“เก็บวันนี้พรุ่งนี้ก็เก่า” ไม่ต้องรอให้เก่าแล้วค่อยเก็บ ถ้าเห็นว่ามีความหมาย มีความสัมพันธ์ก็เก็บไว้ได้ เพราะถ้ารอมันเก่า ของสิ่งนั้นก็อาจจะหายไปแล้ว หากคนกรุงเทพฯสนใจอยากเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อย้อนวันวานเก่าๆสามารถมาเที่ยวที่บ้านพิพิธภัณฑ์ ได้เลยค่ะ
นาง วรรณา นาวิกมูล ผู้ดูแลบ้านพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า ที่นี่เปิดมาเป็นเวลามากกว่า14ปี มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมประมาณ50คนต่อวัน โดยเริ่มแรกทำด้วยจิตอาสา แต่ในระยะหลังเริ่มมีผู้สนใจร่วมบริจาคทรัพย์สินและข้าวของให้กับบ้านพิพิธภัณฑ์มากขึ้น บรรยากาศในบ้านพิพิธภัณฑ์นั้นถูกจัดให้เป็นการจำลองตลาดในยุคเก่าประมาณ50-60ปีที่แล้ว เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปที่ไหนก่อนหรือให้ความสำคัญกับที่ไหนมากกว่า สามารถหยุดดูอยู่ที่จุดไหนตามความต้องการ และไม่มีวิทยากรคอยพาเดินชม เพราะต้องการให้ผู้เข้าชมได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงกับลูกหลานด้วยตัวเอง
ของเล่นเก่าๆส่วนหนึ่ง มีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีในชีวิตของเรา เช่น การไขลาน คือ กลไกทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ได้ ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องจักรเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของคนในสังคม ทำให้ของเล่นเหล่านี้ได้รับความนิยมจากเด็กในยุคนั้น แต่พอไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน คนในสังคมหันมาใช้แบตเตอรี่มากขึ้นสามารถทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ตามความต้องการและสะดวกสบาย การไขลานก็หมดหน้าที่ไป จะไขลานไปทำไมในเมื่อมีแบตเตอรี่ ทั้งดีกว่า เร็วกว่า สะดวกกว่า ตอบโจทย์ของคนในยุคนั้นได้ดีกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องไขลานอีก ปัจจุบันใส่แค่แบตเตอรี่ก้อน ก็สามารถเล่นได้แล้ว ของเล่นมีความสัมพันธนาการทางเทคโนโลยีในชีวิตทั่วๆไป ของเล่นหลายๆอย่างจำลองมาจากสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตจริง ให้มีขนาดเล็กลงจับต้องได้ สิ่งของในยุคนั้นเป็นยังไง ของเล่นก็จะออกมาเป็นแบบนั้น ของเล่นจึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคสมัย
บ้านพิพิธภัณฑ์จึงมีกลิ่นอายของวันเก่าๆที่ใครๆต่างคิดถึงและเหมาะสำหรับคนที่อยากจะกลับมาย้อนวันวานที่ไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้อีกแล้ว แต่ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ยังคงมีให้พบเจออยู่ เป็นที่ที่เหมือนได้ย้อนกลับไปวัยเด็กอีกครั้งที่เคยได้เล่น ได้สัมผัส จนอดคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้นไม่ได้ บ้านพิพิธภัณฑ์จึงเป็นเหมือนกล่องใส่ความทรงจำ รอให้เจ้าของกลับมาเปิดมันอีกครั้ง
อรอนงค์ วงศ์สิงหะกุล , กรองกมล ปิติภพ