breaking news

ปัญหาเกณฑ์ทหารที่ถูกมองข้าม “เสียโอกาสการทำงาน” และ “สภาพคล่องการเงิน”

มกราคม 31st, 2021 | by administrator
ปัญหาเกณฑ์ทหารที่ถูกมองข้าม  “เสียโอกาสการทำงาน” และ “สภาพคล่องการเงิน”
โต๊ะกฎหมาย สิทธิ ความเท่าเทียม
0

ผู้ชายไทยมีสองทางเลือกคือ เลือกเรียนวิชาทหาร (รด.) เพื่อไม่ได้ต้องเกณฑ์ทหาร หรือ รอจับใบดำ-แดงเข้าสู่ระบบเกณฑ์ทหาร แต่ปัญหาที่ถูกมองข้ามคือ ประเด็นการ “จัดการการเงิน” ทั้งความพร้อมของเงินที่ต้องเตรียมเพื่อเรียน รด. และการวางแผนการเงินเพื่อลดความเสี่ยงการเสียโอกาสการทำงานและสภาพคล่องทางการเงินระหว่างเกณฑ์ทหารและหลังปลดประจำการ

สิ่งที่ชายไทยทุกคนต้องพบเจอนั้นคือการเกณฑ์ทหารในวัย 21 ขึ้นไป ที่จะต้องเข้ากระบวนการเกณฑ์ทหาร ซึ่งสามารถผ่อนผันได้ถึงอายุ 26 ปี โดยรับราชการเป็นเวลา 2 ปี อาจทำให้หลายคนที่กำลังทำงานหรือกำลังศึกษาระดับปริญญา ตรี จะต้องเข้าร่วมการเกณฑ์ทหาร ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนเสียโอกาสในชีวิตไปในส่วนหนึ่งร่วมถึงการงานที่มั่นคงของหลายคน แต่ในอีกมุมหนึ่งสำหรับคนที่ไม่มีงานก็ได้รับโอกาสเข้าเกณฑ์ทหาร นอกจากนั้นยังทำให้รู้ว่าควรที่จะต้องตระหนักการวางแผนการเงินก่อนเข้าเกณฑ์ทหารเพื่อที่ในอนาคตและระหว่างการเกณฑ์ทหารจะไม่มีภาระที่หนักเกินไป

            นายพัทธดนย์ ปรีชญารัตน์ ทหารกองประจำการ กรมทหารราบที่ 14 เผยว่า หลังจากที่ได้เรียนจบมาไม่ถึงเดือนก็มีงานทำในเวลาที่ไม่นาน และนอกจากนี้ยังรับงานฟรีแลนซ์เพื่อเป็นอาชีพเสริม รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 ถึง 40,000 บาท  ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่พอประทังชีพได้ในการใช้ชีวิต แต่หลังจากที่ได้รู้ว่าจะต้องเกณฑ์ทหารก็ต้องมีการปรับตัวในเรื่องของการเงินเป็นอย่างมาก เพราะมีภาระหลายอย่างที่จะต้องดูแลเช่นการผ่อนรถยนต์พร้อมกับการทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว ที่จะต้องดูแล แม่และป้า ในขณะที่จะต้องไปเกณฑ์ทหาร 

การเตรียมตัวก่อนเกณฑ์ทหารหลักสำคัญเลยคือการเตรียมตัวเรื่องเงิน มีภาระเรื่องของค่าใช้จ่าย จึงต้องมีการศึกษาเรื่องของเงินเดือนที่จะได้รับต่อเดือนระหว่างที่ประจำการ กรมทหาร จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนเกณฑ์ทหาร 3-4 เดือนเพื่อเตรียมเงินสำรองเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่จะต้องไปเกณฑ์ทหาร 6 เดือน ถ้าหากเทียบกันกับเงินที่ได้รับก่อนจะเกณฑ์ทหารถือว่าน้อยมาก ภาระที่จะต้องผ่อนชำระค่างวดรถยนต์ในทุกเดือน ซึ่งค่าผ่อนรถเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 พันบาท ถ้าเทียบกับเงินเดือนทหารแล้วมีไม่พอสำหรับการจ่ายค่ารถแน่นอนนอกจากนี้ ยังทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ถือว่าโชคดีที่ก่อนจะเกณฑ์ทหารมีเงินเดือนมากพอที่จะเก็บสำหรับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เพราะเงินเดือนทหารนั้นเฉลี่ยต่อเดือน 5,000-5,500 บาท 

“คำว่า ยังชีพ ก็ถือว่ายังคงพอสำหรับอาชีพทหารเพราะบ้านไม่ต้องเช่าข้าวไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าหากเทียบกับการใช้ชีวิตนอกรั้วกรมทหาร คิดว่าคงไม่พอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน”

นางสาว นวพร เรืองผลวิวัฒน์ ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า อธิบายว่า ก่อนเข้าเกณฑ์ทหารถ้ามีภาระ ต้องรีบชำระภาระตรงนี้ให้หมดไปก่อนเข้าเกณฑ์ทหาร ส่วนถ้าไม่มีภาระแล้วต้องเข้าไปเกณฑ์ทหาร ด้วยความที่อายุยังน้อยจึงสามารถลงทุนในเรื่องของความเสี่ยงค่อนข้างสูงได้ ต้องดูว่ามีจำนวนเงินออมก่อนเข้าเกณฑ์ทหาร ซึ่งถ้ามีเงินออมก็สามารถลงทุนกับหุ้น 70% หรือเป็นประกันชีวิตให้ตนเองประมาณ 10% หรือกองทุนต้องกระจายความเสี่ยงและสุดท้ายอีก 10% ก็เป็นเงินฉุกเฉิน ก็ต้องวางแผนให้มีความเหมาะสมต่อบุคคลนั้น

“การวางแผนทางการเงินในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะการเงินถือเป็นความมั่นคงด่านแรก ซึ่งการวางแผนทางการเงินในขณะเกณฑ์ทหารสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ 1.ในกรณีที่เขาไม่มีหนี้ คือมีเงิน 100% ลงในหุ้น 70% ประกันชีวิต 10% เงินฉุกเฉิน 10% และกองทุน 10% เพราะว่าให้ลงกองทุนหากตลาดหุ้นในไทยซบเซา ก็ยังมีตลาดหุ้นจากต่างประเทศ นี่คือในเคสของคนที่ไม่มีภาระ ซึ่งผลตอบแทนรายได้โตกว่าภายในสองปีที่ไม่ได้ทำงาน 2.ในกรณีที่มีภาระอาจจะต้องแบ่งเงินเพื่อชำระหนี้เพราะฉะนั้นสัดส่วนที่ได้เบี้ยเลี้ยงในค่ายทหารใน 100 % อาจจะแบ่งครึ่งๆ ไปเลยเพื่อที่จะได้ปิดหนี้ได้รวดเร็ว เพื่อที่จะมีเงินออมเพิ่มขึ้น ในสัดส่วน 50:50 ก็จะแบ่งเป็นหุ้น 70% กองทุน 10% ประกัน 10% แล้วก็เงินฉุกเฉิน 10 % ในการวางแผนการเงินในรูปแบบนี้ จะสามารถมีเงินออมในขณะที่เกณฑ์ทหารจนถึงปลดประจำการ”

พ.ต.สมนึก พลูโต ตำแหน่งประจำแผนก สังกัดกองทัพบกเผยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากเป็นทหาร เพราะเคยมีญาติ เป็นทหาร และความสนใจส่วนตัว ก็เลยมาสมัครเป็นทหาร ซึ่งตอนนี้เงินเดือนประมาณ 30,000 บาท ซึ่งก็ต้องประหยัด เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย เช่น ค่าน้ำ และหักเงินออมเข้ากองการออมทรัพย์ กรมสวัสดิการทหารบก (อบท.)

“อทบ.ฝากสมทบสะสม จะเป็นการฝากเงินออมเมื่อเกษียณอายุ จะสามารถถอนเงินที่ฝากตลอดอายุของการทำงานออกมาใช้ได้ สำหรับสวัสดิการของ สลก.ทบ. (สำนักเลขานุการกองทัพบก) จะมีให้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านได้ เช่นเดียวกับออมสิน ที่เข้ามารับราชการ เพราะหนึ่งได้รับสวัสดิการมากมายทั้ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน  และขณะที่ทำงานอยู่นั้น มีสวัสดิการเกี่ยวกับบ้านพักหลวง ให้อยู่ โดยที่ไม่ต้องเสียงค่าใช้จ่ายในการเช่าบ้าน หรือห้องพัก” พ.ต.สมนึก กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายพัทธดนย์ มองอีกว่าการเกณฑ์ทหารสามารถมองได้ 2 มุมมองทั้งได้รับโอกาสและเสียโอกาส ซึ่งสำหรับคนที่ชื่นชอบอาชีพทหารและอยากรับข้าราชการทหาร ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะ ทางกรมทหารจะมีโควตาสำหรับการสอบนักเรียนนายสิบและช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่กรมทหารให้โควตามากกว่า 80% ซึ่งมีโอกาสมากกว่าพลเรือนทั่วไป  แต่ถ้าหากมองในมุมของการเสียโอกาส อันดับแรกคือเรื่องของการเรียนจบมาแล้วแต่ไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในสาขาวิชาชีพที่ตัวเองอยากเป็นได้ เป็นต้องเสียโอกาสในการสมัครงานเพราะบริษัทใหญ่ๆ ไม่มีมาตรการรับบุคคลที่ยังไม่ได้เกณฑ์ทหารซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับบุคคลที่จบใหม่ และอีกเรื่องที่เสียโอกาสคือด้านการเงินเพราะก่อนที่จะเข้ากรมตนได้ทำงานฟรีแลนซ์และได้ทำงานประจำ เป็นบริษัทที่บ้านรายได้ถือว่า พอสำหรับการใช้ชีวิตแต่พอจะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์คือจะต้องตัดรายได้ในส่วนนั้นไป ลูกค้าที่จะต้องสูญเสียไปเราก็ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้เสียโอกาสในด้านของการทำงานในอนาคต ณ ปัจจุบันยังคงมีความคิดว่าหลังปลดประจำการแล้วตนจะกลับไปทำงานตามสายวิชาชีพที่ได้เรียนมาเพื่อที่จะได้ขยับขยายในด้านของอาชีพการงานและในงานที่อยากจะทำมากขึ้น

“ส่วนตัวมองว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการเกณฑ์ทหารตัวยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารมาใช้ในรูปแบบสมัครใจน่าจะเหมาะสมที่สุด ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้มีคนทั้งอยากเป็นทหารและคนที่ไม่อยากเป็นทหาร อย่างคนที่ไม่อยากเกณฑ์ทหารไม่อยากเป็นทหารเพราะมีหน้าที่และอาชีพที่อยากจะเป็นมีเส้นทางที่อยากจะไป รวมทั้งมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเกณฑ์ทหารมาแล้วสุดท้ายต้องมานั่งบำเพ็ญประโยชน์พัฒนาพื้นที่ที่เราอยู่ ทำความสะอาด ตัดหญ้า ถ้าทำแค่นี้ บางครั้งก็รู้สึกเหมือนกันว่าเสียเวลากับชีวิตมาก ดังนั้นจึงอยากสนับสนุนให้เข้ารับราชการทหารแบบสมัครใจ” นายพัทธดนย์ กล่าว

@อุปสรรคบนทางเลือกของการเรียน รด. เพื่อไม่เกณฑ์ทหาร  

สำหรับนักเรียนชายบางคนที่ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร สามารถเลือกเรียนวิชาทหารในโรงเรียน แต่ปัญหาที่แฝงอยู่ในระบบนี้คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากการเรียนปกติ และ ในบางโรงเรียนมีผลกระทบเรื่องการเรียนตามเพื่อนไม่ทัน

นายพิเจต เหมือนนาค นักศึกษาวิชาทหารปี 3 กล่าวว่า การเกณฑ์ทหารควรเป็นเรื่องของความสมัครใจมากกว่าการบังคับ โดยการที่เลือกจะเข้าเรียนวิชาทหารเพราะไม่อยากเข้าเกณฑ์ทหารและทางครอบครัวได้มีการสนับสนุน ถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการเรียนวิชาทหารจะมีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่ 5,000 บาทต่อภาคการศึกษาปีที่ 1  ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย ค่าชุดรด. ค่าเดินทาง ค่าบำรุงสถานที่ ค่าหนังสือและค่าบัตร และในส่วนของภาการศึกษาปีที่ 2-3 จะมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากปีแรกที่เรียน ซึ่งในการเรียนของแต่ละโรงเรียนจะแตกต่างกัน ทั้งวันที่เรียน เวลา และสถานที่ แต่สำหรับบางครอบครัวก็อาจเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากกาเรียนปกติ”

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียนวิชาทหาร แต่ด้วยความฝันที่ต้องการปกป้องประเทศชาติก็มีโรงเรียนทหารโดยตรงที่จะทำการฝึกและอบรม แต่ก็ทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนเพราะวันที่เข้าเรียนวิชาทหารตรงกับวันที่เรียนหนักจึงทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน จึงทำให้ต้องมานั่งศึกษาด้วยตนเองแต่ก็ไม่เข้าใจเท่าที่คุณครูสอน นอกจากนั้นการเรียนวิชาทหารก็ทำให้มีความแข็งแรงและความอดทน

“ส่วนตัวมองว่า การเกณฑ์ทหารทำให้เสียโอกาสในการหารายได้หรือหาประสบการณ์ในการทำงาน ดังนั้นก็ควรให้สิทธิคนที่อยากเป็นทหารได้เข้าไปเกณฑ์ทหารมากกว่าต้องให้ทุกคนมาเสี่ยงดวง” พิเจต กล่าว

ด้านนายรพีภัทร เมนทะราช นักศึกษาวิชาทหารปี 3 กล่าวอีกมุมว่า การเกณฑ์ทหารยังสำคัญในปัจจุบันถ้าหากไม่มีการเกณฑ์ทหารก็จะไม่มีวิชาทหาร หากแต่มีการเกณฑ์ถึงจะเรียนหรือไม่เรียนก็มีการฝึกซ้อมรบ เตรียมตัวอยู่ตลอดหากเกิดสงคราม แต่ในประเทศไทยอาจจะเกิดสงครามได้อยากเพราะไทยเป็นพันธมิตรต่อทั่วโลก หากจะมีการทะเลาะก็เกิดขึ้นภายในประเทศหรือเพื่อนบ้านในส่วนของชายแดน ทำให้ต้องมีทหารที่คอยปกป้องประเทศ 

@ “เครียดเพราะเกณฑ์ทหาร” อีกปัญหาที่อย่ามองข้าม

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เรื่องของการเกณฑ์ทหาร บางคนอาจเกิดความวิตกกังวลหรือความเครียด เพราะเป็นช่วงของจุดเปลี่ยนของชีวิต อาจพบการกังวลในช่วงแรก หากเมื่อได้เข้าเกณฑ์ทหารความกังวลอาจจะลดลง เพราะมีความสุขและดีกว่าที่คิด ความเครียดก็จะค่อยๆ หายไป 

            “1 ใน 5 เป็นเรื่องที่มีคนเข้ามาปรึกษาเยอะที่สุด ก็มีทั้งเรื่องของ สุขภาพ ปากท้อง ความมั่นคงทางการเงิน ทางจิตใจ ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องยอดฮิต ฉะนั้นเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดมาจากความผิดหวังที่ไม่ทันได้ตั้งตัว ยิ่งถ้ามาแบบรวดเร็ว ความเครียดก็จะเยอะ แต่ถ้าหากใครเรื้อรังมากอาจจะจัดการตัวเองได้ง่ายกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป”

            โดยทุกๆ การเปลี่ยนแปลงหรือภาวการณ์เปลี่ยนแปลงกับชีวิต ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้นได้ แต่สำคัญที่ต้องยอมรับความจริงในความกังวล เพราะว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้หากไม่ยอมรับถึงปัญหา เกิดปัญหาแล้วต้องตั้งสติ หรืออาจจะลองเขียนออกมาถึงสิ่งที่เป็นกังวล ซึ่งความรุนแรงในความเครียดก็มีความแตกต่างกัน คนรอบตัวหรือครอบครัวให้สังเกตให้เป็นข้อระวังว่าความกังวลหรือความเครียดอาจจะเกินกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นปัญหาต้องเริ่มหาคนช่วยหรือระบาย ซึ่งอย่าปล่อยให้ลุกลาม หรือควรพบแพทย์โดยตรง

การเกณฑ์ทหารในมุมมองของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่นั่นคือสิ่งที่จะต้องยอมรับและหาวิธีการแก้ไขปัญหานั้นอย่างมีสติ ไม่ว่าจะเป็นความกังวล การวางแผนทางการเงิน เข้าเกณฑ์ทหารหรือการเป็นทหาร หากมีสติและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะทำให้ทุกอย่างชัดเจนและมีความสุขมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนรอบข้างและครอบครัวที่จะคอยรับฟังและอยู่ข้างๆ กันเสมอ

…สุดท้ายผู้ชายไทยมีเพียงแค่ 2 ทางเลือกหรือควรที่จะมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ เป็นคำถามให้สังคมร่วมกันหาคำตอบต่อไป….

Cr.เรื่อง กัลยรัตน์ ลาภทิพมนต์ และ ธนัช โสรัตน์

Share This:

Comments are closed.