breaking news

การนำเสนอความรุนแรงที่ไม่เพิ่มความรุนแรง

เมษายน 29th, 2020 | by administrator
การนำเสนอความรุนแรงที่ไม่เพิ่มความรุนแรง
CB59318
0

หากเราต้องการนำเสนอความรุนแรง ในรูปแบบที่ไม่เพิ่มความรุนแรงเพื่อให้เด็ก และเยาวชนไม่เสพติดความรุนแรงจากสื่อ พลาดไม่ได้กับบทสัมภาษณ์จาก คุณหนึ่ง สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา อดีตผู้จัดการโครงการการรายงานในสถานการณ์ความขัดแย้ง และภัยพิบัติ สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ได้พูดถึงการรายงานข่าวช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ที่รายงานไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องรายงานไม่เพิ่มความรุนแรงให้กับสถานกาณ์อีกด้วย

หากพูดถึงการรายงานข่าว ทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น

“เคยได้ยินคำว่า Stop hate speech หยุดภาษาที่สร้างความเกลียดชัง อะไรแบบนี้ใช่มั้ยครับ คำว่าความรุนแรงมีหลายระดับ และในปัจจุบันต้องใช้คำรุนแรงแต่ต้องให้ความหมาย ให้ความรู้สึกที่รุนแรงก็ได้ คือการบุลลี่ หรือการเหยียด อาจไม่ต้องใช้คำที่เป็นการด่า แต่เป็นคำที่ใช้แล้วรู้สึก เพราะฉะนั้นการใช้คำพวกนี้จะเน้นไปตรงความหมายที่ถูกส่งออกไป

แต่ถ้ายกตัวอย่างให้ง่าย อย่างในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองมาตลอด ตั้งแต่สมัยยุครัฐบาลคุณทักษิณ จนถึงยุคก่อนจะมีพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล จะมีการชุมนุมของประชาชน ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กกปส. มาตลอด ทั้งนี้ในการชุมนุมเขาทำงานเพื่อปลุกเร้ามวลชน เพราะฉะนั้นการปราศรัย อภิปรายบนเวที แถลงข่าว ที่อยู่ในสถานที่ชุมนุม หัวหน้าแกนนำก็ทำเพื่อให้มวลชนที่ร่วมชุมนุมได้ฟัง ฝั่งผู้ชุมนุมจะมีภาษาที่โจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง หรืออาจจะมีคำหยาบด้วยก็ได้

สื่อเองก็มีหน้าที่นำเสนอ จะไม่นำเสนอก็ไม่ได้ เพราะนี้คือเหตุการณ์สำคัญ แต่เราจะนำเสนอยังไงให้เนื้อหาไม่ตกหล่น ครบถ้วน แต่ไม่ขยายผลทำให้สถานการณ์มันรุนแรงขึ้น ไม่ช่วยปลุกระดมฝ่ายใดก็ตาม เช่นฝ่ายผู้ชุมนุมปลุกระดมต่อว่า “เป็นรัฐบาลทรราช” สื่อก็ไม่ควรนำเสนอเช่นนั้น “สื่อก็จะใช้เป็นฝ่ายผู้ชุมนุมกล่าวโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง” ไม่จำเป็นว่าต้องใช้คำว่าทรราช แต่เราก็ได้นำเสนอว่ามีการต่อว่าฝ่ายรัฐบาล อย่างเช่นรัฐบาลใช้อำนาจในการควบคุมการชุมนุม และทำให้เกิดผู้บาดเจ็บ ไม่มีคำไหนที่รุนแรง แบบนี้สื่อสามารถนำเสนอแทนได้

ซึ่งบริบทของเหตุการณ์นั้นสำคัญ ไม่จำต้องใช้คำที่รุนแรงสื่อสามารถใช้คำที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน เพียงแต่ว่าสื่อต้องไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแม้แต่ชื่อของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หมายความว่ากลุ่มที่ชุมนุมจะชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย อีกนัยยะหนึ่งคือรัฐบาลไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะเขาชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เขาต่อต้านใครถ้าไม่ใช้รัฐบาล เพราะฉะนั้นจะหมายถึงว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการ อย่างของพี่หนึ่งเองจะใช้คำว่า กลุ่มที่เขาเรียกตัวเองว่าอะไร จะถือว่าเราไม่ใช่คนยืนยันให้กลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นผู้ชุมนุมเองที่ใช้ชื่อต่าง ๆ อันนี้เป็นการช่วยในระดับหนึ่ง

อย่างในปัจจุบันพรรคการเมืองที่ใช้ชื่อที่มีคำว่าฝ่ายประชาธิปไตย แล้วทุกพรรคที่เลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างไร ตอนที่พี่รายงานพี่ใช้คำว่า พรรคการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นนายกฯ กับพรรคที่ไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ เราจะไม่พูดถึงว่าอะไรที่เป็นประชาธิปไตย”

การใช้คำรุนแรงของสื่อในปัจจุบันมีไม่น้อยเลยที่นำมาเสนอให้เห็นบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่หากเราที่มีอาชีพสื่อนั้นช่วยลดความรุนแรงจากการใช้คำในสังคมได้ จะช่วยให้ผู้รับข่าวสารนั้นได้รับแต่ข่าวที่มีคุณภาพ และยังช่วยให้ผู้รับสารได้อ่านข่าวที่มีความรุนแรงลดลง

#คิดก่อนแชร์แคร์ก่อนโพสต์

#ปฏิบัติการสะท้านBully

#ลดการเกลียดชังเริ่มที่ตัวคุณ

Share This:

Comments are closed.