensis.org/species_index?nid=7565#7565–Species%20:%20Osphronemus%20exodon

23. http://www.siamensis.org/article/215

24. https://fishingthai.com/longsnouted-pipefish/

Share This:

Comments are closed.