ในโลกยุคไร้พรมแดนที่อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมทุกคนบนโลกเข้าหากันได้ด้วยเพียงปลายนิ้วสัมผัสบนหน้าจอทัชสกรีน หรือแป้นพิมพ์ เทคโนโลยีตัวนี้ช่วยทำให้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นก็จริง แต่ผลที่ตามมาจากความใกล้ชิดกันได้ง่ายแบบนั้นมีหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การหลอกลวงข้อมูลบนโลกออนไลน์ , การโจมตีกันบนโลกไซเบอร์ หรือที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดอย่างการปะทะกันด้วยคารมด้วยคอมเมนต์ที่เสียดสีกันอย่างรุนแรง เป็นต้น ซึ่งสิ่งพวกนี้ล้วนเกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะนิรนาม” ทั้งสิ้น
สภาวะนิรนาม หรือ Anonymity คือ สภาวะการที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถระบุตัวตนได้ จากการสัมภาษณ์อาจารย์หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า “สภาวะนิรนาม หรือ กึ่ง ๆ นิรนามในโลกโซเชียลแบบนี้นี่แหละค่ะ ที่อาจจะทำให้เรากล้าทำอะไรที่มันเข้มข้น รุนแรง อาจจะใช้คำไม่สุภาพ ใช้คำหยาบคายอะไรบางอย่างมากกว่าในชีวิตจริง เพราะเรารู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของเราบนโลกโซเชียลมีเดียมันอาจจะลดลง เพราะไม่มีใครรู้ว่า เราเป็นคนพูด เราเป็นคนเขียน ไม่มีใครระบุตัวตนเราได้” โดยตัวความหมายจริง ๆ ของมันตามที่บทความของเพจ Psychology CU ได้เขียนเอาไว้ คือ ความนิรนามเป็นองค์ประกอบสำคัญในการลดความเป็นตัวตน มันคือการทำให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่การระบุตัวบุคคลนั้นเด่นชัดน้อยลง เช่น การอยู่ในที่มืด แสงสลัว การอยู่ในฝูงชนแออัด หรือการอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งพวกนี้จะโน้มน้าวให้บุคคลทำพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากปกติ ทำในสิ่งที่ปกติแล้วไม่กล้าทำออกมา ส่วนจะดีจะร้ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมตอนนั้นจะพาไปนั่นเอง
ว่าง่าย ๆ คือ การที่ระบุตัวตนไม่ได้แบบนี้จะทำให้คนเราขาดความรู้ตัว ขาดความนึกคิด วิเคราะห์ และเหตุผลมากขึ้น มีสติน้อยลง และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ จึงทำให้เกิดการทำอะไรแปลก ๆ ได้เยอะตามต่อสิ่งเร้าจะส่งผลให้ทำ และที่อันตรายคือความรุนแรงในการกระทำก็ไม่สามารถควบคุมได้เช่นกัน และตามผลการวิจัยของ Jacquelyn A Burkell จากมหาวิทยาลัย Western Ontario บทความในหัวข้อ Anonymity in Behavioural Research: Not Being Unnamed, But Being Unknown ที่เขียนขึ้นมาในปี 2006 ได้แบ่งแยกประเภทของสภาวะนิรนามเอาไว้ 3 แบบ ประกอบด้วย
1.สภาวะนิรนามจากการระบุตัว (Identity Protection) เกิดจากการที่ชื่อของเราไม่ถูกเปิดเผย ไม่ถูกระบุ
2 สภาวะนิรนามจากการสังเกตเห็น (Visual Anonymity) เกิดจากการการที่ฝ่ายตรงข้ามมองไม่เห็นเรา
3.ความนิรนามจากพฤติกรรมที่ตนกระทำ (Action Anonymity) เกิดจากการที่ไม่มีใครรู้สิ่งที่เรากระทำได้
ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนั้นสังเกตแล้วมันมีอยู่ในการใช้โลกออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการไม่ระบุตัวจากการใช้แอคเคาท์ปลอม ใช้ชื่อปลอมในโลกออนไลน์ การไม่สังเกตเห็น โลกออนไลน์ก็เป็นโลกที่เวลาคุยกันก็ไม่อาจเห็นหน้าค่าตากันได้อยู่แล้วหากไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เน้นไปสำหรับการโทรคุยแบบเห็นหน้า แล้วยิ่งการที่ไม่มีใครรู้เห็นสิ่งที่เรากระทำอีก เรียกได้ว่าครบสูตรสำหรับการเกิดสภาวะนิรนามให้กับบุคคลเลยทีเดียว
พอเมื่อบุคคลเกิดภาวะนิรนามบนโลกออนไลน์ขึ้นมาแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็เลยมีแนวโน้มในการปลดปล่อยสิ่งที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริงออกมา หรือจะเป็นการระเบิดอารมณ์ที่อัดอั้นสะสมมาตลอดทั้งวันจากการผจญภัยในชีวิต เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากโลกแห่งความจริงกันทั้งนั้น จึงไม่แปลกเลยที่เหตุการณ์แบบนี้จะพบเห็นได้บ่อย โดยเฉพาะในคอมเมนต์ของหัวข้อที่มีเจตนาของการยุยงให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน
เพราะสาเหตุนี้เอง กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ใช้แอคเคาท์ปลอม ใช้แอคหลุมที่ไม่ระบุตัวตนจริง ๆ ของตัวเองจึงมีแนวโน้มในการระเบิดอารมณ์ และใช้อารมณ์ในการวิจารณ์ ถกเถียง พูดคุยมากกว่า เพราะพวกเขาสบายใจในสถานะที่ไม่มีใครระบุตัวตนของพวกเขาได้นั่นเอง มีผลลัพธ์จากการวิจัยที่ยืนยันได้จาก การศึกษาเกี่ยวกับการรับรู้ความนิรนามและคุณภาพของความคิดเห็นในเว็บออนไลน์ (Omernick & Sood, 2013) ที่ศึกษาเกี่ยวกับคน 3 กลุ่ม กลุ่มผู้ใช้ระบุตัวตน กลุ่มผู้ใช้นามปาก และกลุ่มไม่ระบุตัวตน พบว่า ผู้ใช้ระบุตัวตน แสดงความคิดเห็นตรงกับหัวข้อเรื่องมากกว่า มีคำด่าทอและแสดงอารมณ์โกรธน้อยกว่า แสดงความคิดเห็นด้วยความรู้สึกทางบวกมากกว่า แต่ถ้านับจำนวนการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ผู้ใช้ไม่ระบุตัวตนมีการแสดงความคิดเห็นมากกว่านั่นเอง
นอกเหนือจากตรงจุดนี้แล้ว จากการสัมภาษณ์ อาจารย์หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพูดอีกว่า “สภาวะนิรนามในสังคมออนไลน์ เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดกับเรา แบบ มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ มันเหมือนกับว่าเราพูดคุยกับใครก็ไม่รู้ มันมีดีเลย์ของเวลาอยู่ในการที่เราจะปะติดปะต่อเวลาพูดคุยกัน เพราะฉะนั้นมันเหมือนไม่ใช่ Face to Face Interaction (การปฏิสัมพันธ์แบบต่อหน้า) มันมี Gasp (ช่องว่าง) ตรงนี้อยู่ ทำให้คนแสดงพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนกับชีวิตจริงเขาจะทำ” สรุปได้ว่า นอกเหนือจากความนิรนามที่ทำให้คนเราใจกล้ามากขึ้นแล้ว การพูดคุยในโลกออนไลน์ที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้ากันตรง ๆ ไม่ได้พูดคุยอย่างลื่นไหลต่อเนื่องกันตลอดทำให้ข้อมูลไม่ปะติดปะต่อกันจนทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิดจนนำไปสู่การปะทะคารมกันได้ง่ายมากขึ้นด้วย
ต่อจากส่วนนั้นก็ยังมีในจุดที่ เพราะโลกออนไลน์ไม่ได้คุยกันแบบหน้าต่อหน้า มันก็เลยทำให้ไม่ได้เห็นภาษากายที่เหลือที่ช่วยทำให้คนเราเข้าใจในการพูดคุยมากเสียยิ่งกว่าการใช้ภาษาพูดกันเสียอีก ทั้งสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียงในการพูด ทุกอย่างช่วยบ่งบอกโทนอารมณ์ในการพูดคุยได้เป็นอย่างดี แม้จะพูดกันอย่างร้อนแรง ปะทะกันทางคำพูดฟังดูรุนแรง แต่ถ้าสีหน้ายังยิ้มแย้ม ท่าทางยังดูผ่อนคลายกันก็ตีความได้ว่าเป็นการเล่นกันขำ ๆ เท่านั้น แต่ในโลกออนไลน์นี้ไม่ใช่ บางแพลตฟอร์มที่เน้นในการใช้ข้อความมากกว่าอย่างเช่น Facebook Twitter เป็นต้น มันทำให้การพูดคุยผ่านช่องทางนี้ไม่มีทางได้เห็นอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากข้อความ แล้วนั่นทำให้เราต้องตีความเองว่าอีกฝ่ายกำลังพูดคุยด้วยโทนอารมณ์แบบไหน นั่นจึงทำให้แค่คำคำเดียวอาจจะตีความไปได้หลากหลายแง่มุม หลากหลายอารมณ์จนก่อเกิดเป็นที่มาในการปะทะคารมกันแบบเพิ่มเติมด้วยก็เป็นได้ เช่น คำว่า ไม่เป็นไร เพียงคำเดียว ถ้าหากจินตนาการน้ำเสียงเป็นเสียงห้วน ๆ ไร้อารมณ์เมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นชนวนหาเรื่องได้ในทันที กลับกัน ถ้าจินตนาการเป็นเสียงอ่อนนุ่ม สุภาพขึ้นมา มันก็จะกลายเป็นการพูดนอบน้อมอย่างสุภาพน่าฟังเลยทีเดียว
เพราะโลกออนไลน์มีข้อจำกัดทั้งการที่มองไม่เห็นอีกฝ่ายเวลาคุยกัน การเกิดสภาวะนิรนามที่ช่วยทำให้คนกล้าที่จะปลดปล่อยด้านมืดออกมามากกว่าเดิม ลดความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำ ลดสติ ลดความคิดรอบคอบที่ทำให้ไม่สามารถรู้ตัวได้ทันว่าที่ตัวเองทำไปกำลังจะทำร้ายผู้อื่นได้ เพราะแบบนั้นเอง เราทุกคนจึงควรมีสติตลอดเวลากับการใช้โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะใช้แอคเคาท์จริง หรือแอคเคาท์ปลอมก็ตาม เราควรให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ ควรเคารพความคิดต่าง ๆ เคารพอีกฝ่ายที่กำลังพูดคุยด้วย พึงระลึกเสมอว่าอีกฝั่งของหน้าจอเขาก็เป็นคนที่มีอารมณ์เหมือนกับเรา ถ้าเราเจ็บปวดเพราะอารมณ์ด้านลบที่รุนแรง เราก็ไม่ควรทำอะไรแบบนั้นกับเขาเช่นกัน คำว่าคิดก่อนพูดนี้ใช้ได้เสมอโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ยิ่งควรคิด ยิ่งควรตระหนักก่อนทุกครั้งที่จะพิมพ์อะไรลงไปว่ามันโอเคแล้วรึยัง มันจะส่งผลเสียอะไรขึ้นมาหรือเปล่า?
ใครก็ตามที่อ่านบทความนี้อยู่แล้วรู้สึกว่าตัวเองกำลังตกหลุมพรางของโลกโซเชียล กำลังตกเป็นเหยื่อของสภาวะนิรนามจนทำร้ายเพื่อน ๆ หรือคนรอบข้างในโลกออนไลน์ไปแล้ว ใครที่สามารถปรับตัว ตั้งสติได้เลยก็ดีไป แต่ใครก็ตามที่รู้สึกลำบาก หรือยากเหลือเกินในการตั้งตัว สิ่งที่เราควรทำคือการฝึกฝนนั่นเอง แม้แต่เรื่องแบบนี้ที่เกี่ยวกับการพูดคุย หรือเรื่องของจิตใจก็สามารถฝึกฝนกันได้ เพราะปกติแล้วในชีวิตจริงของคนเรานั้นมักมีโอกาสโต้แย้ง โต้เถียงความคิดเห็นกันไม่มากมายเท่าไหร่นักโดยเฉพาะในสังคมโรงเรียนที่แทบจะเป็นครึ่งชีวิตของใครหลาย ๆ คนไปแล้ว เพราะในสังคมคนหมู่มากแบบนั้น พอเราคิดต่างเราจะกลัวไปเองจนไม่กล้าพูดอะไร สุดท้ายจึงเงียบเฉย และปล่อยให้มันหายไป หรือไม่ก็ค่อยมาระบาย มาลงกับโซเชียลมีเดียให้สบายใจนั่นแหละ เพราะงั้น สิ่งที่ควรทำในการปรับตัวเองจริง ๆ ก็คือ การฝึกแสดงความคิดเห็นกับคนอื่น ๆ ในโลกออฟไลน์ให้มากขึ้น กล้าที่จะถกเถียงกันด้วยเหตุผล ทรรศนะดี ๆ ต่อกัน ถ้าในโลกจริงทำได้แล้ว ในโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้วล่ะ
อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ให้แสวงหามากมาย เป็นเครื่องมือสำคัญที่คนยุคใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานมันให้เป็น ยิ่งกับโลกโซเชียลมีเดียที่มีสิ่งล่อตาล่อใจเต็มไปหมดนี้ด้วยแล้ว จงอย่าให้โซเชียลมีเดียเล่นเรา เราต่างหากที่เป็นผู้ควบคุมเล่นอยู่กับมัน
ข้อมูลจาก:
บทสัมภาษณ์อาจารย์หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.researchgate.net/publication/261310403_The_Impact_of_Anonymity_in_Online_Communities