breaking news

เรียนภาษาไทยไม่สนุก “ต้นเหตุ” เพราะ “ครู” ยึดติดกรอบการสอนแบบเดิม?

กรกฎาคม 6th, 2018 | by administrator
เรียนภาษาไทยไม่สนุก “ต้นเหตุ” เพราะ “ครู” ยึดติดกรอบการสอนแบบเดิม?
Education Insider
0

เป็นคนไทยแต่กลับใช้ภาษาไทยกันผิด!…แถมเสียงส่วนใหญ่ของ คนไทยเอง ยังเห็นเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา ครูภาษาไทยระบุต้นเหตุของปัญหา ภาษาไทยกับ คนไทยคือ การศึกษาไทยขั้นพื้นฐานที่ ครูต้องฉีกกรอบเดิมๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้ทันคนรุ่นใหม่

                        สถิติการสำรวจความคิดเห็น เด็ก เยาวชน และประชาชน ปี พ.ศ. 2559 ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต “การใช้ภาษาไทย” ของ “คนไทย” 32.77% ระบุว่า การพูดเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพราะการพูดที่ถูกต้องส่งผลต่อการเขียนที่ถูกต้อง ซึ่งวัยรุ่นในปัจจุบันมักจะพูดคุยกันด้วยศัพท์แสลง บางครั้งมีการประดิษฐ์คำใหม่ขึ้น และจงใจออกเสียงคำให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพื่อเป็นลูกเล่นในการสื่อสาร ทำให้ลืมคำที่ถูกต้องไป อีก 32.28% บอกว่าการเขียนต้องเร่งแก้ไขปัญหาเนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ในการเขียนหนังสือแทนการจดใส่สมุดหรือกระดาษมากขึ้น ยิ่งในการสื่อสารระหว่างกันคนไทยส่วนใหญ่ติดการใช้ “ภาษาแชท” จนกลายเป็นเรื่องปกติ และอีก 16.99% บอกว่า การอ่านสำคัญมากสำหรับเด็กแต่คนไทยจำนวนไม่น้อยกลับอ่านหนังสือกันไม่ได้ อ่านไม่ออก ออกเสียงกันไม่ถูก

ปัจจุบันแม้ว่าคนไทยจะมีสถิติการอ่านหนังสือกันมากขึ้น จากการสำรวจของสำนักงานแห่งชาติ เผยผลว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้นเป็น 66 นาทีต่อวัน แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่ออกและไม่สนใจที่จะอ่านหนังสือกันให้เป็นนิสัย รวมถึงยังคงมีคนไทยที่ไม่รู้หนังสือ

การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มแก้กันที่ “ต้นเหตุ” คือ “การศึกษาไทยขั้นพื้นฐาน” มากกว่าที่จะไปพยายามแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุและโทษว่าเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยทำให้คนไทยใช้ภาษาไทยผิด เพราะจริงๆ แล้ว เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงกระจกสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีการใช้ภาษาไทยกันผิดอย่างไรก็เท่านั้น

อาจารย์สุธาสินี พ่วงพลับ อาจารย์ประจำ สำนักการศึกษาทั่วไป สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย และ “ครูทอม” จักรกฤต โยมพยอม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ครูทอม คำไทย” ติวเตอร์สอนภาษาไทยขวัญใจวัยรุ่น ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็น “การศึกษา” ในมุมมองที่ตรงกันหลายประเด็นว่า การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจะมีการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาภาษาไทยเป็นเรื่องปกติ แต่หลักสูตรการสอนในโรงเรียน หลายๆ แห่ง เป็นหลักสูตรที่เด็กไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันบ่อย เช่น การสอนเขียนโทรเลข หรือการเขียนจดหมายเพื่อติดต่อราชการ ซึ่งปัจจุบันมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ติดต่อกับทางราชการ ดังนั้นหากต้องปรับหรือแก้ไข “ครูทอม” ให้ความเห็นว่า ควรแก้ปัญหาด้วยการสอนเนื้อหาที่เหมาะสมและมีการนำไปใช้ในชีวิตประจำ วันได้มากกว่า เช่น เรื่องของการใช้อีเมล์หรือการส่งอีเมล์ให้ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนคนไทยใช้สื่ออินเตอร์เน็ตในการสื่อสารมากกว่า

ปัจจัยอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ เด็ก “ไม่สนใจเรียนภาษาไทย” และส่วนใหญ่มองว่าภาษาไทยเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ ส่งผลให้เกิดทัศนคติไปในทางลบ เพราะความรู้สึกที่ว่า การเรียนภาษาไทยไม่ใช่เรื่องสนุก ทำให้การเรียนรู้เป็นไปแบบผิวเผิน และเพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดกันว่า รู้ภาษาไทยอยู่แล้ว พูดภาษาไทยได้อยู่แล้วสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ก็คงเพียงพอ

ต้องแยกแยะก่อนว่าถึงแม้จะพูดได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ภาษานั้นได้ดีเสมอไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจว่าควรจะใช้ภาษาไทยอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม แต่การเรียนหรือวิธีการสอนของครูต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน

ตัวของ “ครูผู้สอน” เอง ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่แค่วิธีการสอนที่ต้องปรับเปลี่ยนแต่บุคลิกและภาพลักษณ์ของครูก็ต้องปรับเปลี่ยนให้น่าเข้าหา ฉีกกรอบเดิมๆ ของการเป็นครูสุดเนี๊ยบ ทำตัวน่าเกรง จนเด็กวิ่งหนี มาเป็นครูที่พยายามเข้าหาเด็ก สนใจและใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเด็กว่าเด็กกำลังเข้าใจอะไรหรือไม่เข้าใจอะไร เด็กกำลังสนใจอะไรอยู่ ให้นำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์เป็นสื่อการสอนพร้อมกับความใกล้ชิดของครูต่อศิษย์ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้โดยไม่มีถูกผิด แต่สำหรับครูบางคนที่ช่วงวัยค่อนข้างห่างกับเด็กมาก บางครั้งทำให้ครูไม่เข้าใจเด็กเท่าที่ควร ครูอาจจะไม่รู้ว่าเด็กสนใจอะไร ในจุดนี้คนเป็นครูต้องพัฒนาตัวเองให้ทัน ทำความเข้าใจกับเด็กที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆรุ่นสู่รุ่น รู้ว่าอะไรอยู่ในกระแสที่เด็กสนใจ และนำตัวเองไปอยู่ในกระแสนั้นด้วย เมื่อเข้าใจความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน และเข้าใจในความต้องการของเด็ก ก็จะส่งผลทำให้ครูมีทักษะในการถ่ายทอดที่ดี เพราะรู้ว่าควรจะสอนอย่างไร แต่ล่ะเนื้อหาควรจะจับสื่อไหนนำมาประกอบเป็นสื่อการเรียนการสอน และจากนั้นก็จะสามารถประมวลวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กได้ โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์อยู่เสมอว่าเด็กอยู่ในยุคไหนสมัยไหน อยู่ในพื้นที่ที่เป็นอย่างไร แล้วเป็นเด็กในเมืองหรือชนบท เพราะเด็กแต่ละพื้นที่จะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ครูก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ ให้เหมาะสมกับเด็กกลุ่มนั้นๆ และ “อาจารย์สุธาสินี” ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบัน ‘Generation’ เปลี่ยนไป ทำให้บุคลิกของเด็กเปลี่ยนไปตาม ถ้าครูยังสอนโดยการใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผล

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ ปริมาณครูไทยที่ขาดแคลนและครูผู้สอน ไม่ตรงวุฒิการศึกษาที่จบมา อาจารย์สุธาสินี อธิบายเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันมีนิสิตและนักศึกษาที่เรียนครูจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จบไปแล้วจะไปประกอบอาชีพครู ทำให้ปริมาณครูในแต่ล่ะท้องถิ่นค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งมีหลายๆ โรงเรียนครูคนเดียวสอนหลายวิชา ถึงแม้ว่าตัวครูจะไม่ได้จบมาทางด้านนั้นโดยตรงหรือบางคนก็อาจไม่มีความรู้ในด้านวิชานั้นเลย แต่ต้องมาเปิดหนังสือเปิดอินเทอร์เน็ตอ่านเพื่อจะเอาไปสอนเด็ก

ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่ครูจะสอนผิด เพราะไม่เข้าใจความรู้ด้านนั้นอย่างลึกซึ้งและไม่เพียงพอที่จะไปสอนในพื้นที่ต่างๆได้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหา ถ้ามีการเพิ่มปริมาณครูและเป็นครูมีศักยภาพ

Share This:

Comments are closed.