breaking news

สื่อไร้จิตสำนึก … เรตติ้งหรือจรรยาบรรณ สิ่งไหนควรมาก่อน ?

เมษายน 2nd, 2015 | by administrator
สื่อไร้จิตสำนึก … เรตติ้งหรือจรรยาบรรณ สิ่งไหนควรมาก่อน ?
Media Literacy
0

      เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนของไทยต้องกลับมาพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณของสื่อกันใหม่อีกครั้ง

หลังเกิดกระแสวิพากย์วิจารย์อย่างหนักในเชิงลบเกี่ยวกับการล้อเลียน ด.ญ.วัลลี ณรงค์เวทย์ หรือ คุณวัลลี บุญเส็ง ที่ในอดีตเธอได้เลี้ยงดูแม่ที่ป่วย และยายที่พิการทางสายตาเพียงลำพัง ซึ่งเธอได้รับการยกย่องว่าเป็น “เด็กหญิงยอดกตัญญู” โดยสื่อมวลชนในปัจจุบันได้นำเรื่องราวของเด็กหญิงวัลลีไปล้อเลียนผ่านรายการตลกชื่อดัง ซึ่งคลิปรายการได้ถูกนำไปเผยแพร่ผ่าน Youtube โดยมีผู้คลิกชมวิดีโอเรื่องราวที่ถูกนำไปล้อเลียนมากกว่า 1 ล้านวิว โดยเรื่องราวทั้งหมดส่งผลกระทบต่อจิตใจเธอเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ วัลลี จึงแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ผลิตรายการในคดีหมิ่นประมาท และผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษชนของตนเอง ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว ยังคงมีการดำเนินคดีกันอย่างยืดเยื้อ ตั้งแต่ วันที่ 17 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา

.

……….          จากเหตุการณ์นี้ สื่อมวลชนได้กระทำผิดหลักจริยธรรมขั้นต่ำและแนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพกระจายเสียงและโทรทัศน์ ในหลักการที่ 2 คือ สิทธิมนุษยชน สิทธิส่วนบุคคล สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ข้อมูลส่วนบุคคล

……….          โดยในเนื้อหาระบุไว้ว่าในการผลิตรายการผู้ปฏิบัติงานต้องเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมตามสิทธิขั้นพื้นฐานเห็นถึงความสําคัญของความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ไม่เหยียดหยาม แบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ อายุ ภาษา วัฒนธรรม เพศ ความพิการ สุขภาพ ฐานะทางการเงินศาสนา การศึกษา และความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และครอบครัว เว้นแต่จะทําไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการธำรงไว้เพื่อหลักการดังกล่าว

.

info

.

……….          เหตุการณ์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้นําเสนอเนื้อหาที่อาจละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือทําร้ายความรู้สึกของบุคคล รวมถึงการนําเสนอเรื่องราวหรือพฤติกรรมของบุคคลสาธารณะ ที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมหรือคนจํานวนมาก โดยสื่อมวลชนจะทําได้ก็ต่อเมื่อได้พิจารณาแล้วว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการรับรู้ข่าวนั้นๆ

          การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น สื่อมวลชนควรคำนึงถึงหลักความถูกต้องและจรรยาบรรณ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล แต่หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้น สื่อมวลชนต้องแสดงถ้อยคำขอโทษต่อบุคคลที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ต้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีโอกาสชี้แจงข้อมูลข่าวสารในด้านของตนด้วย

.

          นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  ได้กล่าวถึงการละเมิดข้อมูลบนสื่อออนไลน์ไว้ว่า

          “ผู้ที่ไม่ได้ทำข่าว หรือคนทั่วไปผู้ซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่ถูกนักข่าวนำข้อมูลมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เช่น เรื่องของลิขสิทธิ์ ต้องมีการฟ้องร้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสื่อมวลชน หรือผู้บริโภคที่ผลิตข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้อ่านนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัด ว่ามีที่มาเป็นอย่างไร หรือมีข้อเท็จจริงอย่างไร แล้วจึงนำข้อมูลมาเผยแพร่ในภายหลัง”

.

          ทางด้าน นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้กล่าวว่า

“สื่อมวลชนต้องยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณ และมีความสร้างสรรค์ในการนำเสนอข่าว ซึ่งจะไม่ทำให้มีปัญหาในการรายงานออกผ่านสื่อต่างๆ ดังนั้น สื่อมวลชนจึงต้องช่วยกันตรวจตรา เพื่อไม่ให้มีข่าวที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือการหาผลประโยชน์ต่างๆ ถูกนำเสนอออกมา นอกจากนี้ การนำเสนอที่ดีต้องมีอคติน้อยที่สุด และมุ่งไปสู่การลดความรุนแรง และที่สำคัญ คือ สื่อมวลชนควรยึดความเป็นมืออาชีพให้เหนียวแน่นเสียก่อน”

.

ดังนั้น สื่อมวลชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ จะต้องคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณเป็นอย่างแรกในการเผยแพร่ข้อมูล มากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรของตัวเอง ซึ่งข้อมูลต่างๆ นั้น ควรนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตัวเองหรือสังคม และไม่ควรลืมว่า ข้อความเพียงข้อความเดียว ก็สามารถสร้างความเสียหายได้

.

.

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :  http://issuu.com/theprototype/docs/issue1

Share This:

Comments are closed.