breaking news

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย Parative Care

พฤศจิกายน 28th, 2019 | by administrator
การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย Parative Care
Prototype Social Issues by CJ61
0

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วย Palliative Care

จากข้อมูลสถิติของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตในช่วงปีเป็นอันดับต้น ๆ ในปี พ.ศ.2546-2550 คือ โรคมะเร็ง โดยคิดเป็นอัตรา 84.9 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ถึงแม้การแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวหน้ามากขึ้นจากการวิจัย พัฒนา กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือแก่ทั้งแพทย์และผู้ป่วย

ด้วยนวัตกรรมใหม่นี้ทำให้ผู้ใช้บริการสถานพยาบาลมีความมั่นใจมากขึ้นถึงความสามารถของแพทย์ พยาบาล ทำให้เกิดความคาดหวังว่า การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาด ทางด้านครอบครัวผู้ป่วยจึงไม่อาจยอมรับการเสียชีวิตของคนภายในครอบครัวได้ ทำให้มีการลงทุนในการรักษาหรือค่าใช้จ่ายมาก อีกทั้งสำหรับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอาจหมายถึงการยืดความทุกข์ทรมานให้นานขึ้นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการรักษาแบบประคับประคอง หรือ Palliative care เกิดขึ้น ซึ่งนำมาใช้ทั้งในการรักษาทั้งต่างประเทศ และประเทศไทยเอง

Palliative care คืออะไร ?

ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ซึ่งจะสามารถลดความทรมานของผู้ป่วย และจะเน้นการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงจิตวิญญาณของผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าไม่สามารถหายจากอาการป่วยได้ โดยทุกกระบวนการการรักษา ครอบครัวและผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทางทีมแพทย์จะมีกระบวนการการรักษาอย่างมีเป้าหมายและไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น การวางแผนชีวิตก่อนตายเป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากให้เตรียมพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ทำไมถึงต้องมี Palliative care ?

ในอดีต เมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่า เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย หากได้รับการรักษา อาจมีความเป็นไปได้สูงว่า แพทย์จะมุ่งรักษาไปเพียงที่โรคเพียงอย่างเดียว ไม่รักษาด้านอื่น ๆ เช่น จิตใจ หากเป็นโรคที่ไม่มีแผนสำหรับการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวกลับบ้าน ไม่ได้นอนรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากรักษาที่โรงพยาบาลกับการกลับไปรักษาที่บ้านนั้นจะไม่แตกต่างกัน ส่วนในเรื่องของการสื่อสารกับญาติของผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเอง ในบางครั้งญาติของผู้ป่วยจะขอร้องไม่ให้แพทย์บอกโรคของผู้ป่วยให้แก่ผู้ป่วยได้รับรู้ เมื่อผู้ป่วยไม่ได้รับรู้ก็จะเกิดช่องโหว่ปัญหาการสื่อสารและความต้องการระหว่าง ผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย รวมถึงความต้องการของแพทย์เอง สาเหตุของปัญหามาจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้ทราบชื่อโรคที่ตัวเองเป็น ดังนั้นการแก้ปัญหาคือควรสื่อสารกันให้ดี  ครบถ้วน และเข้าใจกันทุกฝ่าย

(คลิปหมอ)

หลักการสำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือการดูแลแบบประคับประคอง คือ

– ให้การดูแลเป็นองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญาณความสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วย เจตคติ ส่วนตัว การให้คุณค่าต่อสิ่งต่าง ๆ ความเชื่อความศรัทธาทางศาสนา การใช้เครื่องช่วยชีวิตเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้าย การเลือกสถานที่เสียชีวิต การร่วมงานศพ และการช่วยเหลือครอบครัวหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว

– ให้การดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพราะเมื่อคนใดคนหนึ่งในครอบครัวเราป่วยหนัก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนอื่น ๆ ในครอบครัวจะได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยไปด้วย

– ให้ความเคารพสิทธิของผู้ป่วยและครอบครัวในการรับทราบข้อมูลการเจ็บป่วย และให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องแนวทางและเป้าหมายในการดูแลรักษา รวมไปถึงการให้ความเคารพในค่านิยม ความเชื่อและศาสนาของผู้ป่วยและครอบครัว

– ปรัชญาของการดูแลจะไม่ใช่เป็นการใช้เครื่องมือหรือความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นเพียงการยื้อความทรมานโดยไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เป็นการเร่งหรือช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าการดำเนินโรคตามธรรมชาติ

– การดูแลจะเป็นการดูแลโดยทีมสหวิชาชีพ มีการประสานงานระหว่างบุคคลากรสาธารณสุขหลายสาขาทั้งแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกายภาพบัด นักจิตวิทยา ทำงานประสานกันและเข้าใจบทบาทของกันและกัน ครอบครัว ผู้ดูแลญาติสนิทมิตรสหายก็เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญกว่าทีมสาธารณสุข ในฐานะผู้ร่วมดูแลและเป็น กำลังใจที่สำคัญของผู้ป่วยรวมไปถึง ความช่วยเหลือจากชุมชน ผู้นำทางศาสนา สมาคม และอาสาสมัครต่าง ๆ  เพื่อให้สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวได้มากที่สุด และที่สำคัญควรตระหนักไว้เสมอว่าครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งของทีม

– การดูแลมีความต่อเนื่องตั้งแต่ในระยะแรกของโรค จนกระทั่งหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต เป็นความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยและประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล กลับบ้านหรือเสียชีวิตแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีสูตรสำเร็จที่เป็นคำตอบ ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ครอบครัว สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการประเมินผลเป็น ระยะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย

ปัจจุบันนี้ได้มีเครือข่ายหน่วยงานและองค์กรบางแห่งที่เกี่ยวข้องในด้านของทางการแพทย์และสังคมได้พยายามเผยแพร่เกี่ยวกับกระบวนและขั้นตอนของ Palliative care  โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 ได้มีการงาน Good Society Expo 2019 รวมหนึ่งแรง…เป็นล้านพลัง ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นหนึ่งใน Social Enterprise ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมในการช่วยเหลือให้คนในสังคม มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทางชีวามิตรจึงได้มีการร่วมกับมูลนิธิเพื่อคนไทยในการจัดงานนี้


นางสาว เพียรพร ว่องวิทวัส กรรมการผู้จัดการ บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

โดย นางสาว เพียรพร ว่องวิทวัส กรรมการผู้จัดการ บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้กล่าวถึงสิทธิการปฏิเสธการรักษาซึ่งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งในขั้นตอนของ Palliative care ไว้ว่า การที่สิทธิการปฏิเสธการรักษายังไม่เป็นที่รู้จักในสังคม เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา เพราะว่าเรื่องของการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์ ในประชาชนวงกว้างยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่มากพอ ในกรณีที่อาการป่วยไม่สามารถรักษาได้แล้ว เมื่อรักษาต่อไป ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังเกิดเป็นความทุกข์ทรมานต่อตัวของผู้ป่วยเอง

“ถามว่าถ้าหากเป็นตัวเรา รักษาไม่หายแล้ว อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรืออยากจะถูกทรมาน ทุกคนคงเลือกที่จะไม่อยากถูกทรมาน แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ว่ายังมีทางเลือกของ การดูแลแบบประคับประคองอยู่ การดูแลแบบประคับประคองจะเข้ามาช่วยในการทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และในขณะเดียวกันยังคงให้การรักษาไปตามอาการของโรค” นางสาว เพียรพร กล่าว

Share This:

Comments are closed.