การหารายได้เสริมที่หลายคนสนใจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตัวเองในแต่ละเดือน และพอกับค่าใช้จ่าย เมื่อหันมามองรอบตัวใครจะคิดว่า “ดอกอัญชัน” พืชใกล้ตัวที่พบเห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะข้างทาง รั้วบ้าน หรือในร้านขายเครื่องดื่มที่มีเมนูจากดอกอัญชัน คงคาดไม่ถึงแน่ว่าดอกอัญชันราคาขายสู่ตลาดได้กำไรงาม แต่การปลูกต้นอัญชันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพบเจอปัญหาของโรคที่มากับต้นไม้ หรือที่คุณสุชาติเรียกว่า “โรคยืนต้นตาย” ถ้าหากดูแลต้นได้ไม่ดีมากพอ เม็ดเงินรายได้จากดอกอัญชัน อาจปลิวหายไปอย่างน่าเสียดาย
“ดอกอัญชัน”เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน อายุสั้น ใช้ยอดเลื้อยพัน ลำต้นมีขนปกคลุม ใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้ามยาว 6-12 เซนติเมตร มีใบย่อยรูปไข่ 5-7 ใบ กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนหนาปกคลุม นอกจากนี้ยังมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งความงาม สุขภาพที่ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง แต่ดอกอัญชันเป็นอีกพืชที่คนปลูกน้อย แต่ความต้องการในตลาดสูง ทำให้ดอกอัญชันมีราคาเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อัญชันถือเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ทั้งคาวเเละหวาน เช่น การนำดอกสดมาลวกจิ้มน้ำพริก ทอดราดน้ำยำกะทิ คั้นน้ำเผื่อใช้สีของอัญชันตกแต่งขนมหวาน การทำน้ำอัญชันมะนาว และการนำดอกอัญชันอบแห้งมาทำเป็นชา
เมื่อเห็นโอกาสจากการสร้างรายได้จากดอกอัญชัน การนำมาแปรรูป และส่งออก ทำให้สนใจเรื่องการปลูกดอกอัญชันเพื่อนำมาเป็นรายได้เสริม โดยเล่าเรื่องราวผ่าน นายสุชาติ จันทฤก อายุ 50 ปี อาชีพเกษตรกร อาศัยอยู่ที่อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ได้เห็นโอกาสในการปลูกดอกอัญชันเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการหารายได้นอกจากการทำนา ปลูกข้าวขายเพียงอย่างเดียว เป็นตัวเลือกในการช่วยเพิ่มรายได้ในช่วงที่ต้องพักนา
คุณสุชาติ เล่าว่า เริ่มปลูกดอกอัญชันมา 3-4 ปี แต่ในช่วงแรกเริ่มของการปลูกดอกอัญชันยังไม่ชำนาญ จึงทำให้ดอกอัญชันยืนต้นตายบ่อย กว่าจะเริ่มปลูกจนยืนต้นได้สมบูรณ์ก็ประมาณ 5-6 เดือนแรก โดยปกติจะทำนาเป็นอาชีพหลัก ช่วงหน้าพักนาหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็ได้นำดอกอัญชันที่ปลูกไว้นำไปขาย และได้รายได้เพิ่มได้จากปลูกดอกอัญชัน เพราะดอกอัญชันสามารถขายส่งออกได้ทุกวัน แต่ผลผลิตของดอกอัญชันแต่ละต้นใช้เวลา 3-4 เดือนในการเจริญเติบโต และออกดอกได้ตามที่ต้องการ จุดเด่นของดอกอัญชันที่คุณสุณชาติปลูก เป็นดอกอัญชันที่ไม่มีสารพิษเจือนปน ไม่ใส่สารเคมี หรือแม้แต่ปุ๋ยที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต ใช้เพียงน้ำรดเท่านั้น
“เพื่อส่งลูกที่เรียนอยู่ หาเงินในการใช้ในชีวิตประจำวัน และเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต ทำให้ต้องลองหารายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่การทำนา ปลูกข้าวขายเพียงอย่างเดียว” คุณสุชาติ กล่าว
คุณสุชาติเริ่มต้นการปลูกอัญชันจากประสบการณ์ เพราะเป็นเกษตรกรที่ทำนาเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว จึงจึงเริ่มจากการลองผิดลองถูก การเรียนรู้ อีกทั้งได้ประสบการณ์ที่ทำเกษตรมาหลายปี ไม่ได้เริ่มจากเรียนรู้จากหนังสือ หรือค้นหาข้อมูลในการปลูกมาก่อน และนำความรู้ที่ตนเองมีมาดัดแปลงเพื่อปลูกดอกอัญชัน
ขั้นแรกเริ่มจากการคัดเมล็ดพันธุ์จากต้นที่เป็นดอกซ้อน แล้วเก็บเมล็ดมาบ่มตากแดด ไว้ประมาณ 2-3 แดด คุณชาติเล่าว่า คล้ายๆ ข้าวที่จะมีการฟักตัว แล้วเก็บไว้ประมาณ 1 เดือน ถ้าแกะออกมาจะเห็นเมล็ดสีดำอยู่ด้านใน และแช่น้ำไว้ซัก 1 คืน แช่ทีละประมาณ 400-500 เม็ด
ขั้นที่สองต้นอัญชันจะแยกเขี้ยว ต้นเริ่มงอกออกมา หรือแตกหน่อจึงนำมาใส่กระถางที่มีการเตรียมดินร่วน เหมือนเป็นการเตรียมอนุบาลให้กับต้นอ่อนอัญชัน ใส่ลงไปประมาณ 5-7 วัน จะเริ่มงอกเป็นต้นอ่อน เมื่อเริ่มโตแตกออกเป็นใบ จึงย้ายไปปลุกในถุงดำ หลังจากใส่ในถุงสีดำต้นอ่อนอัญชันจะไม่มีการชะงักของต้น ทำให้ต้นเจริญเติบโตออกเป็นพุ่ม อยู่ในถุงสีดำตั้งแต่ 7 วันขึ้นเพื่อให้ต้นแตกตัวออกพร้อมกับการลงดิน
ขั้นที่สามเมื่อต้นอัญชันพร้อมจะลงดิน อยู่ในดินประมาณ 4-5 วัน ต้นจะเกิดการชะงักเพราะไม่ชินกับดินในบริเวณที่ใหม่ ทำให้ต้นเกิดการสลัดใบทิ้ง ต้นที่ลงแรกๆ จะเป็นใบสีขาวเหลืองปะปนกัน ก่อนที่ใบจะเขียว เมื่อต้นจะมีการปรับใบเพื่อหาแสง และให้รากแทงลงไปในดินใหม่เพื่อหาอาหาร ขั้นนี้ทำให้รากเกิดการชะงัก ต้นอัญชันจะใช้การตั้งตัวประมาณ 10-15 วัน เมื่อครบวันทั้งต้นจะมีใบเขียว แสดงถึงการที่ต้นไม้ติดรากติดดินเรียบร้อย การรดน้ำระยะนี้ รดแค่เว้นวันเว้น หรือทุกวันแต่ใช้ปริมาณที่ไม่เยอะ ต้นจะโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่ำกว่าสามเดือนจนจะโตเป็นต้นใหญ่ เพราะเป็นการปลูกแบบออร์แกนิค ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ให้หากินกับธรรมชาติจะทำให้ไม่เป็นโรคยืนต้นตายตาย
ขั้นสุดท้ายต้นเริ่มโตตกพุ่ม จะใช้ไม้ปักเพื่อช่วยให้ลำต้นมีการเลื้อยขึ้นตามไม้ การรดน้ำรดตามขนาดต้น ต้นที่ใหญ่ขึ้นมาจะรดแค่ 5 วัน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้นใหญ่รดเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะหากให้น้ำเยอะจะเกิดรากโคนเน่า อาจทำให้ต้นไม้ตาย ระยะนี้ก็เริ่มออกดอกพร้อมเก็บเพื่อนำไปตากแห้งก่อนนำส่งขาย
บริเวณแถวหมู่บ้านคุณสุชาติก็มีการปลูกอัญชันเช่นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคยืนต้นตาย ลักษณะคือต้น และดอกจะเหี่ยว ค่อยๆ ตายทีละใบ ในที่สุดแห้งตายทั้งต้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรคในระยะแตกกอ จำเป็นต้องเอามีดฟันออก ซึ่งที่บ้านของคุณสุชาติไม่ตาย เพราะบริเวณที่ปลูกเป็นดินใหม่ ในช่วงแรกลองใส่ปุ๋ย แต่ไม่รู้ว่ามีผลกับการเกิดโรค ทำให้สุดท้ายต้นก็ตาย เมื่อลองหาข้อมูล ยังไม่เจอถึงสาเหตุเป็นโรคอะไร จึงลองเปลี่ยนเป็นการปลูกแบบออร์แกนิค ทำให้ต้นรอดจากโรค และเปลี่ยนพื้นที่ปลูก เลี้ยงแบบธรรมชาติ ใช้เป็นการรดน้ำเพียงอย่างเดียว แต่จะไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่สารอื่นๆ
ในตอนช่วงแรก คุณสุชาติเริ่มปลูกจากดินหน้าบ้าน แต่ส่วนใหญ่ล้มต้นตายตั้งแต่ยังไม่เป็นต้น และได้ลองปลูกซ้ำกับที่เดิม ต้นยังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน จึงสันนิฐานได้ว่าบริเวณดินที่เคยมีต้นอื่นตาย ทำให้ไม่สามารถปลูกซ้ำที่เดิมได้ เพราะต้นอื่นก็จะติดโรคแล้วตายไปด้วย ไม่มียารักษา จึงเป็นเหตุผลที่อัญชันราคาขึ้นสูงในตอนนี้ และในปัจจุบันได้ย้ายไปปลูกบริเวณแถวนา เป็นที่หน้านา ริมคลองน้ำ ทำให้ต้นโตได้ง่าย และไม่เป็นโรคตาย
อีกทั้งในช่วงฤดูหนาวดอกจะลดลง ช่วงที่อากาศเย็นปริมาณดอกจะลดลง และขนาดดอกเล็กลง ในช่วงฤดูปกติจะได้ดอกสด 10 กิโลกรัม เมื่อเข้าฤดูหนาวเหลือเพียง 5-6 กิโลกรัม ปริมาณหายไปครึ่งหนึ่ง ดอกอัญชันเริ่มกลับมาเยอะ หลังช่วงที่ไม่มีอากาศหนาว และดอกอัญชันจะเยอะในช่วงฤดูฝน
ก่อนนำส่งขาย คุณชาติได้เล่าว่า นำดอกสดมาตากแห้ง ผ่านกระบวนต่างๆ เพื่อทำให้ดอกแห้ง จึงจะนำส่งขายได้ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวจะมีการให้ปริมาณดอกที่แตกต่างกัน จะอยู่ประมาณ 8-10 กิโลกรัมต่อดอกแห้ง 1 กิโลกรัม ในบางครั้งจะมีช่วงที่น้ำหนักดี คุณสุชาติจะใช้วิธีสังเกตเช่นเดียวกับการขายข้าว จึงทำให้สังเกตได้ว่าดอกมันชุ่มน้ำ ลักษณะคือดอกอัญชันชุ่มน้ำ เหมือนกับดอกอิ่มตัว และในช่วงดอกอิ่มตัวได้ไม่ต่ำกว่า 9 กิโลกรัม แต่ในช่วงทิ้งระยะในการรดน้ำ หรือไม่มีน้ำค้างเยอะ ไม่มีหมอก ไม่มีฝน อาจจะได้ 8 กิโลกรัมต่อดอกแห้ง 1 กิโลกรัม
แต่ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่จะได้เป็น 9-10 กิโลกรัม ถ้าเก็บได้ 25-30 กิโลกรัม จะได้ดอกอัญชันแห้ง 3 กิโลกรัม แต่คุณสุชาติจะชั่งปริมาณทุกวันทุกวัน เพราะว่าดอกอัญชันแต่ละวันไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในช่วงฤดูฝนดอกอัญชันจะออกดอกมากกว่าปกติ แต่ในช่วงไม่มีน้ำฝน หรือหมอกเกาะที่ดอก ดอกแห้งได้ประมาณ 9 กิโลกรัม ในแต่ละฤดูไม่เหมือนกัน ได้ต่ำสุดที่ 7 กิโลกรัมต่อดอกอัญชันแห้ง 1 กิโลกรัม
สำหรับราคาดอกอัญชันที่อบแห้งในปัจจุบันประมาณ 200 บาทขึ้นไป และมีช่วงนึงราคาสูงถึง 400 กว่าบาท แต่สำหรับคนกลาง หรือพ่อค้าจะได้ราคาที่มากกว่าเกษตรกร ในราคา 200 บาทต่อกิโลกรัม คุณสุชาติก็พึงพอใจกับราคา เพราะถือว่ายังเป็นราคาที่สูงอยู่สำหรับเกษตรกร สาเหตุที่ราคาสูงเพราะความต้องการในตลาดดอกอัญชันมีสูง แต่ปริมาณดอกอัญชันยังไม่เพียงพอ และผู้ปลูกยังไม่เยอะพอ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องโรคในดอกอัญชัน และอากาศในช่วงหน้าหนาวยังเป็นปัญหาที่ทำให้ดอกอัญชันออกดอกน้อย ดอกที่เล็กลง แต่คนยังต้องการเป็นจำนวนมากทำให้ราคาที่ขายขึ้นสูง จากในช่วงปกติจาก 100 บาท ในตอนนี้ขึ้นเป็น 200 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้การขายดอกอัญชันอบแห้ง จะมีพ่อค้าแถวบ้านของคุณสุชาติมารับซื้อประมาณ 2-3 คน ได้ราคา 100 บาทขึ้นไป และคุณชาติได้หาทางเลือกในการขายดอกอัญชันเอง โดยค้นหาจาก Facebook ที่มีเพจรับซื้อดอกอัญชันอบแห้ง ทางเพจจะให้มีการส่งดอกอัญชันตัวอย่าง 3 ขีด เพื่อทำการคัดหาสารเคมีที่ตกค้าง และตรวจสอบว่าตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการรับซื้อ จึงเริ่มมีการเริ่มซื้อขาย โดยทางเพจจะให้ร้านราคา 200 บาทขึ้นไป อีกทั้งมีการช่วยค่าครึ่งหนึ่งต่อการส่งของไปให้ทางเพจ ถือว่าเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการจัดส่ง ส่วนใหญ่คุณสุชาติจะเลือกส่งไปให้ทางเพจมากกว่า
นอกจากนี้ ก่อนจะนำส่งขาย มีการคัดเลือกคุณภาพก่อนทุกครั้ง โดยมีการเรียนรู้จากการส่งครั้งแรก ว่าการขนส่งว่าดอกอัญชันต้องสวย ดอกไม่ติดกันในขั้นตอนการตากแห้ง เพราะอาจทำให้ดอกเกิดเชื้อราในการขนส่งได้ จึงทำให้เกิดปรับตัว เก็บประสบการณ์ในการส่งแต่ละครั้ง และนำส่งดอกอัญชันได้อย่างมีคุณภาพเสมอ
ใครที่สนใจลองปลูกดอกอัญชัน ในช่วงแรกอาจเจอปัญหา ต้องการลองผิดลองถูก แต่หากเราได้เรียนรู้ และแก้ไขปัญหาได้ จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป อีกทั้งดอกอัญชันยังช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าได้ แบบคิดไม่ถึงแน่นอน