การวางแผนการเงินนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้สามารถเตรียมพร้อมและจัดการชีวิตเพื่อไปสู่ความมั่นคงทางด้านการเงินในอนาคต โรงเรียนจึงเป็นสถานที่แรกที่เด็กทุกคนจะได้รับความรู้ และควรปลูกฝังนิสัยการออมเงิน รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรด้านการวางแผนการเงินให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กมีทักษะและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง
.
คุณอนันต์ กัลปะ ผู้อำนวยการส่งเสริมคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า ในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องการใช้จ่ายหรือออมเงิน มีอยู่ 2 รูปแบบทั้งในภาควิชาทฤษฎีและปฏิบัติ อยู่ในสาระการเรียนการสอนทั่วไปใช้วิธีบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นสอนในเฉพาะวิชาเรื่องการออมเงินหรือการวางแผนทางการเงิน เพราะฉะนั้นในสาระที่สำคัญที่เป็นภาคทฤษฎีในการจัดการเรียนการสอนคือ วิชาสังคมศึกษา และการงานอาชีพ
ในส่วนภาคปฏิบัติเป็นเรื่องของการเปิดบัญชี ในโรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องมีสหกรณ์โรงเรียน เพราะฉะนั้นนักเรียนทุกคนเป็นสมาชิกในการออม ฝากตามกำลังของตนเอง พอเก็บได้เป็นจำนวนหนึ่ง ครูก็จะนำเงินไปฝากที่ธนาคาร และเปิดบัญชีให้กับนักเรียนรายบุคคล ยกตัวอย่าง โรงเรียนอนุบาลวัดไชยชุมพลชนะสงคราม มีการจัดโครงการของธนาคารออมสิน มาสอนและฝึกปฏิบัติให้กับนักเรียน ฉะนั้นนักเรียนจะได้เรียนรูปแบบแนวทางในการปฏิบัติและจัดการระบบการออมเงินภายในโรงเรียนเองได้ และใช้ข้อมูลที่ได้มาเปิดเป็นสาขาของออมสิน
โดยถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องพกสมุดฝาก นักเรียนสามารถดำเนินการได้เอง ทุกโรงเรียนได้ปลูกฝังให้กับนักเรียนมีการเปิดบัญชีเงินฝากตั้งแต่วัยเด็ก แม้แต่โรงเรียนเล็กๆ ครูก็จะปลูกฝังให้กับเด็กด้วย ทั้งนี้คุณอนันต์มองว่า “หลักสูตรมีเพียงพอ” แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติแต่ละสถานศึกษา
.
.
นางสาวปณิตา สิทธิ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 เล่าว่า ที่เคยเรียนมาเป็นวิชาฝึกหน้าที่พลเมือง คุณครูจะให้เก็บเป็นรายสัปดาห์วิชานี้เริ่มต้นทำตอนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2 คุณครูบอกให้ไปฝากให้ครบ 10 ครั้ง เมื่อฝากเงินครบตามจำนวนแล้วนักเรียนก็จะได้คะแนน โดยจะนำเงินไปฝากกับพี่ที่เป็นคนที่ทำงานในสหกรณ์ หากจะถอนเงินออกมาใช้นั้น ต้องถอนเพียงครึ่งหนึ่งที่ฝากเงิน ยกตัวอย่าง ฝากเงินได้ 100 บาท แต่สามารถถอนเงินออกมาได้ 50 บาท อีกทั้งยังทำตารางรายรับ – รายจ่าย เพื่อจดบันทึกค่าใช้จ่ายภายในโรงเรียน ซึ่งนอกจากนี้ยังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้ทำเหมือนที่อาจารย์สอนโดยตรง แต่จะจดว่าวันนี้ต้องใช้ 100 บาท แต่ไม่ได้จดว่าใน 1 วัน ใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งถามว่านำมาใช้ไหมเราก็มีนำมาใช้แต่ก็ได้ทำในรูปแบบที่ต้องไปเปิดบัญชีฝากและเขียนรายรับ – รายจ่ายที่จริงจังขนาดนั้น
ทั้งนี้เรื่องการเงินหรือการวางแผนทางการเงินนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ คนที่จะปลูกฝังได้คือพ่อแม่ คุณครู และคนรอบข้าง ซึ่งจะต้องสอนให้รู้จักการออมเงิน การใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า และสามารถปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการสร้างจิตสำนึก ในเรื่องของการออม
.
คุณประนอม มาลัยทอง ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า รู้จักโครงการในโรงเรียนที่สอนให้เด็กออมเงิน เพราะลูกและคุณครูเล่าให้ฟัง ในสมัยที่ลูกเป็นวัยประถมนั้น ทางโรงเรียนมีโครงการให้เด็กรู้จักเก็บออมคือโครงการธนาคารโรงเรียน เป็นโครงการที่คุณครูจะให้นักเรียนจดบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อแลกกับคะแนนพิเศษ โดยครูจะแจกสมุดและกระปุกออมสินให้นักเรียนนำไปใช้ และยังมีโครงการที่ให้นักเรียนปลูกผักในแปลงผักหลังโรงเรียนเพื่อหารายได้พิเศษ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าทั้งสองโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของเงิน และมีความอดทนพยายามในการเก็บออมเงิน อีกทั้งยังทำให้ลูกรู้จักการพึ่งพาตนเอง แม่จึงฝึกให้ลูกทำตามที่ครูสอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจะสอนลูกว่าหากอยากได้สิ่งของที่มีราคาแพงลูกต้องเก็บออมเงินที่แม่ให้ และถ้าหากจำเป็นจะต้องแบ่งเงินที่เก็บออมมาใช้แม่ก็จะให้ลูกช่วยยายทำงานรับจ้างเย็บปักถักร้อย ซึ่งสิ่งที่แม่สอนลูกไปนั้นเป็นการต่อยอดมาจากกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อให้ลูกฝึกฝนให้ติดเป็นนิสัยไปจนถึงตอนโต
.
คุณจักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร แอดมินเพจ Money Buffalo เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงิน และการลงทุน ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่มหลักสูตรว่า ระบบการศึกษาแบบขั้นพื้นฐาน ประถม มัธยม นั้นมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องเงินน้อยมาก หรือแทบไม่มีความสำคัญเลย หากได้เรียนเรื่องการเงิน หรือการลงทุน อยู่ในส่วนระดับมหาวิทยาลัย แต่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่วิชาบังคับ โดยเป็นวิชาเลือกที่จะเลือกเรียนก็ได้หรือไม่เลือกเรียนก็ได้ ซึ่งน้อยมากถ้าเกิดอยากจะหาความรู้เรื่องการออมการลงทุน ก็ต้องขวนขวายด้วยตัวเอง
“เรื่องการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรสอนกันตั้งแต่อนุบาล และควรจะเป็นวิชาขั้นพื้นฐานวิชาหนึ่งที่ควรนำมาสอนอย่างยิ่ง ซึ่งต้องมีการสอนอย่างถูกต้องเป็นระบบ อีกทั้งเรื่องของการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่กับตัวเรามานาน เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่า หากลองจินตนาการ เราอยู่กับเรื่องของเงินตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องใช้ต้องกิน หาได้ต้องรู้จักออม แม้แต่เด็กๆ รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากพ่อแม่ เช่น ค่าขนม เด็กก็ควรรู้จักการแบ่งออมเป็นส่วนๆ นอกจากนี้ถ้าเรารู้จักการวางแผน เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน การเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป”
คุณจักรกฤษณ์ มองว่า บางคนทำไมเงินไม่พอใช้ หาเงินมาได้แต่ว่ารายจ่ายเยอะ ซึ่งแทนที่จะกลับมาดูที่รายจ่าย สามารถปรับหรือลดตรงส่วนไหนได้ บางคนกลับไม่ได้คิดแบบนั้น คิดแค่ว่าใช้บัตรเครดิต ก็เป็นเงินที่กู้มาใช้ พอวงเงินบัตรเครดิตเต็มก็ไปเปิดอีกบัตรหนึ่งมาใช้แล้วก็หมุนวงเงินไปมา มองย้อนดูว่าปัญหาคืออะไร ใช้เงินมากกว่ารายได้ต้องติดลบอยู่แล้วในอนาคต รวมไปถึงเรื่องการลงทุน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ซึ่งเป็นวิชาชีวิตวิชาหนึ่ง เหมือนกับที่บอกไว้ว่า เราทำงานหาเงินได้ หรือเงินออม เราต้องรู้จักเอาไปลงทุน ให้เงินงอกเงยมีวิธีการเรียนรู้ ลงทุนที่มันถูกต้อง ถ้าเกิดว่าเราไม่มีวิธีการเรียนรู้หรือวิธีที่ถูกต้อง ปัญหามันก็จะตามมา
.
.
“ ปัญหา” มันเริ่มที่ว่า เราไม่รู้ว่าแต่ละวันหรือแต่ละเดือน ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เวลาเราย้อนกลับมาดูตัวเอง เงินหมด หรือเงินเดือนชนเดือน แทบไม่รู้เลยว่าในหนึ่งเดือนเราจ่ายอะไรไปบ้าง ทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูก โดยไม่รู้จะเริ่มบริหารที่ตรงไหนดี สิ่งที่จะแนะนำก็คือเรื่องของการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ให้รู้ว่า ณ ปัจจุบันตอนนี้ เรามีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งเรารู้แน่นอนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือรายจ่าย พอเราเริ่มลงมือทำบัญชีรายรับรายจ่าย เราก็จะเริ่มเห็นปัญหาว่า ควรปรับลดค่าใช้จ่ายตรงไหนลงบ้างที่ไม่จำเป็น เพื่อทำให้เหลือเงินออม
.
ขณะที่ ดร.ธนวรรธน์ นิธิปภานันท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องเงินมีความสำคัญในแง่ที่ว่า เมื่อคุณเริ่มทำงานมีเงิน มีเงินเก็บ มากหรือน้อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่ออายุมากขึ้น ยกตัวอย่างผู้ปกครอง ก็มีเงินส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสียลูกเรียน เพราะท่านก็มีการออมไว้ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการออมจึงมีความสำคัญ เพราะในอนาคตบางคน ไม่ได้มีการออมเงิน ไม่ได้คิดถึงอนาคตไว้ อาจทำให้ไม่มีเงินเก็บ และทำให้ชีวิตมีความลำบาก เพราะไม่มีการวางแผนการออมเงิน
ในส่วนของการเพิ่มหลักสูตรการออมเข้าไปหรือไม่ คิดว่าควรให้เป็นเรื่องหลักๆ ซึ่งเด็กบางคนเขามีเงินก็ใช้ และคิดว่า หากใช้เงินหมดไม่เป็นไร เงินหมดเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ เด็กรุ่นใหม่จะคิดแบบนี้จริงๆ เพราะหลักสูตรพวกนี้หากเรียนในมหาวิทยาลัย เขาจะสอน แต่ว่าหลักสูตรจะอยู่ในวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์ รู้จักเงิน รู้จักอัตราแลกเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่เขามองการทำงานหาเงิน มีส่วนสำคัญต่อชีวิต ในระยะแรกของการได้เงิน มองว่าไม่เหลือ อย่าลืมว่าพอเริ่มทำงาน ความอยากได้ความต้องการของเรายังมี อยากได้กระเป๋าอยากได้รถ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สิ้นสุด