breaking news

กาดวิถีชุมชนคูบัว

สิงหาคม 16th, 2019 | by administrator
กาดวิถีชุมชนคูบัว
Prototype
0

Share This:

เมื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้การท่องเที่ยวชุมชนเติบโตตาม การท่องเที่ยวในยุค 4.0 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบที่บุคคลต้องการเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

กระแสการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ธุรกิจภายในชุมชนมีโอกาสเติบโตขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในตัวอย่างชุมชนที่มีการเติบโตจากการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนผ่านตลาดวิถีชุมชน ได้แก่ “กาดวิถีชุมชนคูบัว” จังหวัดราชบุรี

“กาดวิถีชุมชนคูบัว” เป็นตลาดที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตำบลคูบัว  จุดเด่นของกาดวิถีชุมชนคูบัวนี้ ได้แก่ การเปิดพื้นที่ให้ชาวคูบัวนำสินค้าเกษตร อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเองในบ้านหรือในชุมชนมาขายในราคาย่อมเยา  สินค้าที่ได้รับความนิยมที่สุดและเป็นสินค้าประจำชุมชน ได้แก่ ผ้าซิ่นตีนจกคูบัว  นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นให้เลือกซื้อ เช่น ผักไร้สาร กล้วยปิ้ง พืชผักผลไม้ท้องถิ่น เป็นต้น

พระครูใบฎีกา สุพจน์ เจ้าอาวาสวัดโขลงสุวรรณคูบัว ได้เล่าถึงความเป็นมาของ “กาดวิถีชุมชนคูบัว” ว่า ตัวท่านเห็นถึงความสำคัญของชุมชนคูบัวและของกินของใช้ที่มีชื่อเสียงในชุมชน จึงเกิดแนวคิดที่ให้ชาวบ้านในชุมชนนำผลิตภัณฑ์ที่มีในครัวเรือนมาวางจำหน่ายในวัด  ในช่วงแรกนั้น มีร้ายค้าประมาณ 20 ร้าน หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว  นอกจากจะมีพื้นที่ที่ชุมชนสามารถนำผลิตภัณฑ์มาขายสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยทำให้คนในชุมชนมีอาชีพส่งผลให้ลดอัตราการว่างงานของคนในชุมชนด้วย

         ด้านนางองุ่น สุขสันต์ ตัวแทนชุมชนตำบลคูบัวหมู่ที่ 3 ที่ได้รับคัดเลือกให้มาจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ในกาดวิถีชุมชนคูบัว เล่าว่า เดิมตนมีอาชีพทอผ้าอยู่ที่บ้าน โดยมีลูกสาวทำขนมไทยขายตามตลาด  เมื่อเห็นว่ามีการเปิดรับสมัครหาตัวแทนมาจำหน่ายสินค้า จึงสนใจที่จะสมัครและได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน  หลังจากจำหน่ายได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น  จึงเริ่มแบ่งเวลาทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี ในการทอผ้าอยู่ที่บ้าน  ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ ก็จะนำผ้าที่ทอและขนมไทยที่ลูกสาวผลิตมาจำหน่ายด้วย เพื่อเป็นการหารายได้เสริมและแบ่งเบาภาระจากทางบ้าน

ด้านนางสุพรรณี ศรีสุข ตัวแทนชุมชนตำบลคูบัวหมู่ที่ 12 ที่ได้รับการคัดเลือกจากชุมชน เล่าว่า เดิมตนเองประกอบอาชีพเกษตรกรและแม่ค้าขายส่งผลไม้ท้องถิ่นที่ตลาดสดในตำบลคูบัว  เมื่อได้มาจำหน่ายผลไม้ที่นี่โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้มีผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย  คิดว่า “กาดวิถีชุมชนคูบัว” ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้โดยตรง  เปลี่ยนจากการขายส่งมาเป็นการขายปลีก จากการตั้งร้านขายกันเองในวัดโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง  ที่สำคัญคือการไม่ต้องตัดราคากันเองเพื่อขายให้พ่อค้าคนกลางด้วย

จากตัวอย่างของ “กาดวิถีชุมชนคูบัว” ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน  รัฐควรมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  โดยอาจใช้แนวทางของชุมชนคูบัวที่สนับสนุนให้เกิดตลาดชุมชน เพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

กาดวิถีชุมชนคูบัว ตั้งอยู่ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  เปิดทุกวันศุกร์ เวลา 15.00 – 20.00 น. และทุกวันเสาร์/อาทิตย์ เปิดเวลา 9.00 – 20.00 น.  

Comments are closed.