.
……….รองศาสตราจารย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการวิจัยอิสระ ASEAN Business Intelligence กล่าวว่า การรวมอาเซียน ถือเป็นการรวมให้เป็นหนึ่งเดียว มีเป้าหมายเพื่อรวมทั้ง 10 ประเทศ เพื่อสร้างโอกาสด้านการติดต่อการค้า การดำเนินกิจการกับประเทศต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีทักษะที่โดดเด่นเฉพาะด้าน และสร้างให้เป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อดึงขึ้นมาเเข่งกับชาติอื่นในอาเซียน นอกจากนั้น ควรส่งเสริมการขยายโอกาสทางด้านการศึกษา และด้านแรงงานการประกอบอาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมทุกด้านของระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานในการสร้างฐานให้นักศึกษามีศักยภาพ มีคุณภาพ และยังเป็นรากฐานในการสร้างโอกาสและความเจริญทางด้านแรงงานในการประกอบอาชีพ การศึกษาควรเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปลูกฝังหรือพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทย ในการเรียนการสอนควรมีการนำความรู้ใหม่ๆ มาสอนเพื่อต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ ในแง่การศึกษาวิจัย ควรศึกษาเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน และการหางานของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังมีข้อมูลดังกล่าวไม่มากพอที่จะให้วิเคราะห์โอกาสของนักศึกษาไทยอย่างรอบด้าน
.
.
……….ในแง่ของระบบการศึกษา ประเทศไทยควรเน้นให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นทางวิชาการและวิชาชีพที่เรียนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียนใน 7 สาขาวิชาชีพ ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ประกอบด้วยในอาชีพวิชาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาหรือการแพทย์ ทันตกรรม พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การสำรวจ หรือนักสำรวจ และบัญชี นอกจากนั้น ต้องพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นภาษากลางในการติดต่อระหว่าง 10 ประเทศ จะเพิ่มโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน จากสถิติล่าสุดการจัดอันดับความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษในอาเซียน ไทยยังคงรั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน
..
.
……….นอกจากนี้ หากให้มีคุณภาพและศักยภาพที่เเน่นพอ สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ ถือเป็นตัวเสริมที่สร้างโอกาสในการทำงานมากกว่าเดิม เพราะเมื่อเปิดอาเซียนเดินทางไปทำงานทั่วทั้งอาเซียนจะไม่มีข้อกีดกั้น ดังนั้นตัวนักศึกษาไทยก็ต้องมีการเตรียมตัวให้ดีที่สุด มีเป้าหมายให้ชัดเจน ใฝ่เรียนรู้ให้มากที่สุด ต้องมีความรู้ความสามารถ ในการบริการ การทำงานกับเพื่อนร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการปรับตัว ความเร็ว ความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นหลัก เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และพัฒนาสม่ำเสมอ การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญไม่จำเป็นต้องหาจากบุคคลอื่นภายนอก การค้นหาทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ถือเป็นการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ ค้นหาความรู้รอบตัวบ่อยๆ ปรับทัศนคติมีความคิดที่ริเริ่มในการที่จะปรับตัวเอง เพื่อพร้อมรับกับสิ่งใหม่ ให้ได้มายังความก้าวหน้าทั้งทางการงานที่ต้องแข่งขัน และพัฒนาศักยภาพของไทยในอาเซียนพยายามคิดในทางบวก ในส่วนนี้ที่ไทยต้องปรับ ไม่ว่าการศึกษาที่มาจากครูผู้สอนที่ปลูกฝัง ภาษาหรือการพัฒนาตัวเอง หมั่นศึกษาข้อมูลจากเพื่อนบ้าน หรือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต แนวคิดนั้นไทยจะสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียนได้
.
……….ด้านการรับประกันความก้าวหน้าการทำงานในอนาคต รศ.ดร.การดี เสริมว่า ไทยต้องศึกษาประเทศในอาเซียน และสร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศให้ชัดเจน จึงจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เนื่องจากในอนาคตตลาดในภูมิภาคจะไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะประเทศนั้นๆ จึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยเฉพาะหลังปี 2558 มีกระแสทุนสินค้าที่มากขึ้น แต่ละประเทศมีการผลิตสินค้าหรือนวัตกรรมที่ต้องคิดเผื่อไปทั้งภูมิภาค ตลาดเเรงงานที่จะมีการไหลข้ามพรมแดนไปหากันได้สะดวกมากขึ้น แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจนต่อไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่ต้องเตรียมตัวแรงงานในระยะยาวเพื่อรองรับโอกาสและสู้การแข่งขัน
“ตัวกำหนดความก้าวหน้าเหล่านี้ ถือเป็นหลักในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งความรู้เกี่ยวกับภาษาหลัก วัฒนธรรม วิถีชีวิต เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สิ่งนี้จะทำให้นักศึกษาไทยมีโอกาสในการมีงานทำหรือไม่ ต้องมีการปรับตัว เรียนรู้ จึงอยู่รอด ที่สำคัญทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับเศรษฐกิจแรงงานที่ตกต่ำ ทำให้มีความต้องการในการใช้แรงงานที่มีความรู้ความสามารถมากขึ้น การรับมือกับสิ่งที่ท้าทายและสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสในการได้รับตำแหน่งงานที่ดีกว่า และเพื่อศักยภาพของเเรงงานไทยอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”
.
.
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://issuu.com/theprototype/docs/issue1