breaking news

ผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายที่หญิงไทยต้องแบกรับ

มกราคม 31st, 2021 | by administrator
ผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายที่หญิงไทยต้องแบกรับ
Money Wise
0

ในประเทศไทย ผ้าอนามัยแบบแผ่นนั้นเป็นสินค้าควบคุมแต่ยังเป็นสินค้าที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนสินค้าโดยทั่วไป คือ อยู่ที่อัตราร้อยละ 7 แต่ทั้งนี้ผ้าอนามัยนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็นของผู้หญิงจึงมีการเรียกร้องให้ลดราคาผ้าอนามัยเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ผ้าอนามัยในไทย แพงจริงหรือ?

เมื่อสำรวจในต่างประเทศจะพบว่ามีหลายประเทศมีการยกเว้นภาษีผ้าอนามัยไปแล้ว ได้แก่ แคนาดา อินเดีย  จาไมกา  เคนยา ไอซ์แลนด์  แอฟริกาใต้  ออสเตเรีย  มาเลเซีย  นิคารากัว  และอีกหลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา  ส่วนประเทศเยอรมนี  ก็ได้มีการเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผ้าอนามัยจากเดิม 19% เป็น 7%  สำหรับฮังการี เป็นประเทศที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดในยุโรปและสูงที่สุดในโลกอีกด้วย อยู่ที่ 27% ตามมาด้วยประเทศสวีเดน  เดนมาร์กและโครเอเชีย อยู่ที่ 25% อีกหนึ่งประเทศที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มสูงก็คืออาร์เจนตินา อยู่ที่ 21% เม็กซิโก 16% สเปนและสหรัฐอเมริกา (ในบางรัฐ) อยู่ที่ 10%  อิหร่าน 9%   สวิตเซอร์แลนด์ 7.7%เนเธอร์แลนด์6%  ฝรั่งเศษ  5.5% โคลอมเบียและสหราชอาณาจักร 5% ในขณะที่ประเทศกรีซมีการเพิ่มภาษีผ้าอนามัยจาก 13% เป็น 23%

อย่างไรก็ตาม แม้บางประเทศในยุโรปยังคงมีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ อาทิ ประเทศฮังการีที่มีภาษีผ้าอนามัยสูงที่สุดในยุโรป 27 % ราคาจะอยู่ที่ห่อละ 4,048 – 9,622 โฟรินท์ฮังการี หรือประมาณ 410 – 975 บาท ในหนึ่งห่อมีจำนวนผ้าอนามัยตั้งแต่ 40 – 180 แผ่น เฉลี่ยแผ่นละ 5 – 8 บาท ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของประเทศฮังการีจะอยู่ที่ 670 โฟรินท์ฮังการี หรือประมาณ 66 บาทต่อชั่วโมง ราคาของผ้าอนามัย 1 ห่อ จึงคิดเป็น  40 % ของค่าแรงขั้นต่ำ  และประเทศเยอรมนี มีการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีจากเดิม 19 % เป็น 7 % ซึ่งผ้าอนามัย 1 ห่อมีจำนวนมากถึง 60 ชิ้น และราคาจะอยู่ที่ 2.34 – 2.75 ยูโร หรือประมาณ 85 – 100 บาท เฉลี่ยแผ่นละ 1 – 2 บาท ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเยอรมนีจะอยู่ที่ 9.19 ยูโร หรือประมาณ 308 บาทต่อชั่วโมง ราคาของผ้าอนามัย 1 ห่อ จึงคิดเป็น 2 % ของค่าแรงขั้นต่ำ  สำหรับประเทศแคนาดา เป็นประเทศที่มีการยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย ราคาจะอยู่ที่ห่อละ 8 – 10 ดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 209 – 238 บาท แต่ละห่อมีจำนวนผ้าอนามัยตั้งแต่ 24 – 129 แผ่น เฉลี่ยแผ่นละ 2 – 8 บาท ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของประเทศแคนาดาจะอยู่ที่ 14.60 ดอลลาร์แคนาดา ประมาณ 329 บาท ต่อชั่วโมง ราคาของผ้าอนามัย 1 ห่อ จึงคิดเป็น 2 % ของค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 7% เช่นเดียวกับเยอรมนี เมื่อคำนวณจากรายได้ขั้นต่ำของประเทศไทย เฉลี่ยที่ประมาณ 320 บาท ราคาของผ้าอนามัยในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ประมาณแผ่นละ 4 บาท จากข้อมูลด้านการแพทย์ นายฎฬัณ มิตรมาตร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลลือำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ให้คำแนะนำสำหรับการใช้ผ้าอนามัยทั่วไปว่า ผ้าอนามัยควรเปลี่ยนทุกๆ 4 ชั่วโมง หากใส่นานเกินไป  อาจเกิดการสะสมของเชื้อโรคจนทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดได้ และควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอนามัย ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกเข้าไปในช่องคลอด และไม่ให้เชื้อโรคจากผ้าอนามัยกระจายปนเปื้อนไปยังที่ต่างๆ ดังนั้น ผู้หญิงควรใช้ผ้าอนามัยอย่างน้อย 4 ชิ้นต่อวัน ถือเป็นค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายวันละ 36 บาท ซึ่งคิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำต่อวัน


สำหรับนักศึกษาและผู้ที่มีรายได้น้อย การปรับราคาผ้าอนามัยสูงขึ้นนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก  โดยราคาจะมีตั้งแต่ประมาณ 16 – 169 บาทต่อ 1 ห่อ ซึ่งราคานั้นขึ้นอยู่กับจำนวนชิ้น ความยาวของผ้าอนามัย รูปแบบของผ้าอนามัย เช่น ความบาง กลิ่น หรือการป้องกันการซึมเปื้อนต่างๆ ตามแต่ละแบรนด์สร้างขึ้นมา

ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์ นักศึกษาผู้หญิงระดับปริญญาตรี พบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยต่อเดือนอยู่ที่หลายร้อยบาทซึ่งหากสามารถลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้ก็สามารถนำเอาเงินไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ได้อีก

นางสาวณัฐริกา โพธิ์นา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ เปิดใจว่า  ราคาของผ้าอนามัยที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบกับนักศึกษาผู้หญิงและผู้ที่มีรายได้น้อยหลายๆ คน เพราะผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกๆ เดือน  และเมื่อเป็นประจำเดือนในหนึ่งวันใช้ผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 5 แผ่น เพราะต้องเปลี่ยนทุก 4 ชั่วโมง หรือถ้าในวันมามากจะเปลี่ยนบ่อยมากขึ้น  โดยในแต่ละครั้งใช้เงินไปกับการซื้อผ้าอนามัยประมาณ 300 บาท และตนต้องแบ่งเงินเพื่อใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อีกด้วย  นอกจากนี้นางสาวณัฐริกา กล่าวต่ออีกว่า ผ้าอนามัยที่มีราคา 16 บาทนั้น ควรที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก 4 ชิ้น เป็น 8 ชิ้นในหนึ่งห่อ เพราะน่าจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นถึงเท่าตัว

ด้านนางสาวกัลยรัตน์ ลาภทิพมนต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ เห็นตรงกันกับนางสาวณัฐริกาว่า ผู้หญิงบางคนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยที่มีราคาสูงได้ และอยากให้มีการเพิ่มปริมาณผ้าอนามัยภายในห่อ หรืออาจจะลดราคาให้ถูกลง

“ปกติจะแบ่งเงินสำหรับซื้อผ้าอนามัย ไว้ในหมวดของใช้ส่วนตัว ซึ่งจะซื้อกักตุนไว้รวมกับของใช้อื่นๆ และเมื่อเป็นประจำเดือน ตนใช้ผ้าอนามัย 8-10 แผ่นในแต่ครั้ง  โดยตนนั้นใช้ผ้าอนามัยราคาห่อละ 62 บาท มีปริมาณ 8 ชิ้น เฉลี่ยแผ่นละ 7.75 บาท เหตุผลที่ใช้ราคานี้เพราะคิดว่าการที่ใช้ราคาที่แพงสามารถซึมซับประจำเดือนได้ดีกว่า สะอาดกว่า แต่ก็อยากให้มีการลดราคาลง เพราะว่าราคาของสิ่งที่จำเป็นกับผู้หญิงไม่ควรมีราคาที่สูงขนาดนี้ จึงเห็นว่าควรมีการใช้ราคามาตรฐานสำหรับผ้าอนามัย”

‘ถ้วยอนามัย’ ทางเลือกใหม่ของผู้หญิงสาย REUSE


นอกจากนี้เราอาจจะคุ้นเคยกับการใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น หรือผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ และผ้าอนามัยทั้งสองแบบยังต้องมีการเปลี่ยนระหว่างวันบ่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปัจจุบันมีรูปแบบผ้าอนามัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งถ้วยอนามัยและผ้าอนามัยซักได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นถ้วยอนามัย ที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ระยะการใช้งานนาน และไม่ต้องเสียเงินซื้อบ่อยๆ 

          ด้านนางสาวนันธิชา ประสิทธิพรกุล ผู้ใช้ถ้วยอนามัย เผยว่า เหตุที่เปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัย เป็นเพราะมีอาการแพ้ผ้าอนามัย จากนั้นก็เริ่มค้นหาข้อมูลว่าอะไรที่จะสามารถช่วยให้ไม่แพ้ จึงได้รู้จักกับถ้วยอนามัย และถ้วยอนามัยจะมีหลายราคา เช่นใน Shopee ราคาจะประมาณ 200-300 บาท แต่ถ้าเกรดดีราคาจะค่อนข้างสูง แต่ความคุ้มค่าของตัวถ้วยคือ สามารถใช้ได้นานถึง 10 ปี “สำหรับตนภาษีผ้าอนามัยที่มีราคาสูงขึ้น ตนไม่ได้รู้สึกอะไรที่ผ้าอนนามัยราคาสูงขึ้น เพราะอย่างไรมันก็คือสิ่งที่ผู้หญิงต้องใช้ในทุกๆเดือน” 

“การใช้ถ้วยอนามัยใช้เสร็จก็ต้องต้มเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป ซึ่งประหยัดเงินในการซื้อผ้าอนามัยได้มาก และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะเมื่อใช้ผ้าอนามัยจะมีการเปลี่ยนระหว่างวันบ่อย ใช้ทิชชูเยอะ แต่เมื่อใช้ถ้วยอนามัยซับแค่ปัจสาวะเท่านั้น หากต้องการเข้าห้องน้ำก็ไม่จำเป็นต้องถอดออก และในวันมามากอยู่ได้ถึง 4 ชั่วโมง สามารถถอดเททิ้งล้างน้ำเปล่าได้เลย  หากรู้สึกไม่สบายใจสามารถใช้สบู่เหลวล้างได้เลย และวันมาน้อย ถ้วยอนามัยอยู่ได้นานถึง 12 ชั่วโมง”

ในเรื่องของคุณภาพนางสาวนันธิชามีความมั่นใจว่า ถ้าเลือกซื้อเกรดดี ตัวซิลิโคนต้องดี แต่ก็อยู่ที่เราเลือกตั้งแต่ต้น หากถามถึงความปลอดภัย ก็อยู่ที่ตัวเรา ว่าเรารักษาความสะอาดมากน้อยเพียงใด ถ้าจะใช้ถ้วยอนามัยต้องต้มก่อน 5 นาที พอประจำเดือนหมดก็ต้องต้มเก็บไว้ แต่สำหรับเธอ ถ้วยอนามัยถือว่าดี สะดวก เพราะเธอใช้ผ้าอนามัยมาทั้งชีวิต สร้างความอึดอัด และยังก่อให้เกิดขยะของเสีย แต่สำหรับถ้วยอนามัยสามารถใช้ชีวิต ในแบบปกติได้เลย และที่สำคัญ สามารถลดความชื้น ได้มากกว่าผ้าอนามัย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คุณสมบัติของถ้วยอนามัยจะใช้ยาวนานได้ 12 ชั่วโมง แต่แพทย์แนะนำว่า เพี่อสุขภาวะที่ดีแนะนำให้เปลี่ยนทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค ซึ่งเท่ากับจำนวนเดียวกันกับที่ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นปกติ ทำให้โดยเฉลี่ยมีโอกาสต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

          นางสาวจิรัชยา จิโรจน์พงศา นักกฎหมาย เผยว่า การที่ผ้าอนามัยแบบสอดได้ถูกจัดให้เป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง หรือสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เนื่องจากผ้าอนามัยแบบที่ใช้ภายนอกและผ้าอนามัยที่ใช้ภายในชนิดสอด ล้วนแล้วแต่ถูกนิยามว่าเป็นเครื่องสำอาง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 แต่ทั้งนี้เครื่องสำอางที่จะถูกจัดเก็บภาษีได้นั้น มีเพียงน้ำหอมเท่านั้น ดังนั้นการเก็บภาษีผ้าอนามัยแบบสอดตามพิกัดเพดานภาษีเครื่องสำอางจึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหากจะช่วยลดภาระของผู้บริโภค และ เพิ่มทางเลือกของสุขอนามัยให้กับผู้หญิง การพิจารณายกเลิกภาษีผ้าอนามัยแบบสอดน่าจะช่วยให้ราคาถูกลงและหาซื้อใช้ได้สะดวก และสอดคล้องกับค่าครองชีพที่เป็นอยู่จริงได้มากกว่า

Share This:

Comments are closed.