ใกล้ถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือนประชาชนให้ระวังโรคที่มาพร้อมอาหารช่วงเทศกาล เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อพบปะญาติพี่น้องและเพื่อนๆ อาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัว และมีการบริโภคดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หรือการปิ้งย่างไม่สุก ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคอันตราย โรคไข้หูดับได้ และ ระวังโรคติดต่อทางน้ำและอาหารดังนี้ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย นอกจากนี้ยังบอกวิธีป้องกันโรคให้กับประชาชนทั้วไป โดยกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังนี้
จากโรคไข้หูดับ กรมควบคุมโรค แนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงป่วยเป็นโรคซึ่งอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับ ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งหมด 338 ราย เสียชีวิต 29 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 106 ราย รองลงมาคือ 55-64 ปี จำนวน 89 ราย และ 45-54 ปี จำนวน 85 ราย เดือนที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือพฤษภาคม จำนวน 50 ราย รองลงมาคือเดือนเมษายน จำนวน 45 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หูดับมากที่สุดคือเมษายน จำนวน 5 ราย
สำหรับในปี 2562 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–28 มีนาคม 2562 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 50 ราย เสียชีวิต 10 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีโอกาสสูงที่จะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ต่างๆ เพราะอาจยังมีการนำเนื้อหมู มาประกอบอาหารแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ในงานเลี้ยงหรือทำกินเองในครอบครัว
ในกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สำหรับวิธีการป้องกันโรค คือ กินหมูสุกเท่านั้น โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร และควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์
5 โรคติดต่อเฝ้าระวัง ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 เมษายน 2562 พบมากขึ้นในฤดูร้อนโดยติดต่อทางอาหารและน้ำ 1. โรคอุจจาระร่วง พบผู้ป่วยสะสม 266,242 ราย พบผู้เสียชีวิต 1 ราย 2. โรคอาหารเป็นพิษ พบผู้ป่วยสะสม 27,977 ราย 3. โรคบิด พบผู้ป่วยสะสม 298 ราย 4. อหิวาตกโรค พบผู้ป่วยสะสม 2 ราย 5. และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย พบผู้ป่วยสะสม 215 ราย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ในช่วงฤดูร้อนเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี หากได้รับเชื้อจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว เช่น ข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ