ร้อนระอุกันไม่เว้นแต่ละวันกับเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทบนท้องถนน สมัยนี้ปาดหน้า ไม่เปิดไฟเลี้ยว ขับคร่อมเลน หรือแม้กระทั่งที่จอดรถ ก็ทำเอาหลายต่อหลายรายถึงกับเลือดตกยางออกมาแล้ว ปีใหม่นี้ The prototype มีกฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท เพื่อจะได้ใช้กฎหมายเป็นตัวช่วยเมื่อตกต้องอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ ส่งมอบเป็นของขวัญแทนใจ ให้ปีใหม่ดีเดินทางปลอดภัย คนไทยใจเย็นๆ
หัวร้อน ปะทะกันบนท้องถนน มีโทษอะไรบ้าง?
สำหรับกฎหมายที่ใช้ในกรณีบนท้องถนน ผู้ที่ทำให้เกิดเหตุนั้นก็จะได้รับโทษตามกฎหมาย อาทิ การร่วมกันทำให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท หมายถึง การที่ต่างคนต่างทำร้ายกัน ในทางกฎหมายจะมีการระบุบโทษไว้อย่างชัดเจน ดังนี้คือ
มาตรา 372 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วย ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ สาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อย ในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
เรียกง่ายๆก็คือทั้งสองฝ่ายที่ทำให้เกิดเหตุจะต้องเสียค่าปรับคนละ 500 บาท ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะในที่สาธารณะ ทะเลาะกลางถนน ถือว่าเป็นการทะเลาะวิวาททั้งหมด
เป็นฝ่ายถูกกระทำฝ่ายเดียว แจ้งข้อหาอะไรได้ ?
กรณีเป็นผู้ถูกฝ่ายเดียว คือการทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายต่อร่างกาย จะถือเป็นการทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีความผิดในมาตรา 295 ที่มีการระบุบโทษไว้ว่า ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากมาตราข้างต้นแล้วยังมีที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายอีกหลายมาตรา เช่น
มาตรา 29 ว่าด้วย ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิด นั้น มีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ใน
มาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 297 หากผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี ซึ่งอันตรายสาหัสที่หมายถึง คือ
1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือประสาทการรับรู้กลิ่นเสีย
2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
5) แท้งลูก
6) จิตพิการอย่างติดตัว
7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
มาตรา 299 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ได้รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการ ชุลมุนต่อสู้นั้น แต่ทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ กล่าวคือหากมีบุคคลที่สามเข้าไปเกี่ยวข้อง บุคคลนั้นจะได้รับโทษด้วยหากทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย
แม้กระทั้งความประมาทที่ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ก็จะได้รับโทษตามมาตรา 300 ที่มีใจความว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสาเหตุการทะเลาะวิวาทต่างๆ ก็ล้วนเกิดจากอารมณ์เกือบทั้งสิ้น
ก่อเหตุทะเลาะวิวาท อ้างปัญหาทางจิตได้หรือไม่?
หากเมื่อพูดถึงอารมณ์แล้ว ก็จะมีหลายกรณีที่เกิดเหตุบนท้องถนน และอ้างว่าตนเองมีความผิดปกติทางจิต ทำไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ปัญหายังเกิดขึ้นได้อยู่ เพราะคนที่มีปัญหาด้านจิตนั้นจะถือเป็นผู้ที่บกพร่องทางด้านความสามารถ หรือคนวิกลจริตในทางกฎหมาย ดังนั้นแปลว่า การกระทำใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นกับคนวิกลจริต ทางกฎหมายจะถือว่าเป็นโมฆะซึ่งถ้าคนวิกลจริตไปทำพฤติกรรมหรือทำอะไรผู้อื่น
กฎหมายก็จะถือว่าเป็นโมฆะ ในทางกฎหมายอาญาก็เช่นกัน ไม่ว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดจากคนวิกลจริต จะไม่ถือว่าเป็นโทษทางกฎหมาย แต่สำหรับคนที่ป่วยทางสุขภาพจิต ไม่ใช่ว่าจะอ้างได้ว่าตนป่วยทางสุขภาพจิต และไปทำร้ายคนอื่นโดยอ้างว่าทำไป เพราะมีความผิดปกติทางจิต จะถือว่าเป็นการอ้างแบบลอยๆ จะไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการไม่รับโทษได้ แต่ทางกฎหมายหากศาลตรวจแล้วมีความผิดปกติทางจิตจริง จะถือว่าไม่เป็นความผิด แต่ถ้าศาลตัดสินว่าไม่มีความผิดปกติทางจิต ก็จะต้องต้องรับโทษตามกฎหมาย
ทั้งนี้แล้วไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายหรือด้านอารมณ์ก็ตาม ผู้ใช้รถใช้ถนนควรมีสติอยู่ตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น หรือแค่เรามีน้ำใจให้คนร่วมทาง ใจเย็นๆ แค่นี้ก็สามารถช่วยลดปัญหาต่างๆบนท้องถนนได้แล้ว
จะได้ไม่เสียใจภายหลัง