breaking news

LGBTQ+ กับสังคมที่ (ไม่) เปิดกว้าง

มกราคม 31st, 2021 | by administrator
LGBTQ+ กับสังคมที่ (ไม่) เปิดกว้าง
LGBTQ+
0

ข้อเรียกร้องสำคัญ

ชาว LGBTQ+ อยากให้มีการเปลี่ยนคำนำหน้ามากที่สุด เพราะนอกจากจะสามารถใช้ได้ตรงตามเพศสภาพแล้ว ยังทำให้ชาว LGBTQ+ มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการสมัครงานเนื่องจากบางหน่วยงานยังคงมีการพิจารณาการเข้าทำงานด้วยเพศสภาพอยู่ นอกจากนี้กฎหมายอื่นๆ ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับเพศนั้น ชาว LGBTQ+ ก็ยังอยากให้มีไปพร้อมๆ กัน

.

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณต้นสกุล ไชยโย หรือคุณต้นตาล สำเร็จการศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Influencer Talent Scouter ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง

.

หากพูดถึงข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของชาว LGBTQ+ นั้น คุณต้นตาลเล่าว่าบางองค์กรโดยเฉพาะหน่วยงานราชการก็ยังคงมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งกายตามคำนำหน้านาม คุณต้นตาลมีเพื่อนที่เป็น Transgender เป็นผู้หญิงผมยาว มีภาพลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิงหมดทุกอย่าง แต่ในการเข้าไปติดต่องานในหน่วยงานราชการ ปรากฏว่าทางหน่วยงานยังคงบังคับให้แต่งกายเป็นผู้ชาย ซึ่งก็ยังคงเป็นคำถามว่า ยุคสมัยนี้แล้วยังมี Mindset เกี่ยวกับเพศสภาพของ LGBTQ+ อยู่อีกหรือ?

.

คุณต้นตาลเสริมอีกว่าสังคมไทยยอมรับ LGBTQ+ แต่เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข เพราะการยอมรับจริง ๆ ไม่ควรบอกแค่ว่าเรายอมรับแล้ว เราให้โอกาสคุณในสังคมแล้ว แต่การยอมรับที่แท้จริงต้องนำไปสู่กฎหมายที่เป็นรูปธรรม กฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การทำงานจะต้องไม่ตัดสินกันด้วยเพศ เพราะถ้าหากกฎหมายเหล่านี้ทุกหน่วยงาน ทุกองค์รนำไปใช้ แน่นอนว่าจะไม่มีใครมาเลือกปฏิบัติกับชาว LGBTQ+ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม

.

“คำนำหน้านาม” ข้อจำกัดสำคัญ ที่ปิดกั้นชาว LGBTQ+

คุณต้นตาลมองว่าข้อจำกัดต่างๆ ที่มีผลต่อชาว LGBTQ+ นั้นเกิดขึ้นจากคำนำหน้านาม การที่ใช้คำนำหน้านามเป็นชายแต่ภาพลักษณ์ภาพนอกเป็นหญิง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นได้ ถ้าหากมีข้อที่บังคับชัดเจนแล้วนั้น ทุกคนจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมาย ซึ่งข้อนี้มันควรที่จะเกิดขึ้นได้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะให้ความสนใจ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายที่มีผลต่อชาว LGBTQ+ มากน้อยเพียงใด

.

ทางด้าน คุณกิตตินันท์ ธรมธัช หรือคุณแดนนี่ นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพตามหลักกฎหมายของชาว LGBTQ+ ว่าทุกวันนี้ยังมีกฎหมายที่ยังไม่รองรับชาว LGBTQ+ มากพอ เพียงเพราะคนในสังคมเข้าใจว่าการที่สังคมเปิดรับความหลากหลายทางเพศนั้นเพียงพอแล้ว แต่ที่แท้จริงชาว LGBTQ+ ต้องการสิทธิและเสรีภาพทางกฎหมายที่เหมือนๆ กับเพศอื่น เพราะพวกเขาเหล่านั้นต่างก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบของสังคม

.

คุณแดนนี่เสริมอีกว่าในการรับสมัครงานควรที่จะพิจารณาจากความรู้ความสามารถ ไม่ควรนำเรื่องเพศมาตัดสิน ยกตัวอย่างกรณีสาวประเภทสองไปสมัครงาน แต่คำนำหน้านามเป็น “นาย” แล้วถูกปฏิเสธ ปัญหานี้ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย สิทธิการก่อตั้งครอบครัว สิทธิการมีเจตจำนงในการเปลี่ยนเพศ สิ่งเหล่านี้ก็ควรมีให้กับชาว LGBTQ+ เช่นเดียวกัน

.

อย่างไรก็ตาม ในด้านกฎหมายเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ ก็ได้มี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือ สทพ. ต่อมาเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือ วรพ. และคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือ กทพ. ซึ่งการมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศนี้ขึ้นมา ก็อาจแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มที่จะเปิดกว้างในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับชาว LGBTQ+ เพิ่มขึ้นแล้ว

.

แต่การเปิดกว้างในเรื่องกฎหมายยังคงไม่มากพอเพราะยังคงขาดกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน รวมทั้งกฎหมายการเปลี่ยนเพศ เปลี่ยนคำนำหน้า เพราะกฎหมายที่กล่าวมานั้นเรียกได้ว่ามีความสำคัญในการใช้ชีวิตของชาว LGBTQ+ มาก เพราะนอกจากจะสมรสเพศเดียวกัน ได้รับการดูแลรวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่คู่สมรสควรได้รับตามกฎหมายแล้วนั้น ในเรื่องของการทำงาน คำนำหน้านามที่ใช้ตามเพศสภาพก็ช่วยให้ชาว LGBTQ+ สามารถเข้าไปทำงานตามความถนัดในวิชาชีพ สร้างความมั่นคงในการใช้ชีวิต สร้างความมั่นคงทางการเงินต่อไปได้

.

เปิดกว้าง และ เปิดรับ ปรับเพื่อเปลี่ยน

การเปลี่ยน “คำนำหน้านาม” ที่ชาว LGBTQ+ อยากให้มีกฎหมายเรื่องนี้มากที่สุด รองลงมาเป็นกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน และกฎหมายสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขามีความเท่าเทียมกับเพศอื่น ถ้าหากพูดถึงเรื่องของการทำงาน “คำนำหน้านาม” คงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยให้ชาว LGBTQ+ มีสิทธิในการทำงานเท่าเทียบกับเพศชายและหญิง

.

ทางด้านคุณแดนนี่เสริมว่าระบบการทำงาน ระบบของสังคมในเรื่องของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความสมดุล ดังนั้นเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศควรที่จะมีในทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร เพราะหากกีดกัน หรือเลือกปฏิบัติกับชาว LGBTQ+ ความเคลื่อนไหวของระบบเศรษฐกิจก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจของประเทศชาติมันขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ไม่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การไม่เลือกปฏิบัติกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพราะหากเราปฏิเสธเข้ารับการทำงาน ระบบเศรษฐกิจในชีวิตเขาก็จะไม่ได้รับการขับเคลื่อน หากเขาเป็นผู้ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางก็สามารถขับเคลื่อนองค์กรนั้นให้ดีขึ้นได้

.

ซึ่งสอดคล้องกับโปรดิวเซอร์ท่านหนึ่ง ในบริษัทเอกชน มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าในองค์กรที่ทำงานอยู่นั้น “เปิดกว้าง” ให้กับทุกคน และชื่นชมชาว LGBTQ+ เพราะทางองค์กรมองที่ความสามารถของตัวบุคคล และพวกเขาก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้เพศชายหรือเพศหญิงเลย

.

“สิ่งหนึ่งที่ชาว LGBTQ+ มีอย่างแรกเลย คือ ความคิดสร้างสรรค์ ในเรื่องของการทำงาน และอุปนิสัยเป็นคนอารมณ์ดี จึงช่วยสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้มีแต่รอยยิ้มและความสุขได้ง่ายๆ” โปรดิวเซอร์ท่านหนึ่ง กล่าว

.

ประสบการณ์ในการทำงานกว่า 10 ปี ของโปรดิวเซอร์ท่านนี้ ความสำเร็จแทบทุกงานล้วนมากจากความร่วมมือของเพื่อนร่วมงาน ซึ่งรวมถึงชาว LGBTQ+ ด้วย เสน่ห์อย่างหนึ่งที่เขาพบได้จากชาว LGBTQ+ คือความสนุกในการทำงานที่มาพร้อมกับความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของพนักงานภายในองค์กร

.

การที่ภายในองค์กรมีชาว LGBTQ+ ทำงานอยู่ด้วยนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นการสร้างความหลากหลายภายในองค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของชาว LGBTQ+ ที่พึงมี คือเรื่องของการกรอกใบสมัครงาน โปรดิวเซอร์ท่านนี้มองว่าสิ่งนี้ยังคงเป็นข้อจำกัดมากเกินไป ทั้งๆ ที่ตนยังมีสิทธิ์ใช้นางสาว แต่ชาว LGBTQ+ กลับไม่มีสิทธิ์เลือกให้ตรงกับเพศสภาพ สิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่ควรทำเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีตัวตนและมีที่ยืนในสังคม

.

สิทธิและเสรีภาพทางกฎหมายต่าง ๆ ที่ชาว LGBTQ+ ออกมาขับเคลื่อนนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขามองว่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิต การเปิดกว้างเพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิเสรีภาพได้เท่าเทียมกับเพศอื่นนั้น เป็นสิ่งควรที่จะเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ต่อชาว LGBTQ+ เอง รวมไปถึงทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การใช้ชีวิต และอีกหลายๆ อย่างในสังคม การเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศไม่ควรที่จะเปิดกว้างเพียงเพราะการยอมรับเท่านั้น แต่การมีกฎหมายที่เป็นรูปธรรม สร้างความเท่าเทียมให้กับทุกเพศ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเรียกว่าการเปิดกว้างอย่างแท้จริง

__________________________________________________

เรื่อง : อนาวิล นวลสุมา ,อภิสรา ปัญจขันธ์

Share This:

Comments are closed.