breaking news

รู้ทันโจรออนไลน์ ภัยใกล้ตัวบนเฟสบุ๊ค

มิถุนายน 24th, 2015 | by administrator

          กระทรวงเทคโนโลยี ฯ หวั่น!! ความไวของอินเตอร์เน็ต เป็นอุปสรรคในการปกป้องข้อมูลผู้ใช้เฟสบุ๊คได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

          หากพูดถึงปัญหาอาชญากรรม ที่เกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้นมีหลายรูปแบบ และคงหนีไม่พ้น การใช้งานบนสื่อโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟสบุ๊ค ในปัจจุบัน มีผู้ใช้งานบนเฟสบุ๊คในประเทศไทยมากกว่า 20 ล้านบัญชี ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปัญหาในการใช้งานตามมามากมาย

11216074_755212151264397_1320510317_n
          นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ร้องเรียนเข้ามา อันดับต้นๆ คือ การหมิ่นประมาท ซึ่งมีการใช้เฟสบุ๊คโจมตีกันจำนวนมาก เรื่องที่สอง คือ การปลอมแปลงโปรไฟล์ โดยการนำโปรไฟล์ปลอมไปทำให้ผู้ที่ถูกปลอมได้รับความเสียหาย เช่น เรียนแบบพฤติกรรมเป็นบุคคลนั้นๆ แล้วหลอกยืมเงิน หรือไปกล่าวร้ายโจมตีผู้อื่น บางกรณีก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่เป็นการทำเพราะเป็นบุคคลที่ชื่นชอบ โดยทำเฟสบุ๊คขึ้นมา โดยที่ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเผยแพร่ต่อที่สาธารณะ ซึ่งก็ต้องดูในเรื่องของเจตนา ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้บุคคลนั้นเสียหายหรือไม่ ส่วนเรื่องต่อมา การหลอกลวง ในเรื่องของการขายของออนไลน์ ผ่านเฟสบุ๊ค ซึ่งได้มีการโอนเงินกัน โอนเงินแล้ว แต่ไม่ได้ของ หรือได้ของที่ไม่ตรงตามที่สั่งซื้อไว้ และในเรื่องของการตัดต่อภาพที่ไม่เหมาะสม นำขึ้นสู่เฟสบุ๊ค และอีกเรื่องที่ได้รับแจ้ง คือ การหลอกลวงที่เกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ หลอกให้หาคู่ออนไลน์ เปิดเว็บแคม แล้วแบล็คเมล์ ด้วยภาพต่างๆ และขู่กรรโชก ให้โอนเงินโดยส่วนมากจะเป็นเฟสบุ๊คของชาวต่างชาติ มีทั้งเหยื่อที่เป็นหญิงและชาย
          นายณัฐ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องของไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือ มัลแวร์ (malicious software โปรแกรมประสงค์ร้ายต่างๆโดยทำงานในลักษณะโจมตีระบบ การทำให้ระบบเสียหายรวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูล) ที่พอคลิกเข้าไป จะเป็นภาพ หรือข่าว ที่ดึงดูดความสนใจ สื่อไปในเชิงลามก อนาจาร ถ้าเราคลิกเข้าไปดูตัวแอปพลิเคชั่น หรือไวรัสนั้น จะเข้ามาดึงรายชื่อในโทรศัพท์มือถือของเรา ว่าเราคุยกับใคร ก็จะถูกโพสไปยังเฟสบุ๊คในกลุ่มต่างๆ ซึ่งเสมือนตัวเราเป็นผู้กระทำเอง
          ในด้านการแก้ไข สามารถกระทำได้ค่อนข้างยาก ประชาชนต้องสร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น เพราะในหลายๆส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้โดยตรง แต่จะทำได้ ก็ต่อเมื่อตั้งค่าให้เป็นแบบสาธารณะ หรือ มีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ
          ในอนาคตแนวโน้มการถูกล่อหลอกจะเพิ่มมากขึ้น เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะมีวิธีการใหม่ๆโดยอาศัยพื้นฐานความโลภของมนุษย์ ประชาชนก็จะหลงเชื่อได้ง่าย

ปาริฉัตร มุสิราช

Share This:

Comments are closed.