breaking news

“สปช. ลั่น!! คืนความเป็นธรรมสู่ ปชช.คุมค่ามือถือเป็นวินาที”

มกราคม 12th, 2015 | by administrator
“สปช. ลั่น!! คืนความเป็นธรรมสู่  ปชช.คุมค่ามือถือเป็นวินาที”
Special Report
0

       ผู้ใช้มือถือ 94 ล้านคนทั่วประเทศไทยดีใจกันถ้วนหน้า…หลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติว่า จากนี้…การให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย จะคิดราคาค่าโทรศัพท์ตามจริง แบบปัดเศษวินาที มตินี้จะต้องทำอย่างถาวร ไม่ใช่แค่โปรโมชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างเป็นธรรมให้กับประชาชน เพราะที่ผ่านมาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมากถึงปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท  ด้าน สปช. เตรียมเรียกตัวแทน 3 ฝ่ายทั้ง กสทช. บริษัทผู้ให้บริการ และผู้บริโภค หารือปรับโครงสร้างทั้งระบบ 13 ม.ค.นี้!!

“สปช. ลงมติคุมค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นวินาที”

คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  ได้มีมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช. ) ออกกฎคุมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ คิดค่าโทรเป็นวินาที โดยจะต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง

       จากนั้นสมาชิกสปช.ได้อภิปรายสนับสนุนข้อเสนอของกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยให้คิดค่าบริการโทรศัพท์ตามระยะเวลาการโทรจริงเป็นวินาที เพื่อลดการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อภิปรายว่า การปรับค่าโทรตามมติดังกล่าวเพื่อดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคในเรื่องของค่าโทรดังกล่าวด้วย

       ทั้งนี้ หลังจากสมาชิกสปช.อภิปรายครบทุกคนแล้ว ที่ประชุมสปช.จึงให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยคะแนน 211 ต่อ 3 เสียง งดออกเสียง 7 เพื่อส่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

       “ผู้บริโภคเสียเปรียบจากการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีมากน้อยแค่ไหน ?”

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบายให้ฟังว่า เฉพาะปี 2556 “บริษัท ดีแทค” มีรายได้ 9.4 หมื่นล้านบาท ส่วน “บริษัททรู” มีรายได้ประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท และมากที่สุดคือ “เครือข่ายเอไอเอส” มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนั้น มีบางส่วนได้มาจากการคิดปัดเศษวินาทีนั่นเอง
       ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น  คนไทยใช้ระบบเติมเงินเฉลี่ย 341 บาทต่อเดือน ส่วนแบบรายเดือนตกอยู่คนละ 716 บาท เอา 2 ระบบมาถัวเฉลี่ยกันจะได้ประมาณเดือนละ 415 บาทต่อเดือน จะเห็นว่าหากคิดเงินแบบปัดเศษการโทรวินาทีเป็นนาที คิดแบบต่ำสุด ถ้าวันละ 1 นาที ตกนาทีละ 1.33 บาท เดือนหนึ่งต้องจ่ายส่วนเกินนี้อย่างต่ำสุด 40 บาทต่อคน ทั้งหมด 94 ล้านเลขหมาย หมายถึงต้องเสียเงินไปแบบไม่ยุติธรรมมากถึงเดือนละ 3,591 ล้านบาท หรือปีละ 43,092 ล้านบาท ถ้าต่อไปนี้คิดเป็นวินาที ประชาชนผู้ใช้บริการจะไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้อีกต่อไป

1

       นพ.ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เผยเบื้องลึกให้ฟังว่า แม้ว่า 5 เครือข่ายมือถือจะยอมให้มีโปรโมชั่นใหม่คิดเงินเป็นวินาทีเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะนิยมใช้โปรโมชั่นแบบเหมาจ่ายรายเดือน เช่น  500 นาที 700 บาทมากกว่า ดังนั้น ต้องมีการบังคับให้ครอบคลุมถึงโปรโมชั่นเหล่านี้ด้วย
                “อย่าลืมว่ามติของ สปช. ไม่ได้มีผลผูกมัดให้บริษัทมือถือเหล่านี้ต้องทำตาม เพราะฉะนั้นผู้จะช่วยกดดันก็คือ กสทช.ต้องรีบออกเป็นประกาศมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา กสทช.มักจะอ้างเรื่องยังคำนวณราคาไม่เสร็จว่าต้องเป็นวินาทีละกี่บาท ยิ่งช้าเท่าไร ผู้บริโภคก็เสียเปรียบเท่านั้น หรือไม่ก็เป็นรัฐบาลที่ต้องมาช่วยกดดันหรือจัดการให้เร็วที่สุด

“กสทช. สั่ง!!ปรับค่าโทร ไม่ใช่แค่…โปรโมชั่น”

จากมติที่ประชุมของสปช.  ทำให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ต้องเรียกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 ราย เข้าหารือเพื่อเจรจาถึงแนวทางการปรับโครงสร้างค่าโทร โดยให้มีการคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที  ได้ข้อสรุปว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย จะต้องมี โปรโมชั่น 1 ตัวที่ต้อง คิดเป็นวินาทีตามจริง แทนการปัดเศษขึ้นเต็มนาที เพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชน

       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวหลังประชุมร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครือข่าย ว่า

       “สืบเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นชอบให้มีการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามการใช้งานจริงเป็นวินาที และมีมติส่งให้ กสทช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปนั้น สำนักงาน กสทช. ได้ประชุมหารือถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามการใช้งานจริงเป็นวินาที ได้ข้อสรุปร่วมกันดังนี้
1.ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีโปรโมชั่นใหม่ใหม่ คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที โดยจะออกโปรโมชั่นใหม่ไม่เกิน 1 มีนาคม 2558
2.สำหรับโปรโมชั่นเดิมที่ประชาชนใช้งานอยู่ ยังคงใช้งานต่อไปได้ แต่หากประชาชนเปลี่ยนใจไปใช้โปรโมชั่นใหม่ สามารถยกเลิกโปรโมชั่นเดิมได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3.หลังจากที่ประชาชนเลือกใช้โปรโมชั่นใหม่ จะสามารถตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามการใช้งานจริงได้ทางเว็บไซต์ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตนเองใช้งานอยู่
นายฐากร ยังกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า สำนักงาน กสทช.ขอยืนยันว่า เราจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ประชาชนได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นเพียงข้อเสนอปลอบใจเท่านั้น เบื้องลึกแล้วต้องต่อสู้อีกยาวนาน เพราะเม็ดเงินมหาศาลคงไม่มีใครยอมปล่อยไปง่ายๆ

       ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างเป็นธรรมให้กับประชาชน.จึงได้มีการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 13 ม.ค. เวลา 13.30น. เพื่อเข้าหารือถึงแนวทางการปรับโครงสร้างการคิดค่าโทร.เป็นวินาทีให้ครอบคลุมทั้งระบบต่อไป

“กระทบ!!ราคาหุ้น หลัง สปช. ออกมติ”

หลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีมติในที่ประชุมให้มีการคิดค่าโทรตามจริง เป็นวินาที ซึ่งมติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อฐานกำไรของ ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

       บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์รอบด้านตลาดหุ้นว่า การปรับค่าโทรตามจริงเป็นวินาทีจะกระทบกำไรของ ADVANC และ DTAC ไม่เกิน 10% ส่วนค่าเฉลี่ยการโทรของผู้ใช้บริการมากเกิน 3 นาทีขึ้นไปจะกระทบเพียง 4-6% เท่านั้น และคาดว่า AIS และ DTAC จะสามารถขึ้นรายได้การให้บริการด้านอื่น เช่น  Data service เพียงเล็กน้อย เพื่อชดเชยรายได้ทั้งหมดที่หายไปจากการจ่ายค่าโทรตามวินาทีได้

       บล.เอเซีย พลัส  บริษัทหลักทรัพย์ระบบหุ้นในไทย วิเคราะห์ประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติเห็นชอบเรื่อง การกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามระยะเวลาการใช้งานที่เป็นจริง ซึ่งการเปลี่ยนระบบคิดค่าโทรฯ หากปรับใช้จริง จะส่งผลกระทบต่อฐานกำไรของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกราย  ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ฝ่ายวิจัยยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเพื่อที่จะประเมินผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว จึงขอต้องติดตามข้อมูลความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการติดตามสอบถามผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละรายถึงแนวทางการปรับตัว รวมถึงอุปสรรคต่างๆ หากต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดค่าโทรฯ ก่อนจะนำเสนออีกครั้ง

       สุดท้ายแล้ว การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อไม่ให้ตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ  ส่วนทางด้านผู้ประกอบการเองนั้น  เมื่อมีมติออกมา จึงควรที่จะให้ความร่วมมือกับสปช.ด้วย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น

2 4 3

 

 

ชนัญญา ดอกรัก, ทนงศักดิ์ บุญประคม, ศิริญาดา สุทธิโพธิ์

Share This:

Comments are closed.