breaking news

ช่อง 3 ปรับหมากเน้นโซเชียล ผุด ‘เมลโล่’ ดึงคนดูขนานโทรทัศน์

มิถุนายน 29th, 2018 | by administrator
ช่อง 3 ปรับหมากเน้นโซเชียล ผุด ‘เมลโล่’ ดึงคนดูขนานโทรทัศน์
Social Media Meshup
0

โทรทัศน์สู่ ‘ ออนไลน์ ’ ปรับตัวไม่ยากแค่คิดมากกว่าเดิม

สื่อกระแสหลักอย่าง ‘ โทรทัศน์ ’ มีการแข่งขันสูงมากเพราะมีให้ผู้บริโภคเลือกชมถึง 26 ช่อง ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีในการเพิ่มความหลากหลาย แต่ในทางกลับกันสื่อโทรทัศน์จะต้องแข่งขันกันทุกวินาทีที่ออกอากาศเพื่อให้ได้ยอดผู้ชม และสามารถหารายได้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

นางสาวปาจารีย์ ช่วยบุญ Content Editor ของ CH3 Thailand เปิดเผยกับทีม ‘ Media Literacy ’ว่าการจะประสบความสำเร็จและดึงกระแสคนดูให้อยู่หมัด จำเป็นต้องพัฒนาคอนเทนต์ ให้มีความโดดเด่นแตกต่าง และใช้ประโยชน์จากการปฏิสัมพันธ์ของผู้บริโภคบนสื่อโซเชียล

สำหรับคอนเทนต์หลักของช่อง 3 ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ‘ละคร’ ซึ่งที่ผ่านมา ช่อง 3 ได้สร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับละครเป็นจำนวนมากบนโซเชียลโดยก่อนจะผลิตคอนเทนต์ใด ๆ บนโซเชียล จะต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ดูกระแสบนสื่อโซเชียลก่อนทั้ง Facebook Twitter และ YouTube ข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทุกช่องทาง ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อการวางแผนกลยุทธทั้งสิ้น ทำให้รู้ว่ากระแสในช่วงนั้นๆไปในทิศทางใดทั้งนี้ ยกตัวอย่างละครดังแห่งชาติที่เพิ่งจบไปอย่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ต้องยอมรับว่าช่อง 3 ไม่คิดมาก่อนว่าละครเรื่องนี้จะเป็นที่พูดถึง และถูกใจของผู้ชมมากมายจนกลายเป็นกระแสโด่งดัง และติดอันดับ 1 บนเทรนด์ของทวิตเตอร์ เราจะจับกระแสจากในทวิตเตอร์มาสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์ มาสร้างสรรค์เป็นคอนเทนต์เพื่อลงโปรโมท สร้างกระแสต่อยอดให้กับละคร

ข่าวออนไลน์ปี61 เน้นดู…มากกว่าอ่านต้องจับกระแสและวิเคราะห์ผู้รับสาร

นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ Digital Journalist ของ Workpoint News ให้ข้อมูลกับ ThePrototype ว่าการทำข่าวลงออนไลน์ ภาพรวมเชื่อว่ามีผลต่อการเพิ่มฐานกับการชมบนสื่อโทรทัศน์ ในการนำเสนอบางครั้งจะต้องเชื่อมโยงทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และโทรทัศน์เข้าด้วยกัน เน้นข่าวที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ หรือ แม้แต่นำ Hilight ข่าวทางโทรทัศน์ มาสร้างกระแสลงโซเชียล เพื่อดึงให้คนไปรับชมแบบเต็ม ๆ บนโทรทัศน์

“ สำหรับหลักการเลือกนำเสนอข่าวออนไลน์ของ Workpoint จะต้องเลือกข่าวที่ตรงกลุ่มเป้าหมายต้องสัมผัสกับชีวิตคน เมื่อข่าวสารนั้นตรงกลุ่มเป้าหมายก็จะเกิดการแชร์ข้อมูลบนออนไลน์ และเกิดความสนใจเองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ดังนั้น ต้องคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่าในแต่ละวันคนนิยมเสพสื่ออย่างไร ชอบแบบใด และเราต้องพยายามไปอยู่ในจุดนั้น ”

ทั้งนี้ หากต้องการวัดเรตติ้ง หรือต้องการทราบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร ก็มีตัวช่วยอย่างเครื่องมือ Facebook Insights หรือการดูข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว จะแสดงให้เห็นข้อมูลหลากหลายด้าน ทั้งการกดถูกใจ รวมถึงยังสามารถบอกให้เรารู้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความสนใจแฟนเพจเฟซบุ๊กของเราด้วย เช่น คนที่ติดตามเพจ มีช่วงอายุเท่าใดเพศอะไร ทำงานที่ใด อาศัยอยู่จังหวัดใด เป็นต้นทำให้ทีมมีความสะดวกในการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของแฟนเพจ Workpoint News กลุ่มเป้าหมายที่ติดตามคือกลุ่มวัยทำงานเป็นหลัก ข้อมูลดังกล่าว ทำให้เรามีทิศทางในการนำเสนอข่าวสารหรือสร้างคอนเทนต์ลงช่องทางออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเรตติ้ง กระแสการกดถูกใจบนแฟนเพจ และข้อมูลสำรวจ Engagementของ Facebook

รูปแบบสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนเพจคือคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ รองลงมาคือรูปภาพ และลิงก์เว็บไซต์ นั่นอาจมองได้ว่า คนทั่วไปที่เล่นโซเชียล เมื่อเห็นข้อความเยอะ ๆ แล้วทำให้รู้สึกอยากอ่านน้อยลงกลับกันหันมาชอบการชมคลิปวิดีโอมากขึ้น

ในส่วนของทีม New Media ซึ่งเป็นทีมกำเนิดใหม่ของ Workpoint News จะเน้นสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอที่มีความยาว 1–2 นาที มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องที่จริงจังซีเรียส หรือคลิปสั้นๆสร้างความสนุกให้กับคนดูปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ง่าย รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก และยังใช้เทคนิคใส่ข้อความบรรยายบนวิดีโอ ทำให้เวลาที่อยู่ในสถานการณ์ ไม่สะดวกเปิดเสียง ก็สามารถดูรู้เรื่องได้เช่นกัน

ทีม New Media ของ Workpoint News ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในการเลือกประเด็นที่จะทำลงออนไลน์จะต้องใช้ประสบการณ์ และวิจารณญาณว่า ถ้าคนดูเห็นแล้ว จะต้องมีคนแชร์ ส่วนถ้าประเด็นที่เป็นกระแสอยู่แล้วจะเน้นการทำให้ลึกขึ้น ใช้ประเด็นที่แตกต่างจากคนอื่น ทีม New Media ของฝ่ายข่าวต้องคิดประเด็นนอกกรอบได้

วิทยุยุคโซเชียล หยุดอยู่แค่เสียงไม่ได้!

สำหรับแพลตฟอร์มวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อเก่าที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบัน มีทั้งแอปพลิเคชั่น สตรีมมิ่งเพลง(Streaming) มีจุดเด่นคืออยู่ที่ใดก็ฟังเพลงได้ และไม่มีโฆษณาให้กวนใจเหมือนสถานีวิทยุทั่วไป แน่นอนว่าในแต่ละสถานีต้องมีจุดยืน และปรับตัวอย่างมากเพื่อเพิ่มฐานคนฟัง

นางสาวจริยาพร ธิติกิตติกุล โปรดิวเซอร์ ของFM ONE 103.5 MHz อธิบายว่า ในยุคทองของโซเชียลมีเดีย คนทำวิทยุต้องสร้างกระแสและเกาะกระแสเป็นโดยต้องศึกษาพฤติกรรมของคนใช้โซเชียลมีเดียและใช้ช่องทาง Facebook Instagram Line และ Twitterให้เกิดประโยชน์ในการพูดคุย ปฏิสัมพันธ์ สร้างกิจกรรมและเนื้อหาที่มีเอกลักษณ์และทำให้คนอยากมีส่วนร่วมกับคลื่นวิทยุ ปัจจุบันที่นิยมทำกันมากคือ ทำให้วิทยุมีภาพและเสียงด้วยการทำ Facebook Live เพื่อสร้างความใกล้ชิดเข้าถึงกลุ่มคนฟังให้มากที่สุด คนดูจะสัมผัสถึงความเป็นมิตรของดีเจ รู้สึกว่าเป็นเพื่อนคนฟังได้ไม่ใช่เป็นหุ่นยนต์ที่เปิดไมค์พูดให้จบ ๆ ไป ทำให้อยากติดตามมากขึ้น

นอกจากนี้วิทยุมีคู่แข่งอย่างแอปฟังเพลงคนฟังไม่จำเป็นจะต้องรอฟังเพลงที่ชอบจากวิทยุ เช่น กิจกรรมแจกของรางวัล คอนเสิร์ต แรลลี่ จัดทริปท่องเที่ยวเพื่อสร้างกลุ่มแฟนของคลืนวิทยุไว้

ยุคนี้สื่อต้อง สร้างเอกลักษณ์ต่อยอดจุดเด่นข้ามแพลตฟอร์ม

อาจารย์ต่อสกุล ถิระพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าทุกวันนี้สื่อต้องทำในรูปแบบของตัวเองเพื่อเอาตัวรอดโมเดลทางธุรกิจของสื่อในยุคนี้จึงไม่ได้มีแบบเดียวและมีลักษณะที่แตกต่างกัน สำหรับวิทยุ มองว่าเป็นสื่อที่อยู่แบบเรื่อย ๆ แต่ก็ต้องหาช่องทางรายได้อื่นที่เพิ่มขึ้นเช่น Live สดบน Facebook ลักษณะนี้ถือเป็นการหาลูกค้าในจุดที่วิทยุไปไม่ถึง ต้องใช้หน้าตาของดีเจมากขึ้นเสียงอย่างเดียวไม่พอ การ Live คือการสร้างแบรนด์เพื่อทำให้คนรู้จัก และคิดว่าวิทยุสามารถนำไปต่อยอดได้หลายช่องทาง ยกตัวอย่าง Club Friday ก็เริ่มต้นที่วิทยุหลังกระแสดังขึ้นก็นำเอาเรื่องราวนั้นไปทำเป็นละครลงโทรทัศน์ จุดเด่นของละครคือมีเค้าโครงจากเรื่องจริงแต่ยังต่อยอดไปถึง Club Friday Celeb Stories เป็นเรื่องราวความรักของดารา

การปรับตัวของโทรทัศน์ก็น่าสนใจเช่นกันเพราะทุกวันนี้ มีทั้ง YouTube โซเชียลมีเดีย ที่แย่งคนดูในระดับหนึ่ง มีผลต่อโฆษณาที่หันไปสนใจออนไลน์มากขึ้น ทำให้รายได้ของโทรทัศน์ลดลง ทำให้โทรทัศน์แต่ละช่อง ต้องเริ่มมองหาจุดยืนของตัวเอง รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนเอง เพื่อหารายได้เพิ่มจากออนไลน์ ทดแทนรายได้ที่ลดลงจากโทรทัศน์

ทั้งนี้ นอกจากช่อง 3 จะมีเมลโล่แล้ว ยังมีเว็บไซต์ Bugaboo ของช่อง 7 อีกด้วย จะสังเกตได้ว่าใน YouTube จะไม่มีละครช่อง 7 แต่จะลงในเว็บไซต์Bugaboo เท่านั้น ทำให้สถิติกำไรช่อง 7 ยังสูงเหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่ เว็บไซต์ลักษณะนี้หารายได้จากยอดชม ติด Banner บนเว็บไซต์ หรือแม้แต่การแสดงโฆษณาก่อนชมคลิปวิดีโอ

อาจารย์ต่อสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข่าวหรือคอนเทนต์ออนไลน์ที่ลงเพจ Facebook อาจไม่ได้เหมือนใน Youtube เสียทีเดียว การหารายได้อาจจะยังเห็นไม่ชัด แต่ได้ข้อดีคือด้านชื่อเสียง ความคุ้นเคยของคนมากกว่า เมื่อทำเพจให้คนรู้จักสร้างคอนเทนท์ดีและน่าสนใจ เกิดการแชร์และพูดถึงมากขึ้น รายได้จากโฆษณาก็จะมาเอง

จะเห็นได้ว่าทุกสื่อกระแสหลัก ต้องให้ความสนใจโซเชียลมากขึ้นเพราะโซเชียลถือเป็นกระบอกเสียงที่มาจากประชาชนได้ และเป็นตัวกำหนดทิศทางของสื่อว่าควรทำอย่างไรถึงเอาตัวรอดได้ ดังนั้น ‘เนื้อหาต้องดีมีพื้นที่ของตัวเอง และหากลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ได้’

Share This:

Comments are closed.