breaking news

“กีฬาสีมัธยม” มายาคติค่านิยมการแพ้ไม่เป็นผ่านเม็ดเงิน

“กีฬาสีมัธยม” มายาคติค่านิยมการแพ้ไม่เป็นผ่านเม็ดเงิน

พฤศจิกายน 27th, 2015
Special Report

11220794_1528596190796849_7140425152108286336_n1

             กิจกรรมกีฬาสี เป็นหนึ่งกิจกรรมในรั้วสถานศึกษา ที่จัดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความสามัคคี แต่ในปัจจุบัน กิจกรรมกีฬาสีได้แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคม ในแง่ของการสร้างค่านิยมการอยากเอาชนะ โดยมีเรื่องของศักดิ์ศรีมาเกี่ยวข้อง ทุกวันนี้การจัดกิจกรรมกีฬาสีจึงไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเพิ่มความสำคัญให้กิจกรรมสันทนาการมากขึ้น


cats4

“อยากชนะบ้าง คือจริงๆแล้วกองเชียร์สีหนูเคยชนะมาก่อน แต่หลังๆมานี้โดนสีอื่นโค่นแชมป์ไป ปีนี้เลยอยากเอาชนะให้ได้ เพราะทุกวันนี้คนไม่สนใจดูกีฬาแล้วหันมาสนใจกองเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์และขบวนพาเหรดแทน จึงต้องจ้างคนสอนเต้น แม้งบที่ได้จะไม่พอ หนูก็ยอมใช้เงินตัวเองจ่าย”

             นี่คือเสียงสะท้อนของนักเรียนโรงเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังซ้อมเต้นเชียร์ลีดเดอร์ เพื่อแสดงในงานกีฬาสีของโรงเรียน โดยมีคนรับจ้างสอนเต้นกำลังทำการสอนและควบคุมการซ้อมนั้น
IMG_5697
             สาเหตุของการจ้างที่สะท้อนจากนักเรียนเหล่านี้คือ“การจ้างคนสอนเชียร์ลีดเดอร์จะสามารถทำให้ชนะการแข่งขันได้” เนื่องจากความครบครันทั้งในแง่ของอุปกรณ์เชียร์ ธีมของกองเชียร์ ชุดเชียร์ หรือแม้กระทั่งท่าเต้นและเพลงที่ใช้ประกอบการเชียร์ โดยองค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้ คนรับจ้างสอนจะคิดและออกแบบทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาคิดและสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง เพียงแค่จ่ายค่าจ้างและซ้อมตามเวลาที่ผู้สอนกำหนด
             จากการสอบถามประธานคณะสีของโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ถึงการจัดแจงงบประมาณที่ได้รับจากทางโรงเรียนจำนวน 30,000 บาทไปใช้ในส่วนต่างๆ ซึ่งแต่ละสีมีการวางแผนการใช้งบที่ต่างกัน บ้างแบ่งตามความเหมาะสม เช่น ส่วนนักกีฬา บางสีนอกจากค่าอาหารและน้ำแล้ว จะมีเพิ่มเติมในเรื่องการทำเสื้อเพื่อใช้แข่ง หรือบางสีจะใช้ชุดพละของโรงเรียน กรณีแรกจะให้จ่ายเงินมากกว่ากรณีที่สอง

IMG_5699

             ส่วนกิจกรรมประกอบด้านความบันเทิง เช่น กองเชียร์ และขบวนพาเหรด จะเป็นส่วนที่ได้รับการจ่ายงบประมาณมากกว่าส่วนอื่น  ซึ่งประธานในแต่ละสีต่างให้เหตุผลว่า เนื่องจาก อุปกรณ์ประกอบการเชียร์มีราคาแพง อีกทั้งการจ้างคนสอนเชียร์ลีดเดอร์ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่ต้องให้งบประมาณในส่วนนี้มากกว่าส่วนอื่น
             เมื่อสอบถามถึงงบประมาณที่ได้รับว่าเพียงพอหรือไม่ ประธานคณะสีตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เพียงพอ ซึ่งได้มีการแก้ไขปัญหา ด้วยการเก็บเงินจากสมาชิกในสีเพิ่ม หรือนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ประจำสีต้องจ่ายเงินในส่วนที่เกินงบของเชียร์ลีดเดอร์ด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนมากยินยอม เพื่อชัยชนะของสีตนเอง

“ยุคสมัย วัฒนธรรมและรูปแบบการเต้นที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการสอนมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องท่าเต้นซึ่งในปัจจุบันต้องเปลี่ยนเป็นท่าที่มีความยาก เช่น การตีลังกา ถึงจะเสี่ยง แต่ถ้าสามารถเรียกความสนใจจากคนดูได้ ก็จำเป็นต้องสอน เพราะถ้าไม่มีท่ายากเหล่านี้นักเรียนจะสู้คู่แข่งไม่ได้”

             คุณอนิวัฒน์ อยู่เจริญ (เบิร์ด) คนทำอาชีพสอนเชียร์ลีดเดอร์ได้แสดงถึงมุมมองต่อการพัฒนากิจกรรมกีฬาสีในปัจจุบัน ว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามา ทำให้การออกแบบโชว์เชียร์ลีดเดอร์ต้องเปลี่ยนตาม
             นอกจากสาเหตุเรื่องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและเทคโนโลยีแล้ว ในปัจจุบันกิจกรรมกีฬาสีได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมสันทนาการมากขึ้น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชีพรับจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ขึ้น

IMG_5694

             ความสวยงามและชัยชนะที่แลกกับการลงทุน งบประมาณของเด็กนักเรียนก็ต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะในปัจจุบันเรื่องสำคัญในการเชียร์ คือ อุปกรณ์ที่ดูยิ่งใหญ่ อลังการ เพลง จังหวะกอง หรือแม้กระทั่งตัวของเชียร์ลีดเดอร์เอง ทั้งท่าเต้นที่จะต้องเสียง ยากและสร้างความแปลกตา หรือแตกต่างจากสีอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อก่อน
             ในเรื่องของเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากเด็กนักเรียนที่จ้างนั้น คุณอนิวัฒน์ เปิดเผยว่า ส่วนมากแล้วผู้สอนจะไม่ทราบรายละเอียดที่มา แต่พอทราบบ้างว่างบประมาณที่ได้จากทางโรงเรียนนั้นไม่พอ ซึ่งเด็กนักเรียนเหล่านี้จะนำเงินส่วนตัวของตัวเองจ่ายหรือเก็บเงินสมาชิกคนอื่นในสีเพิ่ม
             ส่วนการแก้ไขปัญหา คุณอนิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า  ควรแก้ไขจากทางโรงเรียนโดยการบังคับเรื่องงบประมาณในการใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง จากการกำหนดนโยบาย เช่น งดฉาก งดเอฟเฟ็กซ์ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนได้

“กิจกรรมกีฬาสีสร้างค่านิยมของการแพ้ไม่เป็นให้กับนักเรียนและทำในสิ่งที่เกินตัว”

             ด้านนักวิชาการ  ธาม เชื้อสถาปนศิริ  นักวิชาการ สถาบันสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้กล่าวถึงแนวคิดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมกีฬาสี คือ เพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้ทำงานร่วมกัน ที่มีการแข่งขัน เพราะการแข่งขันจะสามารถพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ว่า ถ้าเมื่อเรามีกลุ่มและมีคู่แข่ง จะพัฒนาตนเองหรือกลุ่มให้เป็นเลิศได้อย่างไร
             แต่ในปัจจุบันกีฬาสีมีกิจกรรมอื่นที่ผนวกรวมเข้ามา เช่น กองเชียร์ ดรัมเมเยอร์ เชียร์ลีดเดอร์ การให้ความสำคัญกับกิจกรรมปรุงแต่งอื่นๆ เช่น กิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมบันเทิง ทำให้กีฬาสีถูกแปลงความหมายเป็นกิจกรรมบันเทิง
             ในช่วงยุคหลังเมื่อวัฒนธรรมของการแข่งขันกีฬาหายไปเหลือเพียงวัฒนธรรมแข่งขันความบันเทิง เด็กรุ่นหลังจึงรู้สึกว่าจะแพ้หรือชนะนั้น ขึ้นอยู่กับการดึงความสนใจหรือดึงดูดสายตาของผู้ชมได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบันเด็กและเยาวชนส่วนมากมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่ร้อง เล่น เต้น หรือสีสันของกองเชียร์ ซึ่งได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของงานกีฬาสี และได้ทำลายแก่นแท้ของการทำงานเป็นทีมไป

07

             อีกทั้งการบริหารทรัพยากร ในรูปแบบของงบประมาณจากโรงเรียน ซึ่งในยุคหลังเม็ดเงินสนับสนนุจากทางโรงเรียนไม่เพียงพอ เนื่องจากนักเรียนเกิดความรู้สึกว่าการแพ้การชนะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ
             ในส่วนของการแก้ไขปัญหา คุณธาม แนะว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดกับตัวเด็กมากที่สุด ผู้ปกครองต้องมีการปรับทัศนคติบุตร ว่าไม่ต้องเลียนแบบคนอื่นเสมอไป ไม่ต้องประสบความสำเร็จให้ได้ทุกเรื่อง
             โรงเรียนซึ่งเปรียบเป็นบ้านหลังที่สอง ต้องสอนให้เด็กรู้จักมองผู้อื่นมากกว่าตนเอง สอนเด็กให้เป็นตัวของตัวเอง เพราะปัจจุบัน หลายต่อหลายโครงการที่จัดให้เด็กได้เข้าร่วมนั้น ทำให้เด็กมองเห็นเพียงเป้าหมายของตนเอง อนาคตของตนเอง จนละเลยการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ

“วัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมกีฬาสีไม่เปลี่ยน แต่คนที่จัดกีฬาสีต่างหากที่ทำให้เปลี่ยน วัตถุประสงค์เดิมคือความสามัคคีแต่พอมีการแบ่งสี นักเรียนจะคิดถึงความสามัคคีในสีเท่านั้น อยู่ที่ครูและอาจารย์ต้องสื่อสารกับเด็กว่า เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมแล้วทุกคนคือเพื่อนกันเหมือนเดิม”

             โดยอ.เกษรา คทาวุธวัฒน์ อาจารย์ฝ่ายแนะแนว โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสายไหม เผยถึงมุมมองจากทางโรงเรียนต่อการพัฒนาการของงานกีฬาสีเช่นเดียวกับคนจ้างสอนเชียร์ลีดเดอร์ว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น การสื่อสาร และความสามารถในการบันทึกการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเชียร์ลีดเดอร์ แล้วมีการเผยแพร่ลงบนสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการเลียนแบบกันขึ้น
             โดยทางโรงเรียนเองถือได้ว่าเป็นหนึ่งตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดค่านิยมเหล่านี้ คือ คำพูดจากอาจารย์ที่ว่าพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด  หรือรุ่นพี่มัธยมศึกษาปีที่ 6  ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการศึกษาในโรงเรียนแห่งนั้นๆ มีความคิดว่าต้องมีผลงานให้เป็นที่รับรู้โดยทั่ว เป็นความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ จนทำให้วัตถุประสงค์ของงานกีฬาสีเปลี่ยนไป
             โดยแนวทางการแก้ไขคือ ทางโรงเรียนคุณครูหรืออาจารย์ต้องอธิบายวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดกิจกรรมกีฬาสีให้เด็กนักเรียนเกิดความเข้าใจ ว่าสุดท้ายแล้วกีฬาสีไม่ใช่ที่สุดของชีวิตมัธยมปลาย

cats3

             ในส่วนของผู้ปกครอง เจมี่ คริสซี่ มองว่าหากกิจกรรมที่ลูกได้เข้าร่วมนั้น สามารถส่งเสริมให้ลูกมีความกล้าแสดงออกและได้ทำในสิ่งที่ลูกชอบก็พร้อมให้การสนับสนุน เช่น การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งในปัจจุบัน การจ้างคนมาสอนนั้นก็เป็นลักษณะของการเหมาจ่าย มีทุกอย่างครบครัน โดยที่ลูกไม่ต้องลำบากคิดการแสดงหรือหาอุปกรณ์เอง
              สำหรับกรณีการอยากมีชื่อเสียง การมีตัวตน และเป็นที่รู้จักหรือการมีจุดยืนในสังคมนั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กเยาวชนในสมัยนี้ ผู้ปกครองก็ทำได้เพียงเตือนและแนะนำว่าต้องมีความอดทน  และไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้คนยอมรับ เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด”

            ค่านิยมผิดๆนี้ มีความจำเป็นต้องร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไข ก่อนจะหยั่งลึกในสังคมไทยจนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทยเลือกที่จะมองคุณค่าของการเอาชนะ การมีศักดิ์ศรีของกลุ่มตน เพื่อแลกกับความสูญหายของวัฒนธรรมอันดีที่มีมาแต่เดิม

ธัญวรัตน์  คงถาวร
ปาณิสรา  บุญม่วง
วิภาวี  ศรีบุญเรือง
สุวรรณา  พลับจุ้ย
อรอนงค์  วงศ์สิงหะกุล

Share This:

Comments are closed.