breaking news

ภัยร้ายใกล้ตัวจากอาหารรสจัด

เมษายน 26th, 2021 | by administrator
ภัยร้ายใกล้ตัวจากอาหารรสจัด
CB59318
0

รู้หรือไม่ว่า อาหารรสจัดที่ไม่ว่าจะเป็นรสเผ็ด หวาน มัน เค็ม เปรี้ยว ที่เรารับประทานอยู่ทุก ๆ วัน มีภัยต่อร่างกายไม่น้อย และสิ่งที่มาจากอาหารเหล่านี้ก็จะขยายเข้าสู่ร่างกายของเราเรื่อย ๆ เมื่อทานบ่อยเข้า ดังนั้น ทางโปรโตไทป์ของเรา จึงต้องหาคำตอบที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อาหารรสจัดเป็นภัยอันตรายต่อร่างกายจริงหรือ?

การรับประทานขนาดไหนถึงจะเรียกว่ารสจัดเกินไปต่อร่างกาย

รสชาติของอาหารในความเป็นจริงคือสิ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร และเพิ่มความสุขเวลารับประทานอาหาร เช่น รสเผ็ดจะช่วยกระตุ้นความตื่นตัว กระตุ้นการไหลเวียนระบบโลหิต รสเปรี้ยวจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร กระตุ้นการทำงานของตับและระบบทางเดินน้ำดี รสหวานจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นมีแรง เป็นต้น แต่ควรรับประทานให้พอดี เพราะการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป คือการที่ร่างกายจะได้ปริมาณสารอาหารที่มากเกินความจำเป็นในแต่ละวัน เช่น โซเดียม (พบในเกลือ) ไม่ควรเกลือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน น้ำตาลไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และไขมันไม่ควรเกิน 5-6 ช้อนชาต่อวัน เป็นต้น

หากรับประทานอาหารรสเผ็ดมากเกินไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายบ้าง

ในความเป็นจริงลิ้นของคนเราไม่มีตุ่มรับรสเผ็ด รสเผ็ด คือความรู้สึกร้อน ดังนั้นการรับประทานอาหารรสเผ็ดมากจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหารทั้งหมด อาจจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง รู้สึกปั่นป่วนในท้อง ลำไส้อักเสบ และรู้สึกแสบร้อนบริเวณทวารหนักขณะถ่ายอุจจาระได้

หากรับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไปจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายบ้าง

การรับประทานอาหารรสหวานมากเกินไป คือการที่ได้รับคาร์โบไฮเดรตปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ “อ้วน” ทั้งยังทำให้รู้สึกง่วงนอน และขี้เกียจอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายเสียสมดุลในการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด) เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน หากเป็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วจะทำให้การดูแลยากขึ้น และเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจ และไตวายมากขึ้น

อาหารที่มีไขมันมากเกินไป ทำให้ได้ปริมาณพลังงานที่มากเกินไป โดยไขมัน 1 กรัมให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี (ไขมัน 1 ช้อนชา = 5 กรัม) และไขมันที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ไขมันอิ่มตัว (ส่วนมากได้จากเนื้อสัตว์) และไขมันทรานส์ ซึ่งทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง ลดไขมันตัวดี (HDL) ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา

การรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้นโดยการพยายามขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ และพยายามกักเก็บน้ำไว้ ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารเค็มจึงทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ หากรับประทานอาหารเค็มเป็นประจำจึงทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ไตวาย ทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนัก จนเกิดโรคหัวใจตามมาได้

หากมีอาการเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารรสจัดเกินไปจนเกิดโรคตามมา มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการ และระยะของโรคที่พบว่าสามารถให้การรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง แต่การรักษาที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรค หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากการรับประทานอาหารรสจัดทำอย่างไรได้บ้าง

การรับประทานอาหารรสจัดต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดตามมาอย่างแน่นอน ไม่สามารถป้องกัน ดังนั้นการป้องกันโรคจากอาหารรสจัด คือการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด

เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่เราได้นำมาเสนอในวันนี้พอจะเป็นประโยชน์ให้ใครหลาย ๆ คน ได้บ้างหรือไม่ ทีนี้รู้แล้วใช่ไหมว่าอาหารรสจัดเป็นภัยอย่างไรต่อร่างกาย เเละสิ่งสำคัญคือการดูและและป้องกันโรคจากอาหารรสจัด มีเพียง 1 วิธี ที่ได้ผลแน่นอน คือ การหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดนั่นเอง ข้อมูลที่นำมาในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ นพ.กรกฤษณ์ เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เป็นอย่างสูงที่ให้เกียรติสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องราวของอาหารรสจัดเพื่อให้เราได้นำมาบอกเล่าให้กับทุกคนในวันนี้ ด้วยความปราถนาดีจากพวกเราโปรโตไทป์

ขอบคุณข้อมูลจาก

นพ.กรกฤษณ์ เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ แพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

Share This:

Comments are closed.