breaking news

“รถสาธารณะ” ทางเลือกของผู้ใช้บริการ ตอบโจทย์ความต้องการแล้วหรือยัง?

พฤศจิกายน 27th, 2015 | by administrator
“รถสาธารณะ” ทางเลือกของผู้ใช้บริการ ตอบโจทย์ความต้องการแล้วหรือยัง?
Special Report
0

          ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครฯ  มีเพิ่มมากขึ้นจนเกิดปัญหารถติด ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนถึงทุกวันนี้ แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้เป็นหนึ่งแนวทางในการแก้ไข ปัญหารถติดนี้ คือการเลือกเดินทางด้วยรถสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว

          แต่ทุกวันนี้ประชาชนบางส่วนยังปฏิเสธการเดินทางด้วยรถสาธารณะ เนื่องด้วยยังมีปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความคิดว่า รถสาธารณะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทางของพวกเขา

แล้วปัญหาอะไรที่ทำให้คนยังไม่เลือกใช้บริการ?

one

1.ค่าเชื้อเพลิงถูกกว่าค่าบริการ

        ค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเชื้อเพลิงการเดินทางไปยังจุดหมายด้วยรถส่วนตัว บางครั้งอาจจ่ายในอัตราใกล้เคียงกันหรือถูกกว่า ค่าบริการ ในการเดินทางจากการใช้รถสาธารณะที่ต้องต่อรถมากกว่า 3ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็อาจมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง จึงทำให้ประชาชนคิดว่าเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน ก็ควรเลือกการเดินทางที่สะดวกกว่าคือการเดินทางด้วยรถส่วนตัว

2.รถไม่เพียงพอ…รอนาน

         เนื่องจากการที่รถโดยสารในบางสายการเดินทางมีจำนวนน้อย หรือในบางครั้งปัญหารถติดอาจทำให้รถมาช้า ซึ่งบางสายต้องรอนานกว่าครึ่งชั่วโมง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บริการ เลือกที่จะเดินทางด้วยรถส่วนตัว แทนการยืนรอรถสาธารณะ

3.ความไม่สะดวกในการเดินทาง

       การเดินทางที่ต้องมีการต่อรถหลายต่อเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย อีกทั้งยังรวมถึงความแออัด และเบียดเสียดของจำนวนประชาชนที่ใช้บริการ ทำให้ความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้ใช้บริการลดน้อยลง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คนหันมาใช้รถส่วนตัวแทนมากกว่าการใช้รถสาธารณะ

4.ไม่รู้จกสายรถเมล์ ?

       ความไม่รู้สายรถประจำทางในการเชื่อมต่อไปยังจุดหมาย อีกทั้งความทับซ้อนกันของเส้นทางอาจทำให้เกิดความยุ่งยากที่จะใช้รถสาธารณะในการเดินไปจุดหมายในแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการเดินทางที่ทำให้หลายๆคนต่างที่จะเลือกการเดินทางแบบง่ายโดยการใช้รถส่วนตัว

12250373_850919428358019_1009802048_o (1)

    แผนภาพแสดงจุดเชื่อมระบบขนส่งในกรุงเทพมหานคร

การพัฒนาการบริการรถสาธารณะจากภาครัฐ

            “ยุกต์ จารุภูมิ” ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี ปี 2526  มอบสัมปทานให้ ขสมก. ดำเนินการวิ่งรถสาธารณะแต่เพียงผู้เดียว  พร้อมนำรถขนส่งไปขึ้นทะเบียน  แต่เนื่องจาก ขสมก. มีรถขนส่งไม่เพียงพอต่อประชาชน จึงให้ทางภาคเอกชนเข้ามารับช่วงต่อในรูปแบบของสัญญา ซึ่งเส้นทางการเดินรถส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่วางไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะรับสัมปทาน ส่วนใหญ่จะเป็นเส้นทางเดินรถที่ประชาชนใช้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง

          แต่ในยุคสมัยนี้ประชากรที่มีจำนวนมากขึ้นรวมทั้งถนนมีการก่อสร้างเพิ่มเติม จึงเกิดความทับซ้อนของการเดินทาง ทำให้สายการเดินรถยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้กรมขนส่งทางบกกำลังดำเนินการปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะครอบคลุมต่อความต้องการของประชาชน

IMG_00141

          นายยุกต์ ยังกล่าวอีกว่า กรรมการควบคุมการขนส่งทางบกเป็นผู้ที่กำหนด สายการเดินรถ ประเภท จำนวน เวลา รวมถึงการเรียกเก็บค่าโดยสารซึ่งจะกำหนดให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละยุคสมัยเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการเดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังต้องมองถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการอีกด้วย โดยปัจจุบันการเก็บค่าโดยการของรถเอกชนจะสูงกว่ารถเมล์ธรรมดาอยู่ 2 บาท ซึ่งรัฐบาลจะรองรับในเรื่องค่าใช้จ่าย 2ส่วน คือ ส่วนที่ให้บริการรถเมล์ฟรี กับส่วนที่เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างค่าโดยสารกับต้นทุน

ความคิดเห็นของผู้ใช้รถสาธารณะต่อปัญหาที่พ­บเจอ

          จากผลการสำรวจกลุ่มผู้ใช้บริการจากรถสาธารณะ ปัญหาผู้ที่ใช้บริการพบเจอ รวมถึงความต้องการให้ภาครัฐเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คือการที่รถสาธารณะมีการความถี่ในการวิ่งรถที่น้อยเกินไป ขาดช่วงไม่เป็นเวลา และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งในขณะที่บางสายก็มีจำนวนมากเกินความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการทั้งในด้านการให้บริการของบุคลากรในการเดินรถ และความซับซ้อนของสายรถเมล์ที่ก่อให้เกิดความสับสนในการเดินทาง ซึ่งต้องการในภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้

          ทางด้าน ขสมก. จึงออกมาชี้แจงถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของระบบขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ ที่ทางด้านกระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆมาใช้พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อให้มีรูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดตั้งโครงการจัดระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (GPS) เพื่อศึกษาระบบการปฏิบัติการเดินรถ และได้เริ่มพัฒนาปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการซ้ำซ้อนของเส้นทางเดินรถ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ทันเวลา

two

          และในอนาคต ยังมีการพัฒนาโครงการพัฒนาระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) มาใช้กับรถโดยสารขององค์การ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบบัตรโดยสารร่วม และโครงสร้างราคาโดยรวมกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ และเร่งพัฒนาแอพพิเคชั่น ที่สามารถตรวจดูได้ว่ารถโดยสารประจำทางอยู่จุดใด รวมถึงสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆในการเดินทางได้ ซึ่งโครงการเหล่านี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกและรองรับผู้ใช้บริการ ซึ่งอาจทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ในการที่ทำให้ประชาชนหันมองการใช้รถสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

          สำหรับการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่ยังมีข้อบกพร่องต่างๆซึ่งทำให้ประชาชนหันมาใช้รถส่วนตัวในการเดินทางมากขึ้น แต่ในอนาคตการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีการพัฒนาและมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความครอบคลุม สะดวกสบาย และเอื้อต่อการเดินทางมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนที่สามารถใช้ในการเดินทางได้

สุริ คงกะพันธ์ / กวินณา คงสระ / นทีพันธ์ ธรรมศีลบัญญัติ / นงนุช พุดขาว

Share This:

Comments are closed.