อดีตผู้ดูแลทุกโซเชียลในเครือไทยรัฐ เผยช่องทางการทำรายได้ของผู้ผลิตข่าวปลอม พร้อมทั้งแนะนำผู้เสพสื่อร่วมกันหยุดแชร์และส่งเสริมข่าวปลอม
นายระวี ตะวันธรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล Spring Cooperation และอดีตบรรณาธิการฝ่ายโซเชียลมีเดียหรือผู้ดูแลทุกโซเชียลในเครือไทยรัฐ กล่าวถึงกรณีการอ่าน หรือแชร์ข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากทางด้านดิจิทัล หากมองในมุมของผู้สร้างเว็บไซต์ข่าวปลอมไม่ว่าใครก็สามารถสร้างเว็บไซต์ทำข่าวปลอมและนำมาลงในเฟซบุ๊ก โดยที่เฟซบุ๊กจะหาโฆษณามาให้เพียงแค่มีเนื้อหาลงบนเว็บไซต์และมีผู้ติดตามหรือมีการกดแชร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางให้คนหันมาหารายได้ทางนี้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ข่าวปลอมจะมีการพาดหัวให้น่าตื่นเต้น ตะลึง และชวนเชื่อ ซึ่งมักพบเห็นบ่อยผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยเฟซบุ๊กจะมีการโฆษณาให้แบบไม่จำกัด เพราะเฟซบุ๊กไม่ทราบว่าคอนเทนต์ที่เป็นภาษาไทยนั้นจริง
ขณะเดียวกันเมื่อข่าวปลอมมีจำนวนมาก ซึ่งการหารายได้ก็ง่ายมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นสำนักข่าวหรือองค์กรข่าวก็สามารถเขียนข่าวได้ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากจำนวนประชากรประเทศไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละช่วงอายุไม่ทราบข่าวประเภทใดเป็นข่าวปลอม เช่น คนบางกลุ่มทราบว่าหากเจอข่าวปลอมบนเว็บไซต์ ก็จะทราบทันทีว่าสามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากองค์กรสื่อหลัก เช่น ไทยรัฐ เดลินิวส์ เป็นต้น แต่ในทางกลับกันผู้เสพสื่อบางกลุ่มไม่สนใจการตรวจสอบข่าว แต่สนใจแค่พาดหัวข่าวที่ดึงดูด หวือหวา หรือชวนเชื่อ จึงทำให้เกิดเป็นข่าวปลอมที่แพร่ระบาดควบคุมยากจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้สื่อหลักต้องปรับตัวและทำงานร่วมกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลมีเดียให้ได้ เช่น เมื่อพบว่ามีข่าวปลอมเกิดขึ้น สิ่งที่สื่อทำได้ คือ การหาข้อเท็จจริงของข่าวนั้นให้คนดูทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข่าวที่แชร์ไปไม่ใช่ข่าวจริง “ยกตัวอย่างตอนที่ผมทำงานที่ไทยรัฐผมเคยเจอเว็บไซต์ทำข่าวปลอมพบว่ามีคนทำเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ไทยเล็ด” และใช้โลโก้เหมือนกัน รวมทั้งการพาดหัวข่าว ซึ่งวิธีการตรวจสอบผมได้ติดต่อไปขอคุยกับเจ้าของเพจ ว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องและหลายครั้งที่เพจข่าวปลอมพยายามโพสต์ ผมก็จะนำข่าวจริงไปแปะใต้คอมเม้นและคนดูก็จะเลือกเปิดรับเอง จากการพูดคุยกับเจ้าของเพจปลอมเขาได้อ้างว่าอยากทำเล่นๆ ทำเอาสนุก แต่ผมต่อรองและใช้เงื่อนไขทางกฎหมายในการเจราจา เขาก็เงียบหายไป” วิธีการนำเสนอสื่อจริงกับข่าวปลอมจะไม่เหมือนกันหากนำไปเปรียบเทียบเว็บต่อเว็บ ดังนั้นคนอ่านข่าวจะดูออกอันไหนข่าวจริงหรือไม่จริง
ทั้งนี้ประชาชนหรือผู้เสพข่าวทั่วไปก็สามารถฟ้องร้องได้หากเจอข่าวปลอม เพราะความทันสมัยของดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เฟซบุ๊กมีปุ่มกดรีพอร์ต ซึ่งจริงๆ ตนเองสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปเมื่อพบเจอข่าวปลอมแล้วรู้ว่าไม่ใช่สื่อทั่วไปแน่นอน ให้ช่วยกันกดรีพอร์ตเมื่อกดรีพอร์ตแล้วเฟซบุ๊กจะสะสมชื่อไว้ ซึ่งการกดรีพอร์ตนั้นต้องช่วยกันเยอะๆ เพราะการกดรีพอร์ตเยอะ ๆ ทำให้เฟซบุ๊กรู้ว่าเพจนี้ไม่ปกติและจะถูกปิดไปอัตโนมัติ ทำให้ผู้ผลิตข่าวปลอมหมดช่องทางในการสร้างรายได้ ซึ่งตอนนี้เฟซบุ๊กในต่างประเทศพยายามทำแฟซก์เช็กเกอร์ คือ ติดธง เช่นดูว่าข่าวไหนเป็นข่าวจริงที่มาจากสื่อจะมีรูปธงติดอยู่ใต้มุมของข่าวนั้น ขณะที่กูเกิล ล่าสุดปีหน้าก็จะทำ เพราะการค้นหาข่าวในกูเกิลหนึ่งข่าวนั้นจะขึ้นสำนักข่าวมาและอาจจะมีข่าวปลอมอยู่ในนั้น แต่อันไหนที่เป็นข่าวจริงจะเขียนคำว่า แฟกซ์เช็กเรียบร้อยแล้วหรือมีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วและอีกหลายแพลต์ฟอร์มก็พยายามจะทำเรื่องข่าวจริงให้ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยอย่างเดียวทุกประเทศมีข่าวปลอม แต่จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้รับสาร คนดู คนอ่าน ถ้ายังมีคนอ่าน คนติดตาม มีคนคอมเม้น คนแชร์ คนไลค์เยอะ สาเหตุที่นำไปสู่ข่าวปลอมก็เพิ่มมากขึ้นและธุรกิจนี้ก็จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อไรที่คนอ่านไม่สนใจ ข่าวปลอมเหล่านี้ก็จะหายไปเอง
อย่างไรก็ตาม วิวัฒนาการต่อไปในปีหน้าคาดว่าข่าวปลอมจะลดลง เนื่องจากเฟซบุ๊กเริ่มลดทอนการมองเห็นของเพจลงไปมาก ปัจจุบันคนไทยมีความแข็งแรงและมีความเข้าใจในเรื่องของข่าวปลอมข่าวจริงมากขึ้น จึงทำให้คนเริ่มพัฒนาการเรียนรู้ หากรู้ว่าข่าวปลอมจะไม่แชร์ ไม่อ่าน ไม่ดู เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นสื่อบนโซเชียลที่ควบคุมคนไทยทั้งหมดถ้าข่าวปลอมลดลงก็จะลดการควบคุมลงด้วย คนก็เห็นข่าวปลอมน้อยลง และข่าวปลอมเหล่านี้ก็จะหายไปในที่สุด