breaking news

ปอท. เผย ข่าวปลอมสร้างความเสียหาย วอนหยุดไลค์ หยุดแชร์

มกราคม 23rd, 2018 | by administrator
ปอท. เผย ข่าวปลอมสร้างความเสียหาย วอนหยุดไลค์ หยุดแชร์
Media Literacy
0

การสร้างข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอมเพื่อสร้างความปั่นป่วน ความเข้าใจผิด หรือมุ่งหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นเรื่องที่ทั้งสื่อมวลชน
และประชาชนผู้เสพข่าวสารต้องรับมือเสมอมา ในยุคที่คนอ่านข่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย  ปัจจุบันข่าวปลอมได้ถูกพัฒนาให้ส่งต่อได้ง่ายและตรวจสอบได้ยากขึ้น

พันตำรวจเอกสัญญา เนียมประดิษฐ์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ (ปอท.) กล่าวถึง กรณีข่าวปลอมที่ทางหน่วยงานได้รับแจ้งมาว่า หลัก ๆ ได้รับแจ้งเรื่องข่าวปลอมที่เกิดจากความเสียหายด้านเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้มาแจ้งความที่นี้ที่เดียวเท่านั้น เพราะยังสามารถแจ้งความได้ 2 แห่ง คือ สถานีตำรวจทั่วประเทศ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยปกติทางหน่วยงานเราจะเน้นคดีที่มีความซับซ้อน คดีที่ยาก คดีที่มีความเกี่ยวพันในหลายพื้นที่ คดีที่มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง หรือคดีที่สถานีตำรวจทำไม่ได้ แต่ไม่ได้ห้ามทุกคนสามารถแจ้งความได้ ฉะนั้นคดีที่ได้รับแจ้งมาส่วนใหญ่จะเป็นข่าวปลอมด้านหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในเว็บไซต์ ในรูปแบบเฟซบุ้ก เช่น นำข่าวไม่จริงมาลงแต่ใช้พลาดหัวจากหนังสือพิมพ์ ที่พบมาประมาณหลักสิบแต่หากเป็นลิงค์จะเยอะมากเพราะเกิดจากการที่มีคนไลค์ คนแชร์ โดยสาเหตุที่เกิดการผลิตข่าวปลอมขึ้นมา คือ เกิดจากเหตุจูงใจชอบลองของ เห็นว่าตนเองมีความสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงได้จึงอยากทำอยากโชว์ความสามารถ แม้กระทั่งเกิดจากคนที่ก่อสร้างความวุ่นวาย เช่น อาจจะท้าทายกับเพื่อนฝูงหรือต้องการให้ตนเองเป็นที่รู้จัก หรือเกิดเหตุผลทางธุรกิจ เป็นต้น และอีกอย่างที่สำคัญที่พบบ่อย คือ มีปัญหากับสื่อ เช่นเคยติดต่อไปแล้วไม่ถูกใจกัน ลงข่าวให้โดยเขียนตนเองเสียหายจึงเกิดการแก้แค้น ส่วนเรื่องของเงินยังไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรืออาจจะมีแต่เขาไม่บอก ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบคือสร้างความเสียหาย เช่น แก้คำพูดของข่าวหรือเปลี่ยนเนื้อหาของข่าวที่บิดเบือนเกินจริง ตลก น่าเกลียด  ทั้งนี้ข่าวปลอมที่พบตามเพจ ต้องดูวัตถุประสงค์ด้วย หากทำด้วยความสนุกสนาน ขบขันเพื่อเป็นจุดขาย ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาทำจนน่าเชื่อถือมากจนคนเข้าใจผิดซึ่งส่วนนี้ทางเราก็คอยตรวจสอบดูเช่นกัน สำคัญที่สุดคือ ประชาชนต้องช่วยกันหยุดไลค์ หยุดแชร์ เพราะไม่ว่าข่าวจะเป็นอย่างไรก็ตามหากอยู่เฉพาะในเพจเขามีคนดูน้อยยังไงก็ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาเพราะคนแชร์กันจนเป็นกระแส

ขณะเดียวกันคาดว่าในอนาคตข่าวปลอมไม่ลดลงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องเข้าใจว่าเรื่องข่าวปลอมในอดีตเราจะโฟกัสอยู่กับสื่อสาธารณะที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ที่ทุกคนให้ความเชื่อถือ ซึ่งในช่วงหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น คนไม่พึ่งสื่อกระแสหลักแล้ว เพราะเขามีสื่อของตัวเองหรือมีการส่งต่อกันผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์  ฉะนั้นในส่วนของสื่อกระแสหลักที่มีการผลิตข่าวปลอมจากหนังสื่อพิมพ์จะลดน้อยลง แต่สื่อที่ไม่ใช่กระแสหลักจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในไลน์นอกจากนี้เมื่อพบข่าวปลอมสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกต้องดูว่าข่าวปลอมนั้นมีผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อคนจำนวนมากหรือไม่ หากเกิดปัญหาต่อคนเพียงคนเดียวคนที่ได้รับความเสียหายสามารถมาแจ้งเองได้ และหากเป็นข่าวเราเองสามารถแจ้งได้เพราะเป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องปลอม เช่นหากมีการเปลี่ยนแปลงภาพสามารถแจ้งในเรื่องการหมิ่นประมาทหรือแจ้งในเรื่องของ (พ.ร.บ.คอม) หรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งสองส่วนนี้สามารถแจ้งที่สถานีตำรวจใกล้เคียงได้  โดยขั้นตอนการดำเนินงานของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเมื่อมีการแจ้งความเข้ามา เริ่มจากขั้นตอนแรกต้องมีรวบรวมหลักฐาน ซึ่งคนจำนวนมากมักจะเข้ามาบอกด้วยปากเปล่าแต่ไม่มีหลักฐาน เช่น ต้องมีการแคปเจอร์หน้าจอ หรือเก็บลิงค์ไว้ หลักจากที่ได้รับเรื่องแล้วทาง ปอท. จะนำไปตรวจสอบซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาจากนั้นจะมีการแจ้งข่าวเป็นระยะๆ ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อจับกุมคนร้ายได้จึงเข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงประชาชนทุกคนก็สามารถช่วยทำให้ข่าวปลอมลดน้อยลงได้  โดยขั้นตอนแรกเมื่อพบว่ามีข่าวปลอมสามารถมาแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที หากเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ให้แจ้งไปยังองค์กรนั้นโดยตรง และที่สำคัญพยายามอย่าไปเผยแพร่ต่อ ถ้าอยากช่วยสังคมอยากให้ทุกคนอ่านสักนิดก่อนแชร์หรือส่งต่อ

Share This:

Comments are closed.