นักวิชาการเผยการครองสิทธิข้ามสื่อไม่ผิด แต่ควรอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ และสื่อควรยึดหลักการทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่รอบด้าน ไม่บิดเบือนของข้อมูล และมีการกำกับดูแลกันเองที่มีบทลงโทษสื่อที่ทำผิดจรรยาบรรณอย่างเด็ดขาด
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. สมาคม นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อครองสิทธิข้ามสื่อ กับการผูกขาด ครอบงำ ข้อมูลข่าวสาร ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การครองสิทธิข้ามสื่อนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่ควรอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ “ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องถือหุ้นไม่เกิน 10% ในช่องทีวีดิจิตอลประเภทเดียวกัน” ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ก็เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด ครอบงำธุรกิจสื่อ และนับว่าเพียงพอต่อการป้องกันเบื้องต้น
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การครองสิทธิข้ามสื่อสามารถสร้างความได้เปรียบในแง่ของธุรกิจได้ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่ผิด เพราะด้วยยุคสมัยของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเรื่องที่สำคัญคือการสร้างความหลากหลายในแง่โครงสร้างของเนื้อหาสาระที่นำเสนอต่อประชาชน ไม่ใช่ควบคุมเฉพาะการแข่งขันเท่านั้น ซึ่ง เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้การครองสิทธิข้ามสื่อได้ก้าวเลยพรมแดนแล้ว หลายสื่อได้มีการครองสิทธิข้ามสื่อ แต่ถ้าหากมีการถือครองสิทธิ์ข้ามสื่อเกินกว่าที่กำหนด คือ 10% ทาง กสทช. ก็ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด ตามที่มีประกาศไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกสกัดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพราะ “สื่อเป็นแบบไหน ประชาชนเป็นแบบนั้น” แต่จะทำอย่างไรให้ข่าวสารที่ถูกนำเสนอโดนสื่อมวลชนถูกนำเสนอตามจริงและมีมุมมองที่แตกต่างกัน และกระทำให้เป็นวัฒนธรรมของสื่อมวลชน
สุดท้าย รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การครองสิทธิข้ามสื่อหรือไม่ แต่อยู่ที่การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อ อาจมีการบิดเบือนการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน นำเสนอไม่ และผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้ เพราะการห้ามการรับข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นเรื่องยาก จึงควรรู้เท่าทันโดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว แล้วจึงสร้างองค์กรผู้บริโภคข่าวสารที่เข้มแข็ง เมื่อพบสื่อขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลที่หมิ่นเหม่ด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็ควรมีรูปแบบการเอาผิดกับสื่อมวลชนด้วย