ภัยเงียบจากพฤติกรรมการบริโภคและกิจวัตรประจำวัน ที่นำไปสู่โรค “ไม่ติดต่อเรื้อรัง” (NCDs หรือ Non-communicable diseases) ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานโรคมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง กลุ่มโรคเหล่านี้กำลังเป็นปัญหายอดนิยมทางสุขภาพของประชากรทั่วโลก สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดวิธีเช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และการไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหากผู้บริโภครู้วิธีการดูแลตนเอง ด้วยวิธี “กินอย่างชาญฉลาด” ก็สามาถลดอัตราเสี่ยงจากการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ง่ายขึ้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประกอบไปด้วย 4 โรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 2.โรคเบาหวาน 3.โรคมะเร็ง 4.โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคทั้ง 4 กลุ่มนี้ คือการสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการบริโภคที่ไม่ถูกต้องตามหลักคุณค่าทางโภชนาการ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทำให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เกิดการสูญเสียศักยภาพในการประกอบอาชีพและผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยและโรคแทรกซ้อน อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางการรักษาแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาลอีกด้วย
องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเปิดเผยสถิติการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 36 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตอายุต่ำกว่า 60 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบมากที่สุดในประเทศด้อยพัฒนาอย่างแอฟริกา พบผู้เสียชีวิตเกือบร้อยละ 80ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 29 ล้านคน
.
………. อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า จากพฤติกรรมทางสุขภาพ “3 อ. 2 ส.”คือ อ.อาหาร อ.ออกกำลังกาย อ.อารมณ์ ส.สูบบุหรี่ และ ส.สุรา กันอย่างผิดวิธีที่มากขึ้นส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การรับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัย สามารถช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับพฤติกรรมบริโภคของสังคมไทยไว้ว่า“การบริโภคของคนไทยในทุกวันนี้เป็นการบริโภคที่ไม่ถูกหลักอนามัย มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” อาหารส่วนใหญ่ที่คนไทยนิยมรับประทาน มักเป็นอาหารประเภททอดและผัด นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ง่าย
ทั้งนี้ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า“ปัจจุบันคนเราบริโภคอาหารรสเค็มมากขึ้น เพราะอาหารปรุงสำเร็จแต่ละชนิดมักจะมีเกลือเป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งในขณะที่เราควรบริโภคเกลือเพียงวันละ 1 ช้อนชา หรือไม่เกิน 6 กรัมเท่านั้น ถ้าร่างกายมีปริมาณโซเดียมที่ได้จากเกลือสูงเกินไปไตจะทำงานผิดปกติและจะไม่สามารถขับโซเดียมได้ หากร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมสะสมสูงเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายรับได้ น้ำในร่างกายจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และไตต้องทำงานหนักเพื่อขับปริมาณโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเสื่อมสูงขึ้น
โรคความดันโลหิตเป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่คนไทยเป็นกันมาก เนื่องจากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง หรืออาหารที่มีรสเค็มจัดนั่นเอง “โซเดียม” นอกจากพบในเกลือ น้ำปลา หรือกะปิแล้ว แต่ยังสามารถพบในผงชูรส และผงฟูที่ใช้ในการทำเบเกอรี่อีกด้วย
.
………. อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ กล่าวถึงแนวทางการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังว่า “การเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากกลุ่มนี้ ไม่ควรเจาะจงไปที่โรคใดโรคหนึ่งแต่ควรป้องกันไม่ให้เรามีความเสี่ยงเลยใน ทุกๆ โรค ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ “ความสมดุล” ในการรับประทานซึ่งพบว่าหลายคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการงดของหวาน เพราะกลัวเป็นโรคเบาหวาน แต่ละเลยการควบคุมแป้งทั้งๆ ที่แป้งสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ในเลือด ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเบาหวานนั่นเอง
เพราะฉะนั้นพวกเราควรหันมารับประทานอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพราะมีส่วนช่วยให้การย่อย และการดูดซึมน้ำตาลในเลือดช้าลง ซึ่งเซลล์ต่างๆ ของร่างกายสามารถดึงน้ำตาลที่อยู่ในเลือดไปใช้งานได้ทันที ทำให้ไม่เกิดการสะสมปริมาณน้ำตาลในเลือดมากเกินความจำเป็นของร่างกาย
เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียใหม่ กินให้ถูก ดูแลจิตใจ และออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ย่อมห่างไกลจากการป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง…ก้าวสู่เส้นทางสุขภาพดี หากคุณใส่ใจสุขภาพเสียตั้งแต่วันนี้
.
เคล็ดลับในกาiบริโภคคือการดูข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารที่รับประทานว่ามีปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือมากน้อยเท่าไหร่ สังเกตจากพฤติกรรมการรับประทานของตนเอง ลดปริมาณการบริโภคให้เพียงพอกับร่างกาย แล้วหันมารับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ในทุกๆ มื้อควรจะมีผักผลไม้เป็นส่วนประกอบ
.
.
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://issuu.com/theprototype/docs/issue1