breaking news

หน้ากากอนามัยใส่ให้เป็น เลือกให้ถูก รู้สถานการณ์

กรกฎาคม 2nd, 2018 | by administrator
หน้ากากอนามัยใส่ให้เป็น เลือกให้ถูก รู้สถานการณ์
GURU
0

เครื่องมือป้องกันมลพิษและเชื้อโรคทางอากาศ เรื่องใกล้ตัวที่สามารถจัดการโดยไม่ต้องสับสนกันอีกต่อไป ทั้งการสวมใส่ เก็บรักษา และการทำลายอย่างถูกวิธี

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในจังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ ในสถานการณ์ PM 2.5 ทำให้ประชาชนหันมาสนใจการใส่หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันมลพิษและเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งหน้ากากอนามัยที่เราเห็นกันทั่วไปมีหลากหลายแบบ เเละได้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ ด้าน เช่น ป้องกันฝุ่นละออง ป้องกันเชื้อโรคหรือใช้ทางการแพทย์ โดยแต่ละแบบก็จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและการใช้งานที่แตกต่างกันไป ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจเคยได้ใช้หน้ากากอนามัยกันมาบ้าง แต่หน้ากากที่เลือกใช้นั้นเหมาะสมกับโอกาสที่ต้องใช้หรือไม่?

ทีมข่าว The Prototype ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสุพจน์ อารีย์อุสมาน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ที่มาเปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากอนามัยมีหลายประเภท จึงต้องเลือกใช้แบบที่มีมาตรฐาน เลือกใส่ให้ถูกหลักและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ดังนั้นผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องทราบชนิด ปริมาณของสารอันตรายและระยะเวลาที่สัมผัส เพื่อเลือกชนิดของหน้ากากที่จะใช้ได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญจะต้องผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน

โดยหน้ากากอนามัยแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะของหน้ากากและประสิทธิภาพการกรองอากาศ ประเภทแรก คือ หน้ากากอนามัยสำหรับ ใช้ครั้งเดียวหรือหน้ากากทั่วไปที่มีการขายตามท้องตลาด เช่น หน้ากากสีฟ้า สีเขียว หน้ากากเหล่านี้ใช้เพื่อลดการรับฝุ่นละอองเวลาหายใจเข้า โดยหลักแล้วจะใช้ในการป้องกันการกระเด็นของน้ำลายและสิ่งต่างๆ ที่จะออกจากตัวเรามากกว่าการป้องกันฝุ่นละออง หรือเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ตัวเรา หน้ากากชนิดนี้จะสามารถกรองฝุ่นละอองได้ 5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถป้องกันฝุ่นละออง Pm 2.5 ได้

ประเภทที่สอง คือ หน้ากากกรองอากาศหรืออุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ (หน้ากากอนามัย N95) หน้ากากประเภทนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสามารถกรองขนาดฝุ่นได้ถึง 0.3 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 7 เท่า โดยในสถานการณ์ Pm 2.5 ที่เคยเกิดขึ้น ควรใช้หน้ากากชนิดนี้เพราะสามารถป้องกันฝุ่นละอองจำพวกนี้ได้ สำหรับการใช้หน้ากากจะมีข้อจำกัดในการใช้ เพราะยิ่งมีประสิทธิภาพในการกรองได้สูง การถ่ายเทของอากาศก็จะยิ่งน้อยลง ผู้ที่ใช้อาจจะรู้สึกอึกอัดได้ เวลาหายใจเข้าจะไม่สะดวกเหมือนการใช้หน้ากากแบบอื่น แต่ประสิทธิภาพป้องกันได้ดีกว่า

อีกหนึ่งข้อสงสัยที่เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนกับวิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบทั่วไปที่มีหลากสีอยู่ ซึ่งวิธีการสังเกตให้หันด้านสีออกขณะใช้งาน เพราะรอยพับของผ้าอีกด้านจะกักเก็บน้ำลายที่เกิดจากการไอจามได้ดีกว่า หากหน้ากากอนามัยเป็นสีขาวทั้งสองด้านให้นำ ด้านที่หยาบหันออกด้านนอกและอีกหนึ่งข้อสังเกต คือรอยพับของหน้ากากด้านที่หยาบจะเป็นรอยพับลง

การใช้หน้ากากอนามัยยังมีผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น คือ หน้ากากอนามัยบางยี่ห้อที่ใช้กันทั่วไปจะมีเนื้อสัมผัสที่สาก เวลาสวมใส่นานๆ จะรู้สึกเจ็บที่ผิวหน้า ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และอาจจะพบปัญหาจากการใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้ในผู้ที่มีโรคประจำตัว คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบ หืด โรคปอด และทางเดินหายใจ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากลมหายใจผ่านเข้าออกได้ยากขึ้น เพราะแรงต้านภายในอาจทำให้หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก เมื่อยล้า ปวดศีรษะ มึนงง หรือคลื่นไส้ กลุ่มคนเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ถ้าจะใช้หน้ากากชนิด N95 และควรรีบหยุดใช้หากเกิดอาการดังกล่าว

ส่วนการเก็บรักษาหน้ากากอนามัย เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสุพจน์ กล่าวว่า การเก็บรักษาหน้ากากอนามัยชนิด N95 จะต้องเก็บไว้ในที่ที่ไม่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการพับงอ เพราะถ้าเกิดการพับงอหรือเกิดรอยยับจะทำให้ประสิทธิภาพกรองเชื้อโรคลดลง หน้ากากต้องมีผิวเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีขอบคมและรอยเปื้อน ส่วนหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป ควรเก็บรักษาให้พ้นจากการทำให้หน้ากากปนเปื้อนกับสิ่งแปลกปลอม หากนำมาใช้ ส่วนด้านนอกและด้านในของหน้ากากจะต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติและไม่มีรอยตำหนิใดๆ จะต้องคุมจมูกและปาก สายคล้องหรือสายรัดจะต้องไม่ฉีกขาด และสิ่งที่ควรทำก่อนนำหน้ากากอนามัยทุกๆ ประเภทมาใช้ คือ ตรวจเช็คหน้ากากอนามัยอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ชัดว่าหน้ากาก อนามัยที่เลือกใช้ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกัน

หลังจากนำหน้ากากอนามัยมาใช้แล้ว การจัดการหลังใช้ก็มีความสำคัญไม่แพ้การเก็บรักษา เพราะหากใช้แล้วไม่ทำลาย เชื้อโรคอาจจะแพร่กระจายให้ผู้อื่นได้รับเช่นกัน ดังนั้นควรจัดการกับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม สำหรับนักเรียน ประชาชนหรือบุคคลทั่วไป (เฉพาะรายบุคคล) เมื่อใช้แล้วให้นำไปใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้แน่นจากนั้นทิ้งในถังขยะทั่วไป สำหรับในสถานที่ที่เป็นสาธารณะหรือสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ควรมีการแยกถังขยะสำหรับหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ ซึ่งลักษณะของถังขยะจะต้องมีถุงพลาสติกกรองรับด้านในอีก 1 ชั้น และมีสติ๊กเกอร์หรือข้อความระบุว่าเป็นถังขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วติดไว้อย่างชัดเจน ส่วนในโรงพยาบาลให้ใช้วิธีการจำกัดเช่นเดียวกับการกำจัดขยะติดเชื้อ โรงงานอุตสาหกรรม ให้นำหน้ากากกรองอากาศที่ใช้แล้วใส่ถุงพลาสติกให้มิดชิดแล้วนำไปทิ้งในถังขยะอันตราย และสิ่งสำคัญคือ ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากทิ้งหน้ากาก

การใช้งานหน้ากากอนามัยจะมีประโยชน์สำหรับการป้องกันสุขภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือป้องกันไม่ได้ 100% เพราะหน้ากากอนามัยส่วนใหญ่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงประมาณ 80%ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุ หากเป็นหน้ากากชนิด N95 จะป้องกันได้ 95%ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้หน้ากากอนามัยยังมีโอกาสเสี่ยงต่อติดเชื้อได้และหน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ทุกชนิด แต่จะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ทดสอบว่าป้องกันเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างเจาะจง ดังนั้น หน้ากากอนามัยจึงไม่สามารถใช้ป้องกันโรคใดโรคหนึ่งได้โดยเฉพาะ และสามารถใช้ได้แค่ครั้งเดียว เพราะหน้ากากอนามัยเกือบทุกชนิดจะเป็นชนิดใช้แล้วทิ้ง นำกลับมาใช้ซ้ำหรือทำความสะอาดไม่ได้ เนื่องจากใช้แล้วเชื้อโรคจะติดอยู่กับหน้ากากอนามัย หากใช้ซ้ำก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

Share This:

Comments are closed.