นายพีรวัฒน์ โชติธรรมโม ผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการ สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกับสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อกระแสหลัก นัก ข่าวยุคนี้จึงต้องอาศัยความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้สื่อข่าวเองควรมีการตรวจสอบข้อมูล แหล่งที่มา และกลั่นกรองความถูกต้องของเนื้อหา ซึ่งไม่เพียงแค่หา ข้อมูลจาก กูเกิล หรือ นำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอเป็นข่าว ซึ่งอาจทำให้สื่อมวลชนตกหลุมพรางของกลุ่มคนที่สร้างข้อมูลเท็จขึ้นมา เพื่อให้นักข่าวที่ไม่ตรวจสอบข้อมูล นำข้อมูลเหล่านี้ไปนำเสนอ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย
ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาดจากการขาดกระบวนการตรวจสอบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ที่เหมาะสม เช่น กรณีแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ที่สำนักข่าว ASTVผู้จัดการ ได้นำเสนอข้อมูลนี้บนเว็บไซด์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ขาดการตรวจสอบข้อมูล หรือกรณีหนังสือพิมพืเดลินิวส์ถูกข้อมูลจากเพจดักควายลวง จนนำไปเสนอผ่านสื่อแบบผิดๆ เป็นผลทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและยังลดความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวอีกด้วย
ทางด้านนางสาวศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้จัดการส่วนดิจิทัลคอนเทนท์ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวีเผยว่า สื่อมวลชนเป็นผู้มีความพิเศษ ที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ใช้ความพิเศษนั้นในการทำข่าวขาดวิจารณญาณในการเลือกหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนเองก็จะไม่ต่างอะไรกับสื่อภาคประชาชน โซเชียลมีเดีย เองเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้สิ่งที่เราต้องการนำเสนอมันไปได้ไกลขึ้นรวดเร็วขึ้น มีภาพหรือวีดีโอประกอบชัดเจน ทุกคนมีเครื่องมือสื่อสารของตัวเองซึ่งสื่อมวลชนต้องสร้างความแตกต่า สื่อภาคประชาชน โดยมีการสัมภาษณ์ ยืนยันจากแหล่งข่าวมีการตรวจสอบกลั่นกรองข้อมูล นำเสนอในสิ่งที่ถูกต้องไม่ตกหลุมพรางของข้อมูลที่ถูกบิดเบือนความจริง
อย่างไรก็ตาม นายพีรวัฒน์ ยังกล่าวเสริมว่า ในส่วนของสื่อมวลชนต้องไม่เป็นผู้ที่สร้างหลุมพรางขึ้นมาเอง เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ผู้รับสารคล้อยตาม ซึ่งผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ สิ่งที่ผู้สื่อข่าวทำได้คือ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นความจริงตั้งอยู่บนความถูกต้องและสามารถพิสูจน์ได้ เพราะในบางเรื่องอาจมีทั้งความจริงและความเท็จปะปนอยู่ สื่อมวลชนต้องเป็นผู้กลั่นกรองข้อมูลนำเสนอความจริงไม่เอนเองไม่ทำให้สังคมสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทางด้านผู้รับสารต้องมีความรู้เพิ่มมากขึ้น ไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารที่ได้รับโดยที่ยังไม่พิจารณา เพราะโซเชียลมีเดียแม้จะรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย แต่ความถูกต้องแม่นยำและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก็ลดน้อยลงด้วยเช่นกัน และในบางครั้งก็อาจมีสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลดูน่าเชื่อถือ ซึ่งในความจริงนั้นอาจมีความเท็จแฝงอยู่ด้วย ดังนั้นองค์ความรู้ และวิจารณญาณ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้รับข่าวสารควรมีในยุคดิจิทัล.