breaking news

แต่งชุดไทยสร้างอัตลักษณ์กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมผู้ผลักดันชี้ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

กรกฎาคม 2nd, 2018 | by administrator
แต่งชุดไทยสร้างอัตลักษณ์กระทรวงวัฒนธรรมพร้อมผู้ผลักดันชี้ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
Special Report
0

 

ปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาส  สร้างความงดงามด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และผู้ขับเคลื่อนเห็นพร้องเร่งสนับสนุน เพื่อกระตุ้นรายได้จากนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

 

ชุดไทยงามวิลาศ ชนทั้งชาติภาคภูมิใจ

นุ่งซิ่นห่มสไบ งามอย่างไทยใจชื่นมื่น

คนไทยควรรู้ค่า ร่วมรักษาให้หวนคืน

แต่งไทยให้ยั่งยืน อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย

ผู้ประพันธ์: ทีม Special Report

 

แต่งชุดไทย ใครว่าเฉย

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการแต่งกายด้วยชุดไทยว่า หากมีโอกาสได้แต่งชุดไทย ก็อยากให้แต่งในชีวิตประจำวัน กระทรวงวัฒนธรรมกำลังรณรงค์ให้คนไทยร่วมใจกันสวมใส่ผ้าไทย เช่น เวลาไปงานแต่งงาน หรือไปวัดก็อยากให้ใส่ผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก นุ่งโจงกระเบนหรืออาจใส่

การแต่งชุดไทยนั้น จริงๆ มีอยู่หลายระดับ เช่น การใส่ชุดไทยประเพณี ที่เป็นโบราณย้อนยุค การนุ่งโจงกระเบนหรือการห่มสไบเฉียงที่มีเปิดไหล่บ้าง เป็นต้น ซึ่งบางทีอาจไม่สะดวกและทำให้หลายคนเขินอายได้ แต่ยังมีชุดไทยที่ดีกรีอ่อนกว่า เช่น การนุ่งผ้าไหม ผ้าฝ้ายหรือผ้าทอมือ และก็ใส่เสื้อผ้าที่ตัดเย็บ อาทิ เสื้อผ้าแขนกระบอก ก็จะปิดมิดชิดเรียบร้อยดี เพราะฉะนั้นเรื่องเขินอายขึ้นอยู่ที่ว่าใครแต่งชุดไทยในระดับไหน หากทุกคนแต่งชุดไทยกันมากๆ ความเขินอายก็จะลดลงไปเอง เหมือนเวลาเราจะใส่สูทผูกไทอยู่ตลอดก็คงไม่ได้ ต้องถอดออกเหลือแต่เสื้อเชิ้ต ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องประดับให้ครบทุกชิ้น อาจเอาออกบ้างตามความเหมาะสม

ด้าน จันทร์จ๋า หรือ ชาฎา วรรณพงษ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้อนุรักษ์และส่งเสริมด้านวัฒนธรรมไทย ‘กลุ่มแต่งไทยสไบงาม… สยามภูษานิยม’ มองว่าแรงผลักดันในการแต่งชุดไทยมาจากการที่เห็นว่าประเทศไทยก็มีชุดประจำชาติ แต่ไม่เห็นใส่เหมือนกับประเทศอื่นๆ บ้าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ใส่ชุดกิโมโนชุดยูกาตะ ขึ้นรถไฟฟ้าไปไหนมาไหนได้ ประเทศอินเดีย ก็จะเห็นหญิงสาวที่ใส่ชุดส่าหรี่ ที่เป็นชุดประจำชาติของเขา แม้กระทั่งประเทศจีน เวลามีงานเทศกาล ก็จะใส่ชุดกี่เพ้าให้เห็น ในขณะที่คนไทยแถบจะไม่ใส่ชุดประจำชาติหรือชุดไทยให้เห็นเลย จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า ต้องรวมตัวกันเพื่อแต่งชุดไทยให้เหมือนประเทศอื่นบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีงานแล้วค่อยมาแต่งกัน เพราะเชื่อว่าชุดไทยสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ใส่ไปเที่ยววัดโบราณสถานหรือแม้แต่ไปเดินห้างก็สามารถใส่ไปได้ ดังนั้น อยากให้ทุกคนมาช่วยกันสร้างโอกาสในการแต่งชุดไทย ให้เริ่มคิดก่อนเลยว่าชุดไทยก็เหมือนชุด ๆ หนึ่งไม่ว่าใครจะถามหรือแซวอะไรมา ก็ต้องเข้าใจว่า ความคิดของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนมีภาพจำและทัศนคติต่อชุดไทยในมุมมองที่แตกต่าง ก็ปล่อยเขาไป แค่ยิ้มรับ ไม่ต้องเขินอาย และตอบกลับไปด้วยความมั่นใจเลย เช่น ใส่มาเที่ยว อยากใส่หรือเพราะว่าชอบใส่ โดยไม่ต้องหาเหตุผลมากเกินไปกว่านี้เลย นี่คือสิ่งที่ง่ายที่สุดที่เราควรจะทำ ไม่จำเป็นต้องไปโกรธใครที่ถามแบบไม่เข้าใจหรือมาแซวอะไรเลยก็ตาม

ชุดไทยใครว่าแพง

สำหรับราคาชุดไทยที่หลายคนมีความเชื่อว่า จะต้องเสียเงินเป็นจำนวนไม่น้อยเพื่อซื้อชุดไทยมาสวมใส่นั้น จันทร์จ๋า ให้ความเห็นว่า ชุดไทยแท้จริงแล้ว ไม่ได้มีราคาแพงอย่างที่คิด แต่สิ่งที่ทำให้ดูแพงนั้น คือเครื่องประดับต่างๆ ที่อยู่บนชุดไทย แต่ถ้าหากมองว่า เมื่อลงทุนซื้อครั้งแรกไปแล้ว ก็จะสามารถใส่ต่อได้อีกในหลายๆ ครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปอาจซื้อเพียงสไบหรือผ้านุ่งเป็นครั้งคราว

นอกจากนี้ยังมองอีกว่า การซื้อชุดไทย ก็เหมือนกับการซื้อเสื้อยืด กางเกงยีนส์แบบปกติที่ใส่ในชีวิตประจำวัน หากได้ลองใส่ชุดไทยบ่อยๆ แล้ว หรือ แม้แต่เริ่มต้นใส่ครั้งแรกแล้วรู้สึกชื่นชอบ ตนเชื่อว่าทุกคนที่สวมใส่ก็จะรู้สึกคุ้มค่าด้วยเช่นเดียวกับการใส่ชุดอื่นๆ

นายกิตติพันธ์ ยังได้กล่าวเสริมถึงราคาของชุดไทยด้วยว่า ชุดไทยหรือผ้าไทยนั้นมีหลากหลายแบบ แต่จริงๆ แล้ว ก็เหมือนกับชุดปกติที่ไปสรรหาหรือเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า ระดับราคาเริ่มต้นที่ 400 – 2,000 บาท แต่ถ้าหากมองตามปรัชญเศรษฐกิจพอเพียง แทนที่จะต้องเป็นผ้าไหมหรือใส่เสื้อลายลูกไม้ อาจเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าทอมือ เสื้อแขนกระบอก เสื้อผ้าฝ้ายหรือเสื้อที่มีลายปักเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งจะมีหลายระดับราคา ดังนั้น ประชาชนก็ควรเลือกให้ เหมาะสม ทั้งนี้หากประชาชนเริ่มหันมาใส่ชุดไทยมากขึ้นการผลิตก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าราคาจะถูกลงไปโดยปริยาย ตามหลักกลไกตลาดต่อไป

ด้าน นางสาวทิพวรรณ บุญพิมพ์ผู้จัดการร้านเช่าซื้อชุดไทยแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ชุดไทยยังไม่เป็นกระแส ปัจจุบันนี้ถือว่าขายได้ดีกว่า มีคนมาเช่ามากกว่าเดิม จากเดิมยอดขายส่วนใหญ่จะมาจากช่วงเวลามีงานหรือเทศกาล เช่น งานแต่งงาน งานบวช เพียงปีละ 2 – 3 ครั้งเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนเลือกใส่กันมากขึ้น ชุดไทยจึงขายออกได้แทบจะทุกวัน ส่วนราคาก็ยังคงเดิม ไม่ได้ปรับตามกระแสแต่อย่างใด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน อายุ 30 ปีขึ้นไป นักเรียน นักศึกษาก็พอมีบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนตัวมองว่าการแต่งกายด้วยชุดไทยในชีวิตประจำวันยังคงไม่ใช่เรื่องที่มองดูปกติเท่าใดนัก เนื่องจากชุดไทยที่หลายคนนิยมแต่งกายกันนั้นมีความสวยงามก็จริง แต่ก็แลกมาด้วยเครื่องประดับที่เยอะ ผ้าประกอบหลายชิ้น รูปทรงสีสันสะดุดตา ซึ่งขัดกับสภาพการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมของไทยในปัจจุบันค่อนข้างมาก หลายคนอยากใส่แต่ก็ยังเขินอายหากจะเดินไปไหนต่อไหน

อยากเห็นไหม ชุดไทยคู่สยาม

สำหรับนโยบายที่ต่อยอดนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนามรดกไทย นายกิตติพันธ์ ได้กล่าวว่า ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้พัฒนามาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงกระแสละครบุพเพสันนิวาส ที่มีอิทธิพลค่อนข้างมาก ถือว่าช่วยให้เกิดการผลักดันของวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมทางอาหารได้มากขึ้น รวมถึงช่วยผลักดันเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกด้วย แต่หากจะสนับสนุนให้มีการแต่งกายชุดไทยในชีวิตประจำวันอย่างยั่งยืนนั้น ตนมองว่า จริงๆ แล้วการใส่ชุดไทยไปตามสถานที่ต่างๆ คือการสร้างโอกาสหรือส่งเสริมให้เกิดการใส่ชุดไทยกันมากขึ้น การรณรงค์ในครั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการสร้างแรงขับเคลื่อนผู้คนก็เริ่มมีชุดไทยเป็นของตนเองแล้ว เช่นเดียวกันกับในต่างจังหวัด บางสถานที่มีการกำหนดวันให้แต่งผ้าพื้นเมือง หรือแม้แต่บางโรงเรียนก็จะให้ครูและนักเรียนแต่งกายชุดไทยด้วย หากเป็นวันสำคัญทางศาสนา ก็สามารถใส่ ชุดไทยไปวัดได้อีกด้วยซึ่งถือว่าแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และ และความโดดเด่น ที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้จดจำในความงดงามและวัฒนธรรมของประเทศไทย และสิ่งนี้ก็ถือเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนชาวไทยอีกด้วย

ขณะที่ จันทร์จ๋า ยังมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันว่า การใส่ชุดไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปในวงกว้าง จากกระแสที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นแล้วว่า หากวันใดไม่มีใครแต่งกายชุดไทยแล้ว ยังคงเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะสามารถจดจำปรากฏการณ์นี้ได้ และตระหนักได้ว่า ชุดไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และน่าสวมใส่มากที่สุด หากถามว่าคนจะใส่ชุดไทยน้อยลงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้หากอยากแต่งกายชุดไทย ให้ตัดสินใจแล้วลงมือทำเลย ไปซื้อมาใส่ หรือหากยังไม่แน่ใจ ลองเช่ามาดูก่อนก็ได้ แล้วลองไปเที่ยวชมโบราณสถาน หรือแม้แต่ในสถานที่ที่สนับสนุนให้ใส่ชุดไทย สิ่งสำคัญคือการเคารพความชอบของตัวว่ามีความสุขที่ได้แต่งกายชุดไทยหรือไม่หากใส่ชุดไทยแล้วรู้สึกดี และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องให้เสียงของใครมาเป็นตัวขัดขวางความรู้สึกส่วนตัวของตนเอง

อย่างไรก็ตาม นี่คือมุมมองต่างๆ ของการแต่งกายชุดไทยที่หยิบมานำเสนอ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก ประชาชนทุกคนควรร่วมใจกัน เพื่อให้กระแสการแต่งชุดไทยนี้ เกิดขึ้นและสืบเนื่องต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำในวันสงกรานต์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

จากผลสำรวจนิด้าโพล เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2561 ถึงประเด็นเรื่อง การแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำ ในวันสงกรานต์ โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1250 หน่วยตัวอย่าง จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.96

เห็นด้วยกับการแต่งชุดไทย หรือผ้าไทยไปเล่นน้ำในวันสงกรานต์ เหตุผลที่เห็นด้วย ระบุว่าเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย แสดงถึงความเป็นไทยและอยากให้ชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง รวมถึงการแต่งกายชุดไทยหรือผ้าไทยทำให้ดูเรียบร้อย สวยงาม และยังเป็นประเพณีไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณ

ส่วนร้อยละ 14.00 ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดไทยหรือผ้าไทยเล่นน้ำในวันสงกรานต์ เพราะว่า ชุดไทยเป็น

ชุดที่มีเกียรติ หากนำมาใส่เล่นน้ำจะไม่เหมาะสมอีกทั้งยังทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ไม่สะดวก และยังมีราคาที่ค่อนข้างแพงทำให้สิ้นเปลือง อีกทั้งบางส่วนกลัวว่าหากใส่ชุดไทยเล่นน้ำจะทำให้ชุดพัง ขณะที่บางส่วนระบุว่า การเล่นน้ำของเด็กๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยเหมาะสมกับชุดไทยหรือผ้าไทยในการเล่นน้ำสงกรานต์เท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ยังมีอีกร้อยละ 1.04 ที่ไม่แสดงความคิดเห็นและไม่แน่ใจในเรื่องของการแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำในวันสงกรานต์

Share This:

Comments are closed.