ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสื่อออนไลน์ ณ ขณะนี้คงหนีไม่พ้น ปัญหา “ข่าวปลอม” ซึ่งฟังดูแล้วอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้จะเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่กว้างขวางออกไป สามารถทำให้รับข่าวสารได้ง่ายยิ่งขึ้นทั้งยังเข้าถึงทุกเพศทุกวัย โดยเปลี่ยนจากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือรับชมข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์ กลับกลายเป็นการอ่านข่าวผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแทปแลตมากยิ่งขึ้น ทำให้มีผู้ไม่หวังดีและต้องการแสวงหารายได้รวมทั้งผลประโยชน์จากการสร้างข่าวปลอมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
จากการสำรวจผู้ใช้โซเชียลมีเดียในพื้นที่ปากเกร็ด นายณรงค์ ทองกัน อายุ 47 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัวหนึ่งในผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เล่าถึงกรณีการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันของตนว่า จากเดิมเมื่อเจอข่าวปลอมจะเชื่อทันที แต่ปัจจุบันนี้ตนเริ่มเข้าใจข่าวมากขึ้นทำให้รู้ว่าข่าวประเภทใดเป็นข่าวปลอม เมื่อเจอข่าวจึงไม่ปักใจเชื่อ แต่จะตรวจสอบด้วยการหาต้นตอของแหล่งข่าว เช่น ที่มาของเว็บที่มีแหล่งอ้างอิงเชื่อถือได้ หากข่าวนั้นไม่มีแหล่งข่าวอ้างอิงจะดูแค่ผ่าน ๆ แต่ถ้าน่าสนใจมากจริง ๆ จึงเข้าตรวจสอบตามกูเกิล โดยการพิมพ์ชื่อข่าวลงไปและดูว่ามีข่าวนี้จากสำนักข่าวอื่น ๆ หรือไม่ เพราะการตรวจสอบข่าวก่อนแชร์ถือเป็นเรื่องที่ดีและยังช่วยป้องกันตนเองจากข่าวปลอมต่าง ๆ อีกด้วย
นายณรงค์กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ตามมาจากการแชร์ข่าวไปด้วยการไม่ยับยั้งใจ อาจส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ในข่าว ตัวเราหรือสังคมได้เพราะปัจจุบัน เพราะเนื่องจากความรวดเร็วของโลกออนไลน์มีผลทำให้ผู้ใช้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การไม่ยับยั้งชั่งใจ ไม่กลั่นกรอง และไม่คิดก่อนแชร์ โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะเห็นได้ชัดว่าพบเป็นจำนวนมากในกลุ่มวัยรุ่น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความเชื่อว่าหากได้แชร์หรือได้โพสต์ก่อนเป็นคนแรก จะดูดีในสายตาผู้อื่น หรือในสายตาเพื่อน ซึ่งการแชร์หรือโพสต์โดยไม่คิดนั้นอาจส่งผลต่อตนเอง คนรอบข้าง รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องในข่าวอีกด้วย