คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. (กสทช.) จัดพิธีปิดโครงการนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ใส่ใจจริยธรรม ในโครงการส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ สื่อมวลชนรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2558 ซึ่งกิจกรรมดำเนินมาตั้งแต่ 9-10 สิงหาคมและ 13-14 กันยายน พ.ศ. 2557 โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เพื่อให้นักศึกษาและผู้ร่วมงานตระหนักถึงปัญหาและจริยธรรมสื่อในปัจจุบัน ซึ่งในงานมีการเปิดผลวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเห็นของนิเทศศาสตร์รุ่นใหมาที่มีต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” โดย ผศ. ดร. จินตวีร์ เกษมศุข ผู้ช่วยคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และอาจารย์กานต์ เชาวน์นิรัติศัย อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ผลวิจัยชี้ว่า สื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภคเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ทำให้สื่อมวลชนมีจริยธรรมและจรรยาบรรณในการผลิตสื่อที่ลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลาง ละครที่มีเนื้อหาค่อนข้างที่จะรุนแรงอีกทั้งยังมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือว่าโฆษณาที่นำเสนอเกินความจริง ขณะที่นักศึกษารุ่นใหม่ที่ต้องเข้ามาทำงานสื่อในอนาคตถูกกระตุ้นและปลุกฝังจริยธรรมและจรรยาบรรณมากขึ้น
นักศึกษานิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่ มองจริยธรรมในการนำเสนอข่าวในฐานะสื่อมวลชนรุ่นใหม่ว่า สื่อมวลชนในปัจจุบันมีการนำเสนอที่ไม่เป็นกลาง สอดแทรกความรุนแรงลงไปในเนื้อหา อีกทั้งยังมีการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของแหล่งข่าว นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเนื้อหาที่มีความเป็นจริงน้อย มีการนำเสนอแต่ด้านดีของตนเอง โดยที่นึกถึงแต่ผลประโยชน์ขององค์กร ไม่นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคม
โดยผลจากการวิจัยสรุปว่า หลังจากที่ได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการแล้วกลุ่มนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยในภาพรวมทั้ง 30 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.09 อีกทั้งยังมองว่า สื่อทุกสื่อทั้งข่าว ในทุกช่องทาง หรือกระทั่งสื่อละคร ต้องมีความเป็นกลางและ อยู่ภายใต้กฎหมายและมีองค์ควบคุมอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ทีวีดิจิทัลก้าวไกล ต้องใส่ใจจริยธรรม ในมุมมองของนักศึกษา” จากผู้นำนักศึกษา 5 สถาบัน ได้แก่ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และและการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มุมมองของผู้นำนักศึกษาจาก 5 สถาบันการศึกษา มองว่า สื่อมวลชนในทุกวันนี้ มีการนำเสนอที่น่าสนใจมากขึ้น ในขณะที่มีจริยธรรมในการนำเสนอที่ลดน้อยลง ซึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว ตัวแทนนักศึกษา ได้กล่าวว่า ต้องเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัว โดยที่ครอบครัวต้องคอยสั่งสอนและปลูกฝังให้เด็กมีจริยธรรมที่ดีในตนเอง ควรจะเริ่มจากหลักสูตรการเรียนการสอนโดยมีการสอดแทรกเนื้อหาของจริยธรรมให้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้เด็กที่กำลังจะก้าวมาเป็นสื่อมวลชนรุ่นใหม่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งไหน ควรนำเสนอ และสิ่งไหนที่ไม่ควรนำเสนอ จะเห็นได้ว่า สื่อมวลชน คือ ตัวขับเคลื่อนหนึ่งขององค์กร ดังนั้น สื่อมวลชนที่ดี ควรจะต้องมีความเป็นกลางในการนำเสนอ ต้องยึดมั่นและยืนหยัดบนหลักจริยธรรมของสื่อมวลชน
“นำเสนอสิ่งที่น่าสนใจ ดีกว่านำเสนอในสิ่งที่คนจะสนใจ” นายรัชตะ ไทยตระกูลพานิช ตัวแทนนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพกล่าว
จากการเสวนาในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่า ข่าว ควรมีความเป็นกลาง ไม่ใส่ความคิดเห็น ลดการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง ให้เกียรติผู้ได้รับผลกระทบในข่าวมากขึ้น สำหรับการควบคุมนั้น องค์กรต้นสังกัดต้องช่วยดูแลและครอบคลุมเรื่องจริยธรรม ละคร ต้องการให้ผู้ผลิตนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ จรรโลงสังคม และมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลและมีอำนาจในการจัดการเรื่องการจัดเรตติ้ง โฆษณา ต้องมีข้อกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน ต้องยึดหลักจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ เพื่อนำเสนอข่าวสารที่ดีและเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้รับสาร ในการปลูกฝังจริยธรรมให้กับนักนิเทศศาสตร์รุ่มใหม่ ก็ควรที่จะมีการส่งเสริมประเด็นจริยธรรมตั้งแต่ต้นทาง จะต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มองข่าวสารให้หลากหลายมุม เพราะขนาดเหรียญยังมี 2 ด้าน เพราะฉะนั้นแล้วสื่อทุกสื่อมีอะไรให้คิดเสมอ ทุกอย่างย่อยอยู่บนความพอดี จง ใช้โอกาสในการเรียนรู้พัฒนาและสร้างจิตสำนึกที่ดีในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนพัฒนาตนเองต่อไป