breaking news

เปลี่ยน ‘ท่องจำ’ สู่ ‘ทักษะ’ สร้างเด็กไทย ‘มีสุข-คิดเป็น-ทำงานได้

กรกฎาคม 2nd, 2018 | by administrator
เปลี่ยน ‘ท่องจำ’ สู่ ‘ทักษะ’ สร้างเด็กไทย ‘มีสุข-คิดเป็น-ทำงานได้
Education Insider
0

การศึกษาไทยเป็นการเรียนที่พัฒนาด้านทฤษฎี จนนำไปสู่ปัญหาความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แต่กลับกันโรงเรียนแม่อาย มีแนวคิดเสริมสร้างพัฒนาการด้านทักษะการใช้ชีวิตด้วย วิชาเลือกที่จะเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจ เพื่อที่นำทักษะเหล่านั้นไปใช้ในชีวิตจริง

เด็กไทยมีการแข่งขันสูง ในการเข้าสถานศึกษาพบว่าเด็กใช้การท่องจำมากกว่าความเข้าใจ โดยมีตัววัดการเข้าสถานศึกษา คือการสอบทำให้นักเรียน นักศึกษาส่วนมากใช้การท่องจำมากกว่าความเข้าใจในบทเรียนต่างๆ จนนำไปสู่ปัญหาที่ว่ามีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดและการเรียน-ท่อง-สอบ คือภาพที่เห็นได้ชินตาในระบบการศึกษาไทย

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่า รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) เฉลี่ย

22,592 บาท ต่อคน ในช่วงมัธยมปลาย ตัวเลขนี้ดูเหมือนไม่เยอะ แต่สำหรับเด็กที่ครอบครัวไม่ค่อยมีเงินทองถือว่าหนักเอาการ ที่สำคัญพอไปดูคะแนนสอบระดับสากลอย่าง ‘PISA’ ที่จัดสอบทุก ๆ 3 ปี ครั้งล่าสุดในปี 2558เด็กไทยสอบตกกันครึ่งประเทศ เพราะทำข้อสอบที่เน้นทักษะ “คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ” ไม่ได้ ยังไม่นับคำถามว่า “แล้วถ้าบ้านไหนไม่สามารถกวดวิชาล่ะ?” หรือ “แล้วถ้าเด็กคนไหนไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำล่ะ?” จะทำอย่างไรกับพวกเขา? เพราะนั่นคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์จากการศึกษานำไปสู่การมีอาชีพมั่นคงและมั่งคั่ง แต่คนอีกมากไม่มีทักษะเลี้ยงชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพ

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สภาการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านการศึกษากล่าวว่า การเรียนการสอน ในรูปแบบเดิมเป็นการสอนแบบการบอกเล่าแต่ทักษะนั้นเกิดจากการได้เห็นบ่อย ๆ และทำซ้ำ ๆมากกว่าเพียงการบอกให้ท่องจำ ดังนั้นการสอบที่เป็นอยู่จึงไม่สามารถวัดได้ว่าจบมาแล้วจะมีความรับผิดชอบในการทำงาน และบัณฑิตที่จบมานั้นจะมีคุณภาพสถานศึกษาจึงควรเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เน้นการปฏิบัติ มีการวัดผลที่ทำให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นมีความคิดสร้างสรรค์ โดยแสดงผลว่า นักศึกษาได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์หรือไม่

ดร.วิริยะ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน ก็สำคัญมากต่อพัฒนาการของเด็กไทย เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นหาข้อมูลได้เร็ว เพื่อให้เด็กไทยได้เรียนรู้ถึงการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และพัฒนาทักษะต่างๆให้ดีขึ้น ซึ่งหากสถานศึกษาสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว ต่อ ๆ ไปยังสามารถเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของผู้ปกครองได้ ด้วยการส่งต่อ เผยแพร่ความรู้ ให้ผู้ปกครองมองเห็นตัวอย่าง เกิดความเข้าใจ เพราะแม้ท่านจะมีประสบการณ์มาก แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็จำเป็นต้องปรับความเข้าใจของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน พลิกแพลงการสอน เช่น เด็กที่สนใจการทำอาหาร ก็จะไม่ได้เรียนแต่การทำอาหาร หากแต่มีการประยุกต์เอาวิชาการต่าง ๆ แทรกเข้าไป เช่น สอนว่าวัตถุดิบในการทำอาหารแต่ละอย่าง มีสารอาหารอะไรบ้าง นั่นคือวิทยาศาสตร์ ทำเสร็จแล้วก็นำไปขาย ใช้ทักษะการสื่อสารทั้งพูดและเขียน ก็ได้ฝึกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษขายแล้วก็ต้องคิดต้นทุนกำไรเป็น นั่นคือคณิตศาสตร์ รวมถึงเด็กที่สนใจกีฬาหรือดนตรีด้วยเช่นกัน และเมื่อเด็กเรียนอย่างมีความสุข ผลสอบ O-Net ที่เป็นการทดสอบระดับชาติ เด็กที่นี่ก็ทำคะแนนได้ค่อนข้างดี

ด้านอาจารย์เรืองฤทธิ์ อภิวงค์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแม่อายวิทยาคม เนื่องด้วยเกษียณอายุแล้วบอกเล่าอย่างภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสวางรากฐานวิธีการสอนดังกล่าวว่า เพราะเด็กแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน จึงต้องให้มีวิชาเลือก กีฬา ดนตรี ศิลปะ แล้วค่อยนำวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แทรกเข้าไป เพราะเด็ก ๆ อาจเข้าไม่ถึงวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ “เด็ก ๆ อยากจะพัฒนาทักษะต่าง ๆ ในเรื่องที่ตนเองสนใจ อย่างเด็กบางคนชอบศิลปะ เด็กบางคนชอบดนตรี เด็กบางคนชอบการท?ำอาหาร การพัฒนาทักษะเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญต่อเด็ก ๆ ในอนาคต เมื่อโตไป การแข่งขันการเข้าทำงานหรือการเรียนต่อ หากเด็กมีความสนใจที่จะเดินทางชีวิตไปในทิศทางไหน ถ้าเด็กๆได้เรียนรู้ตั้งแต่แรกก็จะสามารถพัฒนาตนเองให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้”

การเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาใหม่ให้เป็นการปฏิบัติ จะสร้างทักษะต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบ มากกว่าเพียงการเรียนรู้แต่ในห้องเรียนเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติความถนัดของแต่ละคน เรียนรู้และเข้าใจตนเอง นำไปสู่การต้องเลือกทางการใช้ชีวิตในอนาคตให้มีคุณภาพ

อาจารย์เรืองฤทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า โรงเรียนส่วนมากไม่ค่อยได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ในด้านที่ชอบทั้งที่เด็กบางคนอาจจะไม่ได้เรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา

ทั้งด้วยเรื่องข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายหรือด้วยสาเหตุอื่นๆดังนั้นหากเด็กๆ มีพื้นฐานในด้านที่ตัวเองชอบ ก็จะสามารถใช้ทักษะเหล่านี้เพื่อประกอบอาชีพ หาเงินเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งระบบการศึกษาไทยควรเปิดช่องทางและโอกาสเหล่านั้น

Share This:

Comments are closed.