breaking news

“เมื่อฉันเป็นชาวสวน” คุณภาพชีวิต ออกแบบเอง

มกราคม 31st, 2021 | by administrator
“เมื่อฉันเป็นชาวสวน” คุณภาพชีวิต ออกแบบเอง
Money Wise
0

ผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้หลายอาชีพต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่ กานต์ ปัทมา อดีตสจ๊วตการบินไทย กลับบ้านเกิดและผันตัวเองเป็นชาวสวน บนพื้นที่ทำกินตัวเอง ออกแบบชีวิตคุณภาพให้ตัวเอง

กานต์เล่าว่า ชีวิตประจำวันในเมืองกรุงนั้นก็ไม่ต่างกับคนทั่วไป ทำงาน กินและนอน ชีวิตวนลูปแบบนี้ทุกวัน บ้างก็ออกไปเดินเล่นข้างนอก หรือนอนดูหนังสบายๆ ที่บ้าน เป็นเหมือนการให้รางวัลกับตนเองหลังจากที่ทำงานมาอย่างหนัก มีบ้างที่รู้สึกว่าชีวิตกำลังอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย ลึกๆ แล้วยังแอบคิดถึงความสงบ เรียบง่าย ที่หาได้ยากในเมืองกรุง จึงมีการวางแผนว่าจะกลับไปทำสวนเล็กๆ ที่ตนอยากทำมานานแต่ไม่มีโอกาสได้ลงมือทำสักที ประจวบกับสถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้น ทำให้ต้องหยุดงาน จึงมีโอกาสได้กลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ สานต่อเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้

“พอเราได้กลับมาทำงานสวนที่เราได้วางแผนไว้ ก็ทำให้มุมมองที่มองคุณภาพชีวิตของเราได้เปลี่ยนไป จากที่อยู่เมืองกรุงเรามีความคิดอีกแบบหนึ่ง พอได้กลับมาใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในบ้านสวนก็ทำให้เราได้ความคิดและมุมมองคุณภาพชีวิตที่แท้จริงอีกมุมหนึ่ง”


เมื่อถามถึงคำว่า “คุณภาพชีวิตที่ดี” เมื่อมาเป็นชาวสาวในพื้นที่ทำกินของตัวเอง กานต์มีมุมมองที่แตกต่างไป โดยความหมายที่สำคัญคือ ชีวิตที่ดี ก็คือมีความสุขกับสิ่งที่ทำ พอใจในความต้องการของตนเอง พอใจในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ พอใจในสิ่งที่มี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ ต้องเพิ่มจากการวางแผนชีวิต เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้เดินไปในทิศทางที่กำหนดไว้ นำมาซึ่งความพอใจในคุณภาพชีวิตของตนเอง


“ในด้านสวัสดิการรัฐที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตเรานั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น อำนวยความสะดวกให้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม บัตรทอง บัตรสวัสดิการรัฐ หรือแม้แต่โครงการคนละครึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้น ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าอะไรให้ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเพื่อให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดีแบบคนอื่น เพราะจริงๆ แล้วเกณฑ์ที่จะวัดว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีหรือไม่นั้นคือ ตัวเราเอง ที่มีความพึงพอใจในเป้าหมายของตนเอง”


คำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ผู้คนส่วนใหญ่อาจเลือกมองคุณภาพชีวิตเพียงด้านของความมั่นคงทางการเงินเป็นตัวตั้ง แต่แท้จริงแล้วคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น มีองค์ประกอบมากถึง 4 ด้าน ซึ่งได้แก่ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน เมื่อนั้น อาจตอบได้ว่า คุณภาพชีวิตที่ดำเนินอยู่คือคุณภาพชีวิตที่ดี


ดร.ธนวรรธณ์ นิธิปภานันท์ อาจารย์ประจำวิชานวัตกรรมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ กล่าวกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีนั้นมีหลากหลายมุม ทั้งมุมของนักเศรษฐศาสตร์ที่มองในด้านของตัวเลข การเงิน หากใช้เงินเป็นตัวตั้ง ก็มองว่าการมีเงินก็จะมีความสุข หมายความว่า มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในเศรษฐกิจอย่างไร ก็ต้องอาศัยเงินเป็นประการสำคัญ เพราะเงินอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์เราเป็นอย่างมากในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงมีในการดำรงชีวิต


“คุณภาพชีวิตไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวคิดตามหลักของนักสังคมวิทยา ระบุไว้ว่า ผู้ที่มีเงินไม่ได้หมายความว่าจะมีความสุขเสมอไป ผู้ที่ไม่มีเงินอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้ แนวคิดนี้จะมองในเรื่องของสังคมเป็นหลัก รวมทั้งเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย การศึกษา และสวัสดิการต่างๆ หากรัฐบาลมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุมและตรงตามนโยบาย คนในสังคมก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตไปได้อีกขั้น”

ซึ่งความต้องการของมนุษย์นั้นจะเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสิ่งที่ตนเองมี เมื่อมีหนึ่งก็จะมีสองตามลำดับ เมื่อได้ปัจจัยขั้นพื้นฐานครบแล้วก็จะอยากได้เพิ่มขึ้นอีก จนครบความสมบูรณ์ตามความต้องการของตนเอง แต่จะต่างจากด้านของสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เป็นส่วนตัวบุคลที่มองข้ามตัวชี้วัด แต่กลับมองทางด้านวิธีคิดเป็นอันดับแรก ถ้ามีการจัดการวิธีคิดให้เป็นระเบียบและมีความพอใจในตนเอง ก็จะนำไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขได้ ดังที่ ดร.ธนวรรธณ์ ได้กล่าวว่า

“คุณภาพชีวิตที่ดีของบางคน อาจจะเป็นการอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับอากาศบริสุทธิ์หรือสิ่งแวดล้อมที่งดงาม ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เขามองว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเขา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคล

ท้ายที่สุดแล้ว คุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนขึ้นอยู่กับความต้องการ ความพอใจในสิ่งที่มี ส่วนทางด้านสังคมและจิตใจนั้น คือการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ความเคารพนับถือและเป็นที่รัก แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะพอใจเพียงเท่านี้ เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่สามารถวัดได้จากคนใดคนหนึ่ง บางคนต้องการความหรูหรา ความทันสมัย โดยที่บุคคลเหล่านั้นก็สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ไม่เดือดร้อนผู้อื่น ในขณะที่บางคนไม่ได้ต้องการความหรูหราในชีวิต เพียงแค่อยากอยู่กับความเรียบง่าย มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี ซึ่งเป็นปัจเจกส่วนบุคคล แต่สิ่งที่ทุกคนพึงมีนั่นคือปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่นห่ม ที่พักอาศัย ยารักษาโรค อีกทั้งยังต้องรู้จักดูแลตนเอง มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมายในชีวิต โดยจะต้องพัฒนาความมั่นคงทางการเงินไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้ง 4 ด้าน เพื่อนำไปสู่ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างมีความมั่นคงและมีความสุข

Share This:

Comments are closed.