นักวิชาการระบุการพัฒนาพื้นที่ ปลูกป่าด้วยพืชที่ไม่เหมาะกับระบบนิเวศเป็นสาเหตุให้ป่าชายหาดนอกเขตอนุรักษ์และเขตอุทยานลดจำนวนอย่างรวดเร็ว คาดหากยังไม่แก้ไข ไม่เกิน 20 ปีป่าชายหาดหมด ระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย
รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ นักพฤษศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภายใน 10 -20 ปีนี้ ป่าชายหาดที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ก็คงจะไม่เหลือ คงจะหมด ส่วนป่าชายหาดที่นับว่ายังสมบูรณ์อยู่ที่อยู่ในเขตอนุรักษ์มีอยู่ไม่กี่แห่งที่น่าสนใจ คืออุทยานแห่งชาติหาดท้ายเหมือง เขาลำปี คิดว่าเป็นที่ที่มีป่าชายหาดอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นป่าชายหาดที่อยู่บนคาบสมุทรที่ดีที่สุด ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากแล้ว โชคดีที่ประกาศเขตอุทยานไว้ ป่าผืนนี้ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี หากไม่มีอุทยานแห่งชาติป่าพวกนี้คงหมด
ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นลักษณะของป่าประเภทหนึ่ง จัดเป็นป่าละเมาะหรือป่าโปร่งไม้ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายหรือเนินทรายริมทะเล หรือชายฝั่ง เป็นป่าที่มีขนาดเล็กเกิดขึ้นด้านหลังของสันทรายตามแนวชายฝั่ง เป็นป่าที่มีความแตกต่างจากป่าทั่วๆ ไปอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ สภาพโดยทั่วไปแห้งแล้ง ใบไม้ในป่าจะเป็นลักษณะหงิกงอ ป่าชายหาดเป็นป่าที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสลม กระแสคลื่น รวมถึงไอเค็มจากทะเล แสงแดดร้อนจัดสภาพความชื้นทั้งชื้นจัด ชื้นน้อย และชื้นปานกลาง
“ป่าชายหาดหรือสังคมพืชเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญมาก ช่วยให้เกิดการพัฒนาของระบบนิเวศชายฝั่งและช่วยรักษาความเสถียรของชายหาด ร่วมกับระบนิเวศอื่นๆ ซึ่งหากพูดถึงป่าชายหาด หลายคนคงไม่รู้จัก เพราะประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญ และละเลยในการอนุรักษ์รักษาป่าชายหาดไว้ แต่เมื่อมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทำให้พื้นที่ชายหาดบางส่วนได้รับการอนุรักษ์ไว้ แต่ในขณะเดียวก็ยังมีพื้นที่ชายหาดอีกหลายแห่งถูกทำลายไปมากและเปลี่ยนสภาพไปจนสูญสิ้นเเล้ว”
สังคมพืชมันจะมีการพัฒนาการตามธรรมชาติอยู่แล้วแต่นี่มันขึ้นกับว่าสภาพแวดล้อมมันเป็นยังไง ถ้าเกิดสภาพแวดล้อมลักษณะโครงสร้างทางกายภาพเหมือนเดิม ต้นไม้เก่ามันต้องกลับมา เพราะฉะนั้น สังคมพืชสามารถ พัฒนาตัวเอง ได้ตลอดเวลาเพราะว่าทุกอย่างธรรมชาติคัดสรรให้เกิดขึ้นเอง แต่ป่าชายหาดที่อยู่นอกเขตอุทยานและอยู่ในเขตเอกชน ซึ่งหลายแห่ง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีความสำคัญทั้งหมด แต่ปัจจุบันคิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม หรือในเขตป่าสงวนของกฎหมายคนละฉบับกับอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ หลายแห่งให้หน่วยงานราชการเข้าไปใช้ประโยชน์
“จากการศึกษาผลกระทบของสึนามิกับป่าสังคมพืชชายหาดตามธรรมชาติ พบว่า สิ่งที่ทำลายสังคมพืชชายหาด กลับไม่ใช่สึนามิ แต่เป็นโครงการปลูกป่าหลังสึนามิ ส่วนไหนที่ไม่ได้ไปปลูกป่า ป่ากลับมาสวยงามเหมือนเดิม เช่นในเขตอุทยานแห่งชาติบางแห่งที่เขาไม่ให้ใครทำอะไร ปัจจุบันป่าชายหาดกลับมาเหมือนเดิมและอาจจะดีกว่าเดิม แต่ตรงไหนที่มีโครงการปลูกป่าอย่างเช่นแถวชายฝั่ง แถวภูเก็ต ป่าชายหาดหายไปอย่างถาวร สรุปแล้วป่าชายหาดไม่ได้หายเพราะสึนามิ สึนามิไม่ได้ทำอะไรกับป่าชายหาด แต่ป่าชายหาดเสียหายเพราะโครงการปลูกป่าหลังสึนามิที่ทำลายป่าชายหาด”
ปัญหาอีกประการที่สำคัญคือ การขาดองค์ความรู้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศน์และพฤกษศาสตร์ไทย ปัจจุบันเรามีองค์ความรู้เรื่อง พฤษศาสตร์ไทยเพียงแค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นของพันธุ์พืชที่มีทั้งหมดในระยะเวลา 40 ปี ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าแท้จริงแล้วมีกี่ชนิด อะไรบ้าง ผู้ศึกษาด้านนี้มีน้อย ทุนวิจัยไม่มี ประเทศเราเป็นประเทศที่มีคนที่มีความรู้เรื่องป่าไม้น้อยมาก ปัจจุบันการศึกษาเรื่องป่าชายหาดหรือสังคมพืชทำได้ยาก ณ เวลานี้ก็เกิดการทำลายป่าตลอดเวลา สิ้นทศวรรษนี้อาจไม่มีสังคมพืชเหลืออยู่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ย่อมป่าชายหาด
“จากประสบการณ์ทำงานภาคใต้ตลอดระยะเวลา 30 ปี ในส่วนของภาคใต้ เป็นบริเวณที่เป็นเนินทราย (แซนด์ดูนส์) สำคัญของโลก ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่ในเขตร้อนที่ฝั่งตะวันออก คาบสมุทรยกตัวมีสันดอนทรายยาวมากแล้วบนสันดอนทรายมันก็จะเป็นที่อยู่ที่ทำให้เกิดพัฒนาการของสังคมตามธรรมชาติซึ่งในเรื่องของป่าชายหาด มีลักษณะ หลากหลายเป็นระบบนิเวศที่ซับซ้อนค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ประกอบด้วยป่าที่อยู่บนสันดอนทรายอย่างเดียว ตัวสันดอนทรายชายฝั่งมันมีทั้งบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม ซึ่งพวกนี้เนี่ยมันก็จะเกี่ยวกับการเก็บน้ำเอาไว้ในสันดอนทรายด้วย จริง ๆ แล้วสันดอนทรายทั่วโลกเนี่ยเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญมาก เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีคุณค่าสำคัญมา ป่าชายหาดถูกทำลายลงไปอย่างหน้าเศร้ามากมายทีเดียว ทั้งๆ ที่ความจริงโครงสร้างของสังคมพืชแบบนี้ น้ำมันจะอยู่ในทรายได้ป่าที่อยู่บนสันดอนทราย ในทรายไม่มีแร่ธาตุ แต่ว่าป่านั้นสามารถอยู่ได้ เพราะว่ามันเกื้อกูลกันในกลุ่มของพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมาย จะต้องมีลักษณะที่จะค่อยๆ พัฒนา ปลูกไม่ได้ แต่หากปล่อยเอาไว้แล้วค่อยๆ พัฒนากันแล้ว ก็มีการเจริญเติบโต ลดหลั่นจนกระทั่ง เกิดเป็นสังคมพืชที่มีระบบค่อนข้างซับซ้อน เมื่อมีป่าสิ่งที่ตามมาคืออะไร มันมีผู้ผลิตมันก็ต้องมีผู้บริโภค มันก็มีพวกสิงสาลาสัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ”
“แท้จริงแล้วป่าชายหาดไม่ต้องดูแลไม่ต้องทำอะไร ยิ่งจะดูแลยิ่งพัง สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ต้องไปยุ่ง การที่เราจะเก็บรักษาระบบนิเวศ คือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด ต้องศึกษาให้เราเข้าใจ เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรที่เราไปแล้วไปกระทบต่อธรรมชาติ ต้องศึกษาให้เข้าใจว่า เหลืออยู่ที่ไหนบ้าง ตรงไหนบ้างที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสังคมพืชอะไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่ป่าชายหาด ดังนั้นเราจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ เราต่างได้รับนิเวศบริการกันทั้งนั้นรับทุกวัน ทรัพยากรต่างๆ มาจากระบบนิเวศ จากสังคมพืช เราเป็นแค่ ผู้เชี่ยมชมแต่เราไม่ใช่เจ้าของ สิ่งที่ทำได้คือต้องศึกษา เข้าใจ เรื่องที่อยู่รอบตัวเรา ระบบนิเวศมีทรัพยากรให้เราใช้อย่างพอเพียง เมื่อไรที่เราใช้เกินก็จะทำให้ ระบบนิเวศเสียหายไม่มากก็น้อย” รศ. ดร. กิติเชษฐ์ กล่าว
ป่าชายหาด หรือ สังคมพืช ในสังคมพืชหลักไม้ผลัดใบประกอบด้วยสังคมรองทั้งสิ้นที่ได้มีการจำแนกไปแล้ว 8 สังคมรอง คือ 1) ป่าดงดิบชื้น 2) ป่าดงดิบแล้ง 3) ป่าสน 4) ป่าดงดิบเขา 5) ป่าชายหาด 6) ป่าพรุ 7) ป่าชายเลน และ 8) สังคมพืชในบึง ส่วนสังคมหลักผลัดใบ ประกอบด้วยสังคมรอง 4 สังคมรอง คือ 1) ป่าเบญจพรรณ 2) ป่าเต็งรัง 3) ป่าทุ่ง และ 4) ทุ่งหญ้าเขตร้อน นักนิเวศวิทยาสาขาพืชได้พยายามจัดจำแนกสังคมย่อยในสังคมรองแต่ละสังคมไว้บ้างแล้วแต่งยังไม่สมบูรณ์ สืบเนื่องมาจากบางท่านยังใช้ระบบที่ไม่เป็นแนวทางเดียวกัน
ระบบนิเวศจึงประกอบไปด้วยเนินทรายหรือหาดทรายและมีพืชประเภท ไม้เถาหรือไม้เลื้อย ไม้พุ่มและไม้ยืนต้นที่มีลำต้นคดงอ และมีความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเภทของไม้ยืนต้น เช่น กระทิง หูกวางโพทะเล ตีนเป็ดทะเล หยีน้ำ มะนาวผีข่อย แต่ลำต้นไม่สูงมากนัก ใบมีความหงิกงอตามกระแสลม เรือนยอดอยู่ติดกัน และมักมีหนามแหลม บางพื้นที่อาจมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น ยางนา หรือตะเคียน ขึ้นอยู่ด้วย ในฤดูมรสุมช่วงที่เป็นเนินทรายอาจมีน้ำท่วมขังเป็นบ่อหรือแอ่ง จึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกขนาดเล็ก และกลายเป็นแหล่งน้ำจืดที่เชื่อมโยงกับลำธาร
ตัวสันดอนทรายเองหรือที่เรียกว่าแซนด์ดูนส์ มีความสำคัญมากในการเก็บกักน้ำจืด ในบางครั้งพวกเรากำลังทำลายสังคมพืชอยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้เพราะฉะนั้นสังคมพืชที่อยู่ชายฝั่งเนี่ยมันจะมีความซับซ้อนแต่เป็นที่น่าเศร้าว่าปัจจุบัน คนไทยเราใช้ประโยชน์ของสันดอนทรายมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์มาเป็นพันๆ ปี แต่ว่าไม่รู้จักป่าบนสันดอนทราย ทั้งๆ ที่ ในศัพท์วิชาการเราเรียกว่าสังคมพืช บริเวณสันดอนทรายจะเห็นว่ามันจะมีทั้งบริเวณที่เป็นที่ลุ่ม อาจจะเป็นที่ลุ่มแคบๆ หรือเป็นที่ลุ่มขนาดกว้างใหญ่ก็ได้ อย่างเช่น ทะเลสาบสงขลา เป็นตัวอย่างของที่ลุ่มหลังสันดอนทรายขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นทรัพยากรที่เป็นป่าสันดอนทรายชายฝั่งหรือสังคมพืชบนสันดอนทรายชายฝั่ง จึงมีความสำคัญมาก
ประโยชน์ของป่าชายหาดนั้นช่วยรักษาความสมดุลระหว่างนิเวศวิทยาชายฝั่งกับนิเวศวิทยาบนบก ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายหาดและการทับถมกันของตะกอนชายหาดซึ่งเกิดจากการหมุนเวียนตามสภาพของฤดูกาลในประเทศไทย พบป่าชายหาดได้ทั่วไปตามฝั่งทะเลอ่าวไทย ในภาคตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชลบุรีไปจนถึงจังหวัดตราด ทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงประเทศมาเลเซีย รวมถึงตามเกาะแก่งต่างๆ กลางทะเล จนอาจกล่าวได้ว่า มีป่าชายหาดอยู่ทุกพื้นที่ๆ มีทะเล
“เพราะฉะนั้นในการศึกษาธรรมชาติวิทยาหรือการศึกษาวิทยาศาสตร์แท้จริง เป็นการเข้าถึงความจริงในธรรมชาติ ในเรื่องของระบบการศึกษา ส่วนใหญ่จะไม่เคยมีองค์ความรู้เรื่องนี้ เราไม่เคยได้รู้ลึกหรือศึกษาให้ความสำคัญมากพอ ทั้งๆ ที่อยู่กับป่าชายหาดอยู่กับสังคมพืชมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องสอนให้เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ เราได้รับนิเวศน์บริการ เพราะฉะนั้นเรารักษาสังคมพืช เรารักษาป่า ไม่ใช่เพราะป่าให้ออกซิเจน ไม่ใช่เพราะป่าให้น้ำ ไม่ใช่เพราะป่าให้ประโยชน์ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์”