ยุคสมัยที่หลายๆคนบอกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ “กำลังตาย” แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งพิมพ์บางประเภทยังสามารถอยู่และทำยอดขายได้ เช่น “หนังสือการ์ตูน” หนังสือการ์ตูนคือหนังสือที่มีการใช้ภาพวาดตัวละคร ฉาก และคำพูดเป็นช่องๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆผ่านรูปภาพ ในปัจจุบันหนังสือการ์ตูนในประเทศไทยมีหลายสำนักพิมพ์ทั้งหนังสือการ์ตูนที่นักวาดวาดเองในสำนักพิมพ์ไทยและหนังสือการ์ตูนแปลจากต่างประเทศ เช่น Luckpim, Phoenix, Siam Inter Comic เป็นต้น
แต่ในยุคที่การพัฒนาของเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นทำให้เกิดเว็บไซต์ที่สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้ตลอดเวลา และแอพพลิเคชั่นต่างๆมากมายที่สามารถจำหนายสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆจึงเริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับการใช้สื่อในยุคนี้อีกด้วย เช่น LINE WEBTOON ที่เป็นรูปแบบของการอ่านการ์ตูนในแอพพลิเคชั่นที่สะดวกสบายบนสมาร์ทโฟน และด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงคนได้ง่ายทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายๆเจ้าก็เริ่มมีการปรับตัวสู่การขาย e book กันแล้ว
ในด้านของผู้ที่หลงไหลในการวาดการ์ตูนที่อยากจะมีหนังสือรวมเล่มเป็นของตัวเองสักเรื่องหนึ่ง หลายๆคนอาจจะคิดว่าการที่เราจะมีผลงานเป็นของตัวเองได้นั้นต้องเขียนเรื่องแล้วเสนอสำนักพิมพ์เพื่อให้ผ่านการคัดเลือกและจัดพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์นั้นๆ แต่จริงๆแล้วในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่นั้นแล้ว เราสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจหนังสือการ์ตูนได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องผ่านระบบสำนักพิมพ์ก็ได้
กอกาญจน์ ชำนาญช่าง หรือที่หลายๆคนรู้จักกันในนามปากกา “กอไหม (KOMAI)” นักเขียนอิสระ เจ้าของผลงานสุดโด่งดังเรื่อง Dear Diary สวัสดีความทรงจำ และผลงานล่าสุดเรื่อง SHE IS IN THE XXX DOLL บอกว่า ประมาณ 10 ปีก่อน หลายๆคนอาจจะคุ้นชินกับระบบที่ต้องออกผลงานผ่านสำนักพิมพ์ หรือการซื้อหนังสือการ์ตูนตามร้านมากกว่า แต่ในปัจจุบันเริ่มมีเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นอ่าน Comic (หนังสือการ์ตูน) หลายค่ายเกิดขึ้น สมาร์ทโฟนมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนมากขึ้น การอ่านบนแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์มีความสะดวกมากกว่าคนจึงอ่านเยอะ ทำให้วงการนี้มีแนวโน้มในการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ในส่วนของสังกัดสำนักพิมพ์ก็มีการขยายตัวของแพลตฟอร์ม เริ่มมีการเข้ามาลงในสื่อดิจิตอลเเพลตฟอร์ม มีแบบ e book มากขึ้น และด้วยการที่มีอินเทอร์เน็ตและช่องทางใหม่ๆยังทำให้ในปัจจุบันนักเขียนสามารถเป็นเจ้าของผลงานเอง ทำพรีออเดอร์เองได้โดยที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับสำนักพิมพ์หรือบริษัท นักเขียนสามารถปล่อยของแล้วมาวัดกันที่ผลงานและไอเดียได้อย่างเต็มที่
กอไหม เล่าว่า หลังจากที่เป็นนักเขียนอยู่กับ Line Webtoon เป็นเวลาหลายปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระและสร้างผลงานของตัวเอง ซึ่งจริงๆเรียนจบ Interior Design เกี่ยวกับการออกแบบตกแต่งภายในซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานด้านการ์ตูนเลย เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานด้าน Digital artist เกี่ยวกับการออกแบบตัวละคร , อาวุธ , และฉากในเกม แต่เมื่อทำไปได้สักพักก็รู้สึกว่าอยากทำงานด้าน Comic อยู่ตลอดเวลาทั้งที่ตอนนั้นก็อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังอยากทำ comic มากกว่าอยู่ดี จึงตัดสินใจออกมารับ freelance เป็น Digital artist เหมือนเดิมเพื่อให้มีเวลาว่างเขียนการ์ตูนมากขึ้นและมีโอกาสได้ร่วมประกวดงานที่ Line Webtoon จัดแข่งขัน challenge league ครั้งที่ 1 จึงตัดสินใจลงแข่งขันแล้วก็ได้รับรางวัลชนะเลิศจนได้เขียนการ์ตูนเรื่องยาวชื่อ Dear Diary สวัสดีความทรงจำ เป็นเวลาหลายปีซึ่งตอนนั้นผลตอบรับดีกว่าที่คาดไว้และรู้สึกว่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงาน รายรับ และฐานแฟนคลับ แต่ปัจจุบันเลือกเป็นนักเขียนอิสระและทำผลงานเองมากกว่าการเป็นนักเขียนในสังกัด เพราะว่าชีวิตช่วงนี้อาจจะยังไม่พร้อมเจอเดทไลน์ทุกสัปดาห์ “นักเขียนการ์ตูนในความคิดเรา ก็คือ ต้องเป็นคนที่มีเรื่องในหัว คนที่สามารถเอาเรื่องราว มาเล่าผ่านภาพได้ จะเป็นพื้นฐานของคนที่เป็นนักเขียนนักวาดอยู่แล้วในเรื่องของการเล่าเรื่องด้วยภาพ”
โดยการที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนโดยที่ไม่สังกัดค่ายใดๆ ต้องศึกษาและฝึกตัวเองในหลายด้าน ซึ่งการศึกษาถูกแบ่งเป็น 2 แบบ คือ “ชิ้นงาน” กับ “ธุรกิจ” หากชอบเขียนงานก็ต้องศึกษาการเขียนงานและขั้นตอนในการเขียนออกมาให้สำเร็จได้จริง ต้องมีวินัยกับตัวเองในระดับหนึ่ง ด้านธุรกิจก็ต้องรู้จักดีลกับฝ่ายผลิต เช่น ศึกษาต้นทุนของวัสดุในการผลิตและราคาขายที่เหมาะสม รวมถึงการขายงานเองอีกด้วย เพราะว่าเราเป็นนักเขียนอิสระซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายเอง ต้องมีการศึกษาในด้านทำการตลาด ต้องสร้างฐานคนอ่านและชื่อเสียงในวงการ หรือสามารถสร้าง viral ที่ให้ความรู้สึกอยากแชร์ต่อจากงานของเราได้ ในการทำงานจริงมีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้มากมายทั้งเรื่องแมททีเรียล การคุมคุณภาพงาน ปัญหาที่เราไม่คาดคิด จึงต้องศึกษาทุกอย่างเสมือนเป็นเจ้าของกิจการหนึ่งเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและรองรับโปรเจ็คใหม่ๆ ต่อไปได้ นี่คือในส่วนของธุรกิจ
ด้านการลงทุนหลักๆ คือ เวลา และ ความคิด ช่วงที่ยังไม่เปิดพรีออเดอร์คือเวลาของการลงทุนในการทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูน ต้องทุ่มเทในเรื่องของเวลา ความคิด แรงกายแรงใจเพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้สำเร็จจริงจึงนำมาออกมาพรีวิวให้ผู้อ่านได้รับรู้ โดยที่เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่างานแต่ละชิ้นจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ มีคนสนใจหรือเปล่าตรงนี้ถือเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจนี้ การผลิตชิ้นงานโดยพื้นฐานก็จะเหมือนกับการทำรวมเล่ม Comic ทั่วไป ก็คือต้องมีเรื่องที่อยากเล่าในหัวก่อนเป็นอันดับแรก ต้องมีการคิดคิดพล๊อตเรื่อง จากนั้นจึงมาออกแบบตัวละครและเขียน storyboard ขั้นตอนสุดท้ายคือการวาดออกมาให้เป็นชิ้นงาน ใส่คำพูด ตัดเส้นและลงสี แต่ในด้านระบบการทำงานเราต้องทุ่มเทมากกว่า คือการเป็นนักเขียนอิสระต้องมีวินัยในตัวเองมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าการทำงานกับสำนักพิมพ์หรือค่ายต่างๆ เพราะว่าเราเป็นคนทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ซึ่งมีความแตกต่างกับการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์หรือค่ายที่มี บก. และฝ่ายต่างๆ เป็นผู้ตรวจสอบแก้ไขเป็นขั้นตอน “แต่ถ้าเราคิดว่าทำเพราะอยากทำ ทำเพราะอยากปล่อยของ ปล่อยความคิดในหัว ก็จะช่วยลดความกดดันและรู้สึกสนุกขึ้นเยอะเลย ยิ่งมีคนเข้ามาร่วมสนุกมาแสดงความคิดเห็นมาให้ความสนใจผลงานของเรา มันทำให้เราโคตรมีกำลังใจในการใช้ชีวิตเลย คือให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำ ที่เหลือทุกอย่างจะเป็นผลพลอยได้เองเราเชื่ออย่านั้น”
ความแตกต่างระหว่าง นักเขียนบนแพลต์ฟอร์มออนไลน์ เป็นนักเขียนอิสระผลิตงานเอง เป็นนักเขียนผ่านสำนักพิมพ์ ค่าตอบแทนก็จะแตกต่างกันระหว่าง 3 แบบนี้ เพราะมันคนละระบบกันค่าตอบแทนจึงต่างกันไปด้วย ระบบสำนักพิมพ์จะมี บก. ที่จะเป็นผู้ตรวจสอบและปรู๊ฟตั้งแต่แรกจนถึงการเผยแพร่เลยว่าต้องแก้จุดไหน เงินก็จะได้เป็นค่าตอบแทนแต่ละเรื่อง แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Line Webtoon ระบบการทำงานก็จะคล้ายสำนักพิมพ์ แต่จะต้องมีกำหนดการส่งงานหรือที่นักเขียนเรียกกันว่า “เดทไลน์” ทุกสัปดาห์ ค่าตอบแทนก็จะเป็นในรูปแบบเงินเดือนในตอนที่ผลงานของเราออนแอร์ ข้อดีคือสามารถทำอะไรก็ได้จะไปเที่ยวก็ได้ แต่ต้องมีงานส่งทุกสัปดาห์ ส่วนการเป็นนักเขียนอิสระมันมีข้อดีตรงที่เราสามารถบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้เลย เช่น เดือนนี้จะไปเที่ยวทั้งเดือนเลยก็ได้ จะนอนทั้งเดือนเลยก็ได้ หรือทำงานทั้งเดือนเลยก็ได้ ซึ่งการผลิตงานเองแบบนี้มันก็จะมีความเสี่ยงคือ “เรื่องของผลตอบแทนที่เราไม่สามารถรู้ได้ชัดเจน” เป็นนักเขียนอิสระแตกต่างที่ เราไม่ต้องรอใครอนุมัติ หรือโดนแก้งาน อยากเขียนอะไรก็สามารถลงมือได้ทันทีไม่มีใครมาจำกัดเรทในการเขียน แต่ต้องพรีเซ็นท์งานให้เป็น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ จะได้มีเงินหมุนไปต่อยอดเพื่อทำโปรเจ็คต่อๆไปด้วย
อินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทขึ้นจนทำให้คนนิยมสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลงจริง แต่ว่านักอ่านไม่ได้น้อยลง แต่กลับมีเยอะขึ้นด้วยซ้ำ สื่ออาจจะต้องมีปรับตัวการย้ายแพลตฟอร์มไปตามวิถีชีวิตคนที่เปลี่ยนไป คนผลิตงานก็อาจจะต้องปรับตัวตาม เช่นเมื่อก่อนเราอาจจะซื้อหนังสือการ์ตูนตามแผงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันคนติดสมาร์ทโฟนกันมากขึ้นอ่านจากหน้าจอมันง่ายและสะดวกกว่า นักเขียนก็อาจจะต้องสนใจและเข้าใจเรื่องระบบตรงนี้และมีการปรับตัวตามไปด้วย สำหรับสำนักพิมพ์ก็เห็นถึงการขยายตัวในเรื่องของการเริ่มมีเผยแพร่ในสื่อดิจิตอลเเพลตฟอร์ม รูปแบบ e book มากขึ้น แต่ก็ยังมีการขายในรูปแบบรูปเล่มอยู่เหมือนกัน มันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่แพลตฟอร์มจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย “หากถามว่าส่งผลในให้มีความเปลี่ยนแปลยังไงในยุคนี้ก็คือ นักเขียนแบบเราสามารถทำพรีออเดอร์ผลิตงานเองได้โดยที่ไม่ต้องสังกัดสำนักพิมพ์ไหนเลยก็ได้ทุกคนมีสื่อมีผลงานของตัวเองได้ เป็นผลมาจากการเข้ามามีบทบาทของ เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์”
สำหรับเทคนิคในการเขียนเรื่องส่วนตัวจะเขียนเรื่องที่อยากเขียนเป็นหลัก ทำตามความอยากและความชอบส่วนตัว ไม่หยิบยกเรื่องราวที่เป็นปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้องเท่าไหร่ เพราะมีความรู้สึกว่าเมื่อเราอินกันงาน เข้าถึงและเข้าใจเรื่องที่เราต้องการจะสื่อได้ดีก็จะทำให้ผลิตผลงานออกมาได้ดีเช่นกัน ส่วนใหญ่จึงเอาปัจจัยของตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วมาปรับให้เข้ากับบริบทสังคมมากกว่า ให้เรื่องมันสะท้อนสังคมให้ผู้อ่านได้ข้อคิดจากเนื้อเรื่องที่เขียน “เช่นเรื่อง SHE IS IN XXX DOLL เราเขียนขึ้นมาเพราะว่ามีช่วงหนึ่งที่เราเข้าใจความสิ้นหวังและซึมเศร้า แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราคิดแบบนางเอกที่เป็นผี ถ้าเราฆ่าตัวตายแบบนั้นมันอาจจะซวยแบบนางเอกก็ได้นะ ใครจะรู้ชีวิตหลังความตายมันอาจจะลำบากกว่าตอนมีชีวิตอยู่ก็ได้ เราอาจจะอยากดูหนังแต่ทำไม่ได้ ติดแหงกอยู่ในตึก หาอะไรอร่อยๆกินก็ไม่ได้ ไปเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ได้ มีชีวิตอยู่อาจจะดีกว่าการตาย พอเราคิดแบบนี้ได้ แล้วนึกขึ้นว่าถ้าส่งสารนี้ออกไป จนทำให้มีคนคิดได้แบบนี้เหมือนกันกับเรา เราอาจจะช่วยหยุดไม่ให้เขาฆ่าตัวตาย หรือเห็นข้อดีของการมีชีวิตอยู่ขึ้นมาบ้างก็ได้ สรุปก็คือ เราเอาความชอบ ความคิด ความรู้สึกของตัวเองมาก่อน แล้วค่อยมาโยงใส่บริบทของสังคมรอบๆจึงออกมาเป็นงานเขียนค่ะ ” แล้วมาดูว่ากลุ่มเป้าหมายเขารับลายเส้นประมาณไหน รับประมาณที่วาดแบบนี้ได้หรือไม่ หากรับได้ก็ถือว่าดี แต่ถ้าหากมีฟีดแบคกลับมาก็ต้องปรับนิดหน่อยตามความเหมาะสม แล้วแต่ว่างานนั้นเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายไหน ส่วนคำถามเรื่องด้านการจัดเรียงภาพหรือลักษณะการอ่าน ก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบอ่านย้อนหลังขวาไปซ้ายแบบญี่ปุ่นนะ ก็ทำแบบบนลงล่างซ้ายไปขวาตามความถนัดและเหมาะกับการอ่านของคนไทยนี่แหละ
เมื่อเราเขียนเสร็จจึงมาสู่กระบวนการผลิตก็คือ เขียนงานให้เสร็จ เพื่อพรีวิวให้คนอื่นเห็นถึงคอนเซปต์เหมือนเวลาภาพยนตร์จะเข้าฉายในโรงก็จะมี Teaser กับ Trailer เพื่อให้ผู้อ่านเห็นว่าการ์ตูนเราประมาณนี้แล้วให้คนที่สนใจไปตามต่อจากจุดไคลแมกซ์ให้เขาอยากซื้อ แล้วจึงเปิดพรีออเดอร์รวมเล่มหลังจากนั้นก็ปล่อย e book สำหรับผู้ที่ซื้อไม่ทันและผู้ที่สะดวกซื้ออ่านแบบออนไลน์ ซึ่งการทำธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือบางคนจะสังเกตุว่าจะมีการผลิตสินค้าที่เรียกว่า Merchandise คือสินค้าที่เอาต้นแบบจากในเรื่องนั่นเอง ในตอนที่ทำงานอยู่กับ Line Webtoon ก็มีสินค้าจากเรื่อง DEAR DIARY สวัสดีความทรงจำ ออกมาทำขายหลายตัวเหมือนกัน เช่น สร้อยกรรไกรกระดาษ พวงกุญแจ สมุดไดอารี่ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการผลิตและติดต่อก็จะต่างกันออกไปกับในกรณีของหนังสืออีกด้วย
แนวทางในการพัฒนาธุรกิจก็มีการทดลองระบบ Pre – Order และทำ e book ไปเรื่อยๆก่อนสำหรับช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจ และสังเกตแนวโน้มแบบโปรเจกต์ต่อโปรเจกต์ไปก่อน หากเสียงตอบรับดีก็มีการลงทุนเพิ่มคือการแปลขาย e book เช่นตอนที่ปล่อยเรื่อง SHE IS IN THE XXX DOLL แชร์ไปครั้งแรกมีคนต่างประเทศติดต่อเข้ามาเยอะพอสมควร จึงคิดว่าการแปลเป็นภาษาอังกฤษในบางโปรเจกต์เพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศต่อไปในอนาคตเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ส่วนในอนาคตก็ต้องรอดูเป็นโปรเจกต์ไปว่าจะมีแนวทางพัฒนาอะไรอีกได้บ้าง เพราะส่วนตัวพึ่งเริ่มทำธุรกิจนี้ได้ไม่นานแต่เสียงตอบรับค่อนข้างดีทำให้มีกำลังใจทำงานต่อไปและคิดโปรเจกต์ใหม่ๆต่อไป ถือว่าประสบความสำเร็จในการทำงานตรงนี้พอสมควร
ในมุมของการจดลิขสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว การทำงานลักษณะนี้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้สร้างโดยอัตโนมัติอยู่แล้วจึงไม่ได้จดลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษร จดทะเบียนบริษัทก็ยังไม่ได้จด “ไม่ได้จดสักอย่างเลยค่ะ (ฮ่าๆ)”
ในการทำธุรกิจหรืองานสายนี้จริงๆแล้วไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม “ความสุขที่สุดของการทำงานใดๆ คือ การเห็นมันออกมาเป็นรูปเป็นร่างค่ะ ตอนที่ผลงาน finish แล้วมีคนมาร่วมสนุก ร่วมแสดงความรู้สึกคือ มีความสุขที่สุดแล้ว ส่วนรายได้เป็นผลตามมาซึ่งบางทีมันก็อาจจะดีหรือแย่กว่าที่คาดไว้ก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ว่าเหนืออื่นใด การทำงานให้ finish และได้แชร์ เป็นการทดลองของชีวิตที่มีท้าทาย ทำเอง ผลิตเอง ขายเอง ความอิสระนี้ ถ้าได้รับผลตอบรับที่ดี ก็จะได้กำลังใจในการทำงานและใช้ชีวิตมากจริงๆค่ะ รวมถึงคงต้องบอกตัวเราเองด้วยว่าพยายามโฟกัส ความอิน ความรู้สึกตอนทำ ความรู้สึกอยากปล่อยของ ปล่อยความคิดให้หัวออกมา ให้มากกว่าสิ่งอื่น ถ้าโฟกัสที่ตัวเนื้องานก่อนเชื่อว่า ยังไงก็ต้องมีคนชื่นชอบ และสนุกไปกับ เราแน่นอนค่ะ เพราะอย่างน้อย ถ้าเรา สนุกตอนทำแล้ว ความสุขอื่นๆที่ได้เพิ่มมา ก็ถือว่า เป็นผลพลอยได้ ที่เป็นกำไรของชีวิตแล้ว…”