breaking news

ทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อม

ตุลาคม 16th, 2017 | by administrator
ทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อม
Health & Sport
0

ทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมไม่ใช่อาการที่อยู่ไกลตัว แต่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณ หรือคนที่คุณรัก แม้จะไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม

โรคสมองเสื่อม เกิดจากความผิดปรกติที่เกิดขึ้นกับสมอง ทำให้เซลประสาทสมองตาย ส่งผลต่อความสามารถในการจดจำ การคิดอย่างเป็นเหตุผลน้อยลง การใช้ภาษา การคิดคำนวน และพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป

ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้มาก

สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้ แม้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะมีลักษณะภายนอกเหมือนกับคนทั่วไป แต่จะมีพฤติกรรมบางอบ่างที่ไม่ปรกติ คือ สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นที่กระทบต่อการทำงาน เริ่มทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำไม่เป็น มีปัญหาด้านการเลือกใช้คำในการพูด ไม่รู้เวลาและสถานที่ สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ ไม่ค่อยเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรม วางของผิดที่ในลักษณะแปลกๆ อารมณ์หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป บุคลิกภาพเปลี่ยนไป และสูญเสียความคิดริเริ่ม

ข้อมูลจากสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมกว่า 600,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2573 และในทุกๆ 3 วินาทีทั่วโลก จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 1 คน ซึ่งปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง หรือไม่รู้ว่าตัวเองมีภาวะสมองเสื่อม

ปัญหาผู้ป่วยสมองเสื่อมหาย เป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อย ทั้งการหายออกจากบ้าน หรือพลัดหลงกับญาติในสถานที่ต่างๆ ขั้นตอนการติดตามเมื่อผู้ป่วยหายจากมูลนิธิกระจกเงาบอกว่า ต้องเริ่มที่การหาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคนหาย เช่น รูปพรรณ ทรัพย์สิน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เพื่อนำมาเป็นจุดสังเกตในการติดตาม รวมถึงสังเกตพฤติกรรมของคนหาย เช่น มักจะขึ้นสะพานลอย หรือไม่ชอบขึ้นรถประจำทาง หรือบางคนอาจจะเดินไปเรื่อยๆ

แจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจ การแจ้งความคนหายไม่จำเป็นต้องรอ 24 ชั่วโมง และควรเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ เช่น เอกสารผู้แจ้ง เอกสารของผู้หาย สำเนาทะเบียนบ้าน ภาพถ่าย ฯลฯ การหายในลักษณะของผู้ป่วยสมองเสื่อม มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ไปไกลจากจุดที่พลัดหลงมากนัก การแจ้งความจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ประสานให้ให้สายตรวจออกตามหาได้

ออกตามหาผู้หายบริเวณต่างๆ รอบๆ บ้าน หรือเส้นทางที่ผ่านในละแวกบ้าน อาจนำภาพถ่ายไปสอบถามจากผู้ที่อาจพบเห็นหรือให้เบาะแสได้ นอกจากนี้ยังควรตามหาในสถานที่ที่ผู้หายคุ้นเคย เช่น สวนสาธารณะที่ไปออกกำลังกายประจำ โรงพยาบาลที่เคยไปรับการรักษา ร้านค้าที่เคยไปซื้อของ ท่ารถใกล้บ้าน หรือวัดที่เคยไปทำบุญบ่อยๆ

ประสานหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่นสื่อวิทยุ ที่จะช่วยในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ให้กับผู้ฟังที่มักเป็นผู้ที่สัญจรไปมาตามท้องถนน ซึ่งจะช่วยเป็นหูเป็นตาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุสวพ.91 หมายเลขโทรศัพท์ 1644 วิทยุจส.100 หมายเลขโทรศัพท์ 1137 วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน หมายเลขโทรศัพท์ 1677 หรือสื่อโทรทัศน์ ที่มีการช่วยเหลือติดตามคนหายเช่น สถานีประชาชน ThaiPBS หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1385 ถึง 7 และเรื่องจริงผ่านจอ ช่อง 7 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2691-7446

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องในโลกยุคปัจจุบันก็ทำให้เกิดนวัตกรรมมากมายที่ช่วยในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เช่น เกมคำนวนเลขที่ช่วยให้สมองทำงานตลอดเวลา ลดโอกาสเสี่ยงกับภาวะสมองเสื่อม หรือ กำไลข้อมือ QR Code ของชมรมข้อมูลประจำตัวทางการแพทย์แห่งประเทศไทย ที่มีข้อมูลของผู้ป่วยทั้งชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ญาติ โรคประจำตัว โรงพยาบาลที่รักษา และมีความทนทานสูง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดีแนะนำว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยในการดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้ดียิ่งขึ้น แต่อุปกรณ์ที่ช่วยระบุตัวตนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายรัดข้อมือ สาย QR Code หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่มีข้อมูลอยู่ ควรเริ่มนำมาใส่ตั้งแต่ยังไม่มีอาการสมองเสื่อม เพื่อที่วันหนึ่งหากเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมแล้ว จะได้มีความเคยชินกับอุปกรณ์ที่สวมใส่อยู่ หากนำมาใส่ในตอนที่มีภาวะสมองเสื่อมแล้ว ผู้ป่วยอาจคิดว่าไม่ใช่ของตน หรือไม่เคยชินแล้วถอดทิ้งได้

Share This:

Comments are closed.