breaking news

“เบบี้แครอท” ความหอมหวาน ที่เหมาะกับคน มากกว่ากระต่าย

มกราคม 30th, 2021 | by administrator
“เบบี้แครอท” ความหอมหวาน ที่เหมาะกับคน มากกว่ากระต่าย
About CA
0

หลายคนคงมีภาพจำเกี่ยวกับกระต่าย อาจจะเคยเห็นมาจากการ์ตูนตั้งแต่เด็กๆ ว่ากระต่ายจะต้องกินแครอทเป็นอาหารหลัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แครอทไม่ควรเป็นอาหารหลักสำหรับกระต่าย เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายท้องเสียนั่นเอง ซึ่งแตกต่างกับคน เบบี้แครอท มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง รวมไปถึงเป็นตัวช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ไม่เพียงเท่านั้น เบบี้แครอท ยังสามารถสร้างเม็ดเงินเป็นรายได้เข้าสู่กระเป๋าอีกด้วย ดีทั้งสุขภาพและดีทั้งการเงินเลยทีเดียว

     เคล็ดลับการหารายได้จากเบบี้แครอท ถูกแบ่งปันข้อมูลโดย คุณพรทิพย์ ยังวิเศษสุข หรือพี่นุช ผู้ที่จบปริญญาตรี  Film Production และปริญญาโทบริหาร จากมหาลัยอันดับ 1 ของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เริ่มเป็นเกษตรกรเพราะเป็นห่วงสุขภาพคนในครอบครัว โดยไม่หวังกำไรจากเม็ดเงินเพราะกำไรที่แท้จริง คือ คนในครอบครัวมีสุขภาพที่ดี

เพราะห่วงสุขภาพครอบครัว จึงเป็นเกษตรกร

คุณนุชได้เล่าว่า ที่บ้านทำงานเกี่ยวกับการขายข้าวสาร ตั้งแต่เด็กจนโตอยู่วงการเกษตรมาตลอด ประจวบเหมาะมีพื้นที่ดินว่างเหลืออยู่ จึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในเรื่องของการปลูกผักทานเอง เพราะอยากให้คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ที่ไม่สบาย หลานที่กำลังโตอยู่ในช่วงเจริญอาหาร ได้รับประทานผักที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ และดีต่อสุขภาพ 

     “ถ้าถามว่าทำไมถึงทำแบบนี้ พี่ก็คงตอบได้แค่ว่า มันต้องทำ แล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย เพื่อครอบครัว” คุณนุช กล่าว

ลองผิดลองถูกจนปลูกสำเร็จ

หลังจากที่ลองปลูกผักกินใบหรือผักสลัดสำเร็จแล้ว คุณนุชจึงได้ลองปลูกผักกินหัว เช่น หัวไชเท้า แรดิช มันม่วง และเบบี้แครอท แต่ก็ไม่เกิดผลผลิตที่ดี มีแต่ใบ รากเล็กนิดเดียวไม่ติดหัวมาด้วย จนผ่านไป 4 ถึง 5 เดือน จะเริ่มรื้อแปลงผักเบบี้แครอททิ้ง เพื่อที่จะปลูกผักกินใบ ขณะที่รื้อปรากฏว่าตอนดึงออกมา หัวเบบี้แครอทใหญ่มาก คุณนุชเลยเริ่มเช็คไทม์ไลน์ตัวเองว่าที่ผ่านมาได้ทำสิ่งใดกับพื้นที่ตรงนี้บ้างหรือไม่ ได้รดน้ำบ้างหรือเปล่า เลยได้ข้อสรุปว่า

     “เราไม่สามารถจะไปปลูกเบบี้แครอทเหมือนผักสลัดได้ เช่น ไปโรยบนดิน รอให้งอกแล้วเราค่อยมาเพาะในถาดที่เป็นหลุมๆ พอลองเพาะแล้วมันไม่เวิร์ค เพราะว่า รากเบบี้แครอท ถ้ากระทบกระเทือนนิดนึง ก็จะเสียหายเลย พี่ก็เลยลองที่จะเอาไปหว่าน ไปโปรย แล้วมันก็ค่อยๆ ขึ้นมา พี่ก็ดึงตัวที่ใกล้กันมากเกินไป ดึงออกต้นนึงหรือสองต้น เพื่อที่จะให้เบบี้แครอทมีอากาศหายใจมากขึ้น” คุณนุช กล่าว

ปุ๋ยผักทั่วไปแค่ทำให้ใบสวย แต่ไม่ทำให้หัวโต

คุณนุชได้ค้นคว้าข้อมูลมาว่า ถ้าให้ปุ๋ยเหมือนที่ใช้กับผักสลัดหรือผักกินใบทั่วไป ใบของเบบี้แครอทจะสวยงาม เพราะปุ๋ยจำพวกนี้จะไม่ลงไปในราก ไม่ทำให้เกิดหัวที่ใหญ่ คุณนุชจึงบำรุงเบบี้แครอทด้วยการไม่บำรุงสิ่งใดมาก แค่ทำให้ดินโปร่งและน้ำไหลซึมในดินสะดวก ถ้าซื้อดินถุงทั่วไปมาใช้ ต้องนำมาร่อนเอาตะกอนก้อนหินออกเสียก่อน และใช้มูลไส้เดือนที่เลี้ยงมาจากมูลวัวในการคลุกผสมกับดิน

ดินเก่าใช้ได้ดีกว่าดินใหม่

  ดินที่เหมาะกับปลูกเบบี้แครอท คือ ดินเก่าที่ผ่านการปลูกมาแล้ว คุณนุชได้เล่าว่า จากที่สังเกตมา ดินที่เก่าผลผลิตจะโตขึ้นและดีกว่าดินใหม่ ดินใหม่เวลาผสมทุกอย่างจะใหม่หมด ไม่ผ่านการปลูกอะไรมาเลย ไม่มีการเดินของแร่ธาตุในดิน ถ้าใช้ดินเดิมที่เคยปลูกผักมาแล้วนำไปผสมกับดินใหม่ ครึ่งต่อครึ่ง หรือ 80 ต่อ 20 ผลผลิตจะเติบโตดีกว่าใช้ดินใหม่ที่ไม่ผ่านการปลูกสิ่งใดเลย หลังจากมีความพร้อมเรื่องดินแล้ว คุณนุชได้แนะนำเรื่องปุ๋ยไว้ดังนี้

     “พี่ใช้เป็นฮอร์โมนนมสดที่พี่หมักเอง แล้วก็ปุ๋ยมูลไส้เดือนเวลาเตรียมดิน มันจะอยู่ในนั้นอยู่แล้ว ก็คือช่วงแรก 7 ถึง 15 วัน พี่จะไม่ได้ใส่อะไรเลย จนกระทั่งมันมีใบงอกขึ้นมา ประมาณ 5 ถึง 6 ใบ พี่ถึงจะเอาปุ๋ยไส้เดือน 1 กำมือ หว่านให้ทั่วแปลงที่เราปลูก” คุณนุช กล่าว

วันที่ควรเก็บเกี่ยวผลผลิต

แนะนำอยู่ที่ 70 ถึง 90 วัน คุณนุชเคยลองช่วง 70 วันของการปลูก ในตอนที่ดึงขึ้นมาเบบี้แครอทมีแต่ราก แต่เมื่อลองช่วง 90 วันของการปลูก เริ่มมีหัวติดขึ้นมาด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพราะเบบี้แครอทชอบฤดูหนาว ผลผลิตจะดีในช่วงฤดูหนาวมากกว่าฤดูอื่นๆ

Facebook ตัวนำร่องในการหาตลาดลูกค้า

คุณนุชได้เปิดเผยการหาตลาดลูกค้าในช่วงแรกของการเริ่มเป็นเกษตรกรไว้ว่า Facebook เป็นตัวนำร่องที่ดีมาก เพราะว่าตั้งแต่ช่วงเริ่มไถเตรียมพื้นที่ คุณนุชอัปเดตตลอดว่าทำอะไรบ้าง จนมีผลผลิตออกมา เพื่อนและคนรู้จักได้เห็นและเรียนรู้ว่าทำแบบนี้ ผลผลิตออกมาเป็นแบบนี้ พอได้เห็นแล้วจึงอยากลองรับประทานเพราะอยากรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร กลายเป็นว่าเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน เมื่อผลตอบรับดี คุณนุชจึงสร้าง Facebook Fanpage ชื่อว่า ‘Nuch Garden’ เพื่อขายโดยเฉพาะ และทำการโฆษณาโปรโมทช่วงที่มีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก
คุณนุช ได้กล่าวอีกว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ มีตั้งแต่วัยทำงาน อายุ 30 ต้นๆ ไปจนถึงอายุ 60 และผู้ป่วยมะเร็ง ประมาณ 70% ที่มาอุดหนุนซื้อผักทั้งใน Facebook และที่สวนของตน

ความแตกต่างระหว่าง เบบี้แครอท และ แครอททั่วไป

 คุณนุชมีความคิดเห็นว่า เบบี้แครอทมีกลิ่นที่ดี เหมือนมีน้ำหอมในตัว ในช่วงที่ดึงรากขึ้นมาจะมีกลิ่นหอมโชยขึ้นมา ส่วนแครอทปกติเหมาะสำหรับคนที่ต้องการบริโภคแบบเนื้อๆ น้ำๆ ใหญ่ๆ เต็มปากเต็มคำ ซึ่งต่างกับ เบบี้แครอท ที่มีขนาดเล็กกว่า ถือรับประทานและกัดได้เลย 

    “แครอทหัวใหญ่ๆ ที่พี่รู้มา คือนำเข้ามาทั้งนั้น เลยคิดว่า เรากินเล็กๆ แต่คุณภาพแน่น ดีกว่าไปกินใหญ่ๆ แต่ไม่รู้ต้นทาง” คุณนุช กล่าว

    และแนะนำกับทางลูกค้าอีกด้วยว่า เบบี้แครอทของทางร้านสามารถทานได้ทั้งใบและหัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้ารับ Taste รสชาติได้มากน้อยเพียงไหน บางท่านรับกลิ่นแรงได้ รับกลิ่นขมได้ โดยใบของแครอทสามารถเอาไปใส่ใน ไข่เจียว แทนใบชะอมได้ ฉุนไม่เท่าใบชะอม และมีกลิ่นที่หอมน่าลิ้มรส

แม้พื้นที่จำกัดแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกเบบี้แครอท

คุณนุชได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความสนใจลองปลูกเบบี้แครอท แต่มีพื้นที่จำกัดด้านที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม หอพัก แม้จะไม่มีแปลงที่ดิน แต่สามารถใช้ตะกร้าผ้าเพื่อปลูกเบบี้แครอทได้ โดยตะกร้าผ้าต้องมีความลึกอยู่ที่ 25 ถึง 30 เซนติเมตร หากใช้ดินถุง ควรนำไปร่อนเพื่อนำตะกอนก้อนหินออกเสียก่อน และควรผสมดินเข้ากับปุ๋ยมูลไส้เดือนในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เพื่อให้ดินร่วนโปร่งเหมาะสมกับการปลูกเบบี้แครอท

 หลังจากที่ปลูกเบบี้แครอทลงดินแล้ว ต้องคอยสังเกตอยู่เสมอ หากใบของเบบี้แครอทบางต้นยาวกว่าต้นอื่นๆ ให้คิดไว้เลยว่าผิดปกติ อาจเกิดขึ้นเพราะการใส่ปุ๋ยตรงจุดที่ปลูกมากจนเกินไป เมื่อเบบี้แครอทได้ปุ๋ยเยอะจนเกินไปใบจะโตเร็วและไม่ลงไปที่หัว ถ้าเจอสามารถดึงทิ้งได้ทันที เพราะหัวเบบี้แครอทไม่โตอย่างแน่นอน

  สำหรับรายได้จากการปลูกหนึ่งรอบที่ผ่านมา บนกระบะแปลงผักขนาดความกว้างอยู่ที่ 1 เมตร 50 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร โรยเมล็ดเป็นแถวยาวตอนลึก ประมาณ 2 ถึง 3 แถว คุณนุชเก็บผลผลิตได้ประมาณ 3 ถึง 4 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 250 บาท รอบหนึ่งใช้เวลาในการปลูกอยู่ที่ 70 ถึง 90 วัน

    คุณณุชได้เตือนเรื่องศัตรูพืช จากประสบการณ์ในการปลูกเบบี้แครอทไว้ว่า ให้พึงระวัง เพลี้ยไฟ หมัดกระโดด เพราะศัตรูพืชเหล่านี้จะทำลายผลผลิตจนเสียหายหนักได้ และถ้าศัตรูพืชเข้ามามากจนเกินไป ควรที่จะรื้อทิ้งทันที เพื่อที่จะเริ่มปลูกใหม่ในสถานที่อื่น

เทคนิคหารายได้จากเบบี้แครอท ฉบับมือใหม่

คุณนุชได้กล่าวว่า ควรเริ่มต้นจากการหาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ โดยคุณนุชเลือกที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ของ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขายอยู่ที่ซองละ 20 บาท แต่ได้แนะนำว่าอย่าเพิ่งทำจริงจัง ควรลองปลูกและเรียนรู้ก่อน หากทำสำเร็จแล้วจะเจอกับเส้นทางที่นำไปสู่รายได้เอง

     คุณนุชได้กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการปลูกเบบี้แครอท ก็คือ ดิน โดยใช้เทคนิค นำดินมาผสมปุ๋ยมูลไส้เดือน 1:1 คลุกให้เข้ากัน ทิ้งไว้หนึ่งคืน รดน้ำให้ชุ่มชื้น ตื่นเช้ามาโรยเมล็ดลงดินแบบกระจัดกระจาย และควรใช้ ฟ็อกกี้ ในการฉีดน้ำ อย่าใช้หัวบัวรดน้ำ เพราะฟ็อกกี้จะสามารถควบคุมให้มีความชื้นอยู่ตลอด อย่าพึ่งนำออกนอกแสงแดด ควรอยู่ในที่ในที่ร่มรำไร คงความชื้นไว้ตลอด 

     และคุณนุชได้ทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ไม่ต้องแปลกใจหากว่า 2-3 แล้ว เมล็ดยังไม่เกิดไรขึ้น เพราะเมล็ดเบบี้แครอทค่อนข้างที่จะงอกช้า บางครั้งที่พี่ปลูก 10 วันเพิ่งจะงอกก็มี เบบี้จะงอกหรือไม่งอก ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์มีคุณภาพหรือไม่ และควบคุมความชื้นได้ดีหรือเปล่า” 


แล้วกระต่ายควรกินเบบี้แครอทหรือไม่?

สรรพคุณในตัวเบบี้แครอทนั้นมีมากมาย เช่น สารวิตามิน บี 1 บี 2 ในเบบี้แครอท ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคหวัด ป้องกันโรคอย่างมะเร็ง รวมไปถึงโรคเกี่ยวกับกระดูก ผิวหนัง สายตา อีกทั้งยังช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหาร ทำให้ย่อยอาหารได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาเป็นผลดีต่อคนทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกันหากกระต่ายกินเบบี้แครอทมากจนเกินไป อาจทำให้ท้องเสียจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

     สำหรับคำตอบในเรื่องของกระต่าย นายสัตวแพทย์ ชญา ทินกร หรือ หมอโอม สัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์พนาลัย มาร่วมให้คำตอบในเรื่องนี้ เพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเจ้ากระต่ายให้มากยิ่งขึ้น

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ใช้กระเพาะในการหมักอาหาร

 ธรรมชาติของกระต่ายเวลาที่กินอาหาร จะนำเอาอาหารเข้าไปหมักในลำไส้ส่วนท้ายก่อน เพื่อให้เกิดการหมักของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย หมักเยื้อใยให้เป็นสารอาหารบางอย่างที่ต้องการไปใช้ในชีวิต การหมักเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก สิ่งที่ต้องใช้ในการหมักก็คือ กลุ่มของเยื้อใย หรือว่า กากอาหาร โดยปกติกระต่ายจะกินหญ้าเป็นอาหารหลัก เพื่อเอาเยื้อใยไปใช้ในการหมัก เยื้อใยนอกจากจะมีความสำคัญที่กระต่ายใช้ในการหมักแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ทางเดินอาหารทำงานได้ดี ซึ่งอาหารที่มีเยื้อใยต่ำเกินไป กระต่ายก็จะเกิดภาวะ ท้องเสีย ท้องอืด จากการหมักที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

กระต่ายควรกินหญ้าเป็นอาหารหลัก

น.สพ.ชญา ได้เล่าว่า อาหารหลักของกระต่าย คือ หญ้า ซึ่งมีหญ้าหลายชนิด ได้แก่ หญ้าอัลฟาฟ่า ที่เหมาะสำหรับกระต่ายเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน มีเยื้อใย แคลเซียม โปรตีน ที่ค่อนข้างสูง เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต ในส่วนของกระต่ายโตที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป แนะนำเป็นหญ้าทิโมธี หญ้าโอ๊ต หญ้าออร์ชาร์ด จะมีเยื้อใย แคลเซีย โปรตีน ที่ต่ำลงมา เหมาะสำหรับกระต่ายที่โตแล้ว ซึ่งอาจจะเสริมเป็นอาหารเม็ด หรือเป็นเบบี้แครอทร่วมด้วยก็ได้ แต่ควรให้กระต่ายบริโภคในอัตราส่วน 80 ต่อ 20 คือหญ้า 80% อาหารเม็ด 20% เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับกระต่ายที่โตแล้ว หากได้รับการบริโภคที่พอเหมาะกระต่ายก็จะไม่ท้องเสียหรือท้องอืด 

กระต่ายท้องเสียเป็นเคสที่เจอได้บ่อยในการรักษา

กระต่ายท้องเสีย ท้องอืด เป็นเคสที่พบได้บ่อยของโรคกระต่ายที่เข้ามารักษา ความรุนแรงของโรคก็มีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของกระต่าย ความรุนแรงของโรคในกระต่ายเด็กจะรุนแรงกว่ากระต่ายโต สาเหตุจริงๆ ก็ไม่ได้มีจากการกินแครอทอย่างเดียว จะมีกระต่ายเด็กที่ยังไม่หย่านมดี ยังหาไรกินเองไม่ได้ ก็ถูกนำมาขายในตลาด เมื่อได้รับนมไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต แล้วไปกินหญ้าหรือเบบี้แครอทเลย เมื่อทางเดินอาหารยังไม่พร้อม ทำให้หมักสารอาหารไม่ได้ จึงเกิดภาวะท้องเสียตามมา เป็นอาการท้องเสียที่ค่อนข้างรุนแรงและอันตรายต่อชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ทัน

ไม่ใช่แค่กระต่ายที่ต้องระวังเรื่องการกินเบบี้แครอท

 กลุ่มสัตว์ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ชินชิล่า แกสบี้ ก็ต้องระวังเรื่องของการกิน เพราะเป็นสัตว์ที่ใช้ลำไส้ส่วนท้ายหมักอาหารเหมือนกันกับกระต่าย หลักการดูแลค่อนข้างคล้ายคลึงกัน มีความไวต่อพวกอาหารที่มีเยื้อใยต่ำมากเกินไปจนทำให้ลำไส้ไม่สามารถรักษาภาวะปกติของการหมักย่อยได้ จึงทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาในภายหลัง

คำแนะนำสำหรับมือใหม่อยากลองเลี้ยงกระต่าย

 “ต้องเริ่มจากการเข้าใจเขาก่อนว่า ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไรบ้าง สุขภาพของกระต่าย ร้อยละ 80% เลย มาจากการจัดการที่ดีครับ ถ้าเรามีการจัดการที่ดี เรื่องของอาหาร เรื่องของที่อยู่ เรื่องของพื้นกรง ถ้าเราเข้าใจทั้งหมดและจัดการให้เขาอย่างเหมาะสม กระต่ายก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อยู่กับเราได้อย่างยาวนานแล้ว” น.สพ.ชญา กล่าว

     ฉะนั้นคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มเลี้ยงกระต่าย อาจจะต้องลองหาข้อมูลอ่าน ทำความเข้าใจกับกระต่าย ว่าเขาต้องกินอย่างไร อยู่อย่างไร อยากให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะเลี้ยงกระต่าย รับผิดชอบชีวิตเขาให้ดีๆ อย่าทำร้ายชีวิตกระตัวน้อยๆ

Share This:

Comments are closed.