breaking news

นั่งคุยกับ “ธัญญารัตน์ ถาม่อย” ผู้ประกาศข่าว PPTVHD36 กับการทำงานของนักข่าวที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด!

พฤศจิกายน 28th, 2023 | by Methasit Kampae
นั่งคุยกับ “ธัญญารัตน์ ถาม่อย” ผู้ประกาศข่าว PPTVHD36 กับการทำงานของนักข่าวที่ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด!
Lifestyle
0

 

 

หากเรานึกถึงชื่อของนักข่าวระดับต้น ๆ ของไทย แน่นอนว่าไม่มีชื่อของ “ธัญญารัตน์ ถาม่อย” ไม่ได้อย่างแน่นอน โดยเธอเป็นผู้ประกาศข่าวในรายการ “เข้มข่าวใหญ่” ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 22.50 น. และวันศุกร์ เวลา 22.15 น. รวมถึงรายการเที่ยงทันข่าว ในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11:25 น. ทาง PPTVHD36

โดยในวันนี้ ทีมข่าว The Prototype ของเราได้มีโอกาสไปเยือนถึงสถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 เพื่อที่จะไปสัมภาษณ์คุณธัญญารัตน์ถึงการเป็นนักข่าว ว่ากว่าจะมาเป็นนักข่าวมืออาชีพได้นั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และต้องมีอะไรถึงจะเป็นนักข่าวได้

 

 

ก่อนที่จะมาเป็นนักข่าว เรื่องราวในวัยเด็กเป็นอย่างไร และก้าวมาเป็นนักข่าวอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรครับ ?
“พี่อาจจะโชคดีที่พี่รู้ตัวเองอยู่แล้วว่าพี่อยากจะเป็นอะไร ในสมัยเด็ก สมัยนั้นการที่พี่ได้เห็นผู้ประกาศข่าวในทีวี ทำให้รู้สึกอยากเป็นอย่างเขา อยากเล่าเรื่องเก่ง ๆ แบบเขา จนพี่ได้เริ่มต้นโดยการเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกงานที่ “ช่อง 7” ในรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” กับรายการ “ประเด็นเด็ด 7 สี” ซึ่งพี่ ๆ ที่นั่นเห็นแววพี่และให้พี่ลองเริ่มจากข่าวอาชญากรรม แรก ๆ ก็ต้องฟังวิทยุ คอยฟังแจ้งเหตุ คอยตระเวนไปจุดเกิดเหตุ เห็นเลือดเห็นร่างผู้เสียชีวิต เห็นทุกอย่าง แต่ด้วยความที่เราชอบเรื่องราว ชอบอะไรก็ตามที่มีที่มาที่ไป ก็เลยทำข่าวอาชญากรรมมา 10 กว่าปี จนปัจจุบันก็มาออดิชั่นจนได้มาเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง PPTVHD36 อย่างเช่นทุกวันนี้.”

เมื่อได้เป็นนักข่าวแล้ว มีวิธีการทำงานอย่างไรครับ ?
“ในการเป็นนักข่าว เราต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “แหล่งข่าว” ซึ่งอาจเป็นตัวบุคคล หรือเป็นองค์กรต่าง ๆ ถ้าให้พี่ยกตัวอย่าง เช่น ข่าวอาชญากรรม ก็ต้องรู้จักกับตำรวจ หรือใครก็ตามที่จะรู้เรื่องก่อนเรา จากนั้นก็จะมีการส่งข้อมูลต่อกันมา อันดับแรกก็ต้องตรวจสอบก่อนว่า ข่าวเรื่องนี้เท็จหรือจริงแค่ไหน และเป็นประเด็นที่ควรจะต้องนำไปทำข่าวหรือไม่ เช่น หมาแมวกัดกันก็ปล่อยไป แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ ๆ ถนนสุขุมวิทยุบแล้วมีรถบรรทุกตกลงไป อะไรก็ตามที่ดูแบบไม่ธรรมดาเราก็ต้องไปทำข่าว เพราะว่าข่าวไม่ใช่เอาอะไรมาออกทีวีก็ได้ ควรจะเป็นข่าวที่สังคมควรจะรู้ รู้แล้วได้อะไรต่อ รู้แล้วไปตามหาต่อ ซึ่งเวลาพี่ไปที่เกิดเหตุ ไปสอบถาม ตั้งข้อสงสัย มีทีมงานคอยเก็บภาพ สมัยก่อนต้องกลับมาเขียนข่าวที่สถานี แต่ตอนนี้สามารถเขียนผ่านโทรศัพท์มือถือส่งได้แล้ว เพราะข่าวแข่งกันด้วยความเร็ว ฉะนั้นต้องอัปเดตให้ไว ต้องมีอุปกรณ์ส่งภาพส่งข่าว และถ้าเหตุการณ์นั้นควรจะรายงานสดจริง ๆ ก็รายงานสดตรงนั้นเลย และท้ายที่สุดจากกระบวนการ ก็จะกลับมาอ่านข่าว ทำแบบนี้ทุกวัน จนเป็นวิถีชีวิตไปเลย”

ถ้าอยากทำอาชีพนี้ให้มีความสุข ต้องมีอะไรบ้างครับ ?
“ต้องมีแพชชั่นอย่างมากในการทำข่าว เพราะมันเหนื่อย แต่ไม่ได้เหนื่อยแบบดราม่าว่าอาชีพอื่นเขาไม่เหนื่อย แต่ถ้าไม่มีแพชชั่่น ยากมากที่จะอยู่ในสายอาชีพนี้ได้ สมมติว่าเราเป็นพนักงานออฟฟิศ งานเริ่ม 9 โมง พอถึง 6 โมงก็เลิกงาน แต่เราเป็นนักข่าว ข่าวเกิดขึ้นตลอดเวลา พี่เคยโดนโทรปลุกตอนตี 2 เพื่อที่จะให้แพ็คกระเป๋าไปถ้ำหลวง ตอนกำลังจะขับรถกลับบ้านก็มีเหตุยิงกันที่โคราชก็ต้องขับกลับไป เราต้องอุทิศตนให้กับการทำข่าวถ้าอยากจะทำอาชีพนี้ แต่ข้อดีก็มีเยอะ เพราะพี่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ มีอิสระในการพูด พูดแล้วมีผลกระทบตามมา แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันทำให้รู้สึกดีที่ได้ทำอาชีพนี้”

ในการนำเสนอข่าวให้น่าสนใจ ต้องทำอย่างไรครับ ?
“สำหรับพี่คือพี่ชอบเล่าเรื่อง ด้วยความที่พี่เป็นนักข่าวอาชญากรรมมาก่อน อย่างตอนที่ทำประเด็นเด็ด 7 สี เมื่อ 10 กว่าปีก่อน พี่จะทำสกู๊ปข่าว ด้วยความที่เป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวสืบสวนสอบสวน วิธีการก็คือ ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาเล่าให้ผู้ชมดู ถ้าน้องเป็นนักศึกษา เวลาน้องทำข่าว น้องอาจจะเรียงลำดับเหตุการณ์ไปตามเรื่องของมัน แต่ถ้าเป็นแบบพี่ ยกตัวอย่างเรื่องเมื่อวานที่พี่ได้อ่านข่าว พี่ได้สมุดเล่มหนึ่งของกลุ่มเด็กช่างที่ตีกัน ที่เป็นหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมา ซึ่งสมุดเล่มนี้บ่งบอกถึงองค์กรเขาได้ว่า เขาทำกันเป็นกระบวนการ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง คือพี่จะไม่ได้เรียงลำดับ อะไรที่พี่คิดว่าดี พี่เอาขึ้นก่อนเลย แต่ก็ต้องผ่านการตรวจสอบก่อนทุกครั้งเช่นกัน”

 

 

การเป็นนักข่าวภาคสนาม แตกต่างจากผู้ประกาศข่าวหน้าทีวีอย่างไรบ้างครับ ? ยากไหม ? ต้องทำอะไรบ้าง ?
“คนดูอาจจะเห็นว่าทั้งสองมีความต่างกัน แต่เอาจริง ๆ ด้วยความที่พี่อยู่มาทั้งสองสาย บอกเลยว่าทั้งสองมีความสำคัญเท่ากันทั้งคู่ หลายครั้งที่มีข่าวใหญ่ ๆ ไม่มีใครอยากมานั่งหน้าจอหรอก เขาจะแย่งกันเพื่อที่จะได้ไปอยู่ตรงจุดเกิดเหตุ แต่ที่แน่นอนคือ ต้องมีการหาข่าวและตรวจสอบข้อมูล”

สมมติว่ามีเหตุการณ์ด่วนในพื้นที่นั้น ๆ ทีมข่าวสามารถส่งนักข่าวไปที่จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วได้อย่างไรครับ ?
“เอาจริง ๆ ก็ไปกันเลย ส่วนใหญ่เราจะต้องมีการตกลงกันจากกองบรรณาธิการก่อนว่าจะส่งใครไป สมัยนี้ก็คุยกันผ่านไลน์กลุ่มได้เลยว่า จะส่งใครไป ใครว่าง ใครไปได้ ใครเหมาะสมกับงานนี้ บางทีใครอยู่ใกล้สุดก็ไป ทำยังไงก็ได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งสมัยนี้ก็มีโซเชียลมีเดียด้วย หรือเราอาจจะติดต่อไปยังนักข่าวส่วนกลาง หรือเรียกอีกอย่างว่านักข่าวประจำจังหวัด ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ประจำช่องใดช่องหนึ่งหรอก คือได้ข่าวแล้วก็จะส่งไปให้หลาย ๆ ช่องนั่นเอง.”

นักข่าวที่คอยรายงานข่าวอยู่ทุกวัน มีวิธีบริหารจัดการเวลายังไง ระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ?
“แต่ละวันพี่ก็เพลิดเพลินไปกับการทำงาน เพราะพี่มีความสุขกับงานของพี่เอง เวลาว่างก็จะมานั่งคุยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ นักข่าวว่าทำข่าวอะไรไปบ้าง ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์กัน บางทีพี่ก็มีเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยมานัดคุยกันในวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อผ่อนคลายจากการทำงาน”

จริงหรือไม่ที่ว่า การทำข่าวให้น่าสนใจ ต้องทำให้คนดูมีแรงจูงใจในการติดตามข่าวของเรา ?
“พี่ว่าจริงนะ ดูอย่างตอนนี้ก็มีการโรลเพลย์ออกทีวีกัน เดี๋ยวนี้เครื่องมือมันเยอะมาก ทั้งกราฟิก อิมเมอร์ซีฟ และวิธีการเล่าของแต่ละช่องก็ไม่เหมือนกัน เพราะมันสะท้อนจากแหล่งคนดู ว่าเรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ยกตัวอย่างเช่น “ไทยรัฐทีวี” ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือชาวบ้านหรือคนที่ชอบฟังข่าวง่าย ๆ สบาย ๆ ทีมข่าวก็จะเล่าให้เข้าใจง่าย ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ มันไม่ง่ายเลยที่จะเล่าให้มันเป็นธรรมชาติและดูสนุก ในขณะที่ PPVTVHD 36 ของเราก็จะมีกลุ่มเป้าหมายคือคนที่อาจจะชอบข่าวแบบเจาะลึก ข่าวสังคม ข่าวกีฬา ซึ่งพี่ว่า แรงจูงใจของข่าวในแต่ละช่องนั้น วัดกันที่กลุ่มเป้าหมาย”

หากตอนนี้ มีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักข่าว แต่ไม่รู้แนวทางว่าควรไปอย่างไร พี่ช่วยแนะนำได้ไหมครับ ?
“อันดันแรกต้องดูข่าวก่อน พี่รู้สึกว่าปัญหาของเด็กรุ่นใหม่อย่างหนึ่งคือคลังข่าว หรือพื้นฐานข่าว ตอนแรก ๆ พี่ก็เป็น ตอนฝึกงานใหม่ ๆ พี่ไม่มีความรู้เลย เวลาไปเจอหน้าตำรวจ พี่ไม่รู้ว่าดาวที่อยู่บนไหล่หรือลำดับชั้นยศเรียกอะไรยังไง พี่เลยแนะนำให้ดูข่าวเยอะ ๆ เรียนรู้และสังเกตว่านักข่าวทำอะไรแบบไหน เขานำเสนอยังไง เล่าเรื่องอย่างไร ใช้คำยังไง หรือพาดหัวข่าวกันยังไง ซึ่งพี่รู้สึกว่าการเรียนรู้ตอนนี้มันไม่ต้องไปรอในห้องเรียน น้อง ๆ อาจจะไม่ได้มีอารมณ์เรียน หรือวิชาที่เรียนไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายของเรา แต่เดี๋ยวนี้อินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ พี่ก็ทำติ๊กต่อกด้วยเช่นกันนะ เพื่อที่จะฝึกในการเล่าเรื่อง ทำยังไงให้คนเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อใน 2 นาที เพราะติ๊กต่อกมันท้าทายตรงที่ 10 วินาทีแรกต้องทำให้คนดูสนใจให้ได้ ถ้าคนไม่สนใจเขาจะเลื่อนผ่านไปเลย การฝึกแบบนี้ก็นำมาใช้ในการเล่าข่าวของเราได้ ว่าจะเล่ายังไงให้คนสนใจ ในขณะที่พี่ทำงานมาแล้ว 10 กว่าปี พี่ก็ยังคงฝึกต่อไป บางคนก็ไม่ได้เป็นนักข่าวด้วยซ้ำแต่ก็ยังสร้างอาชีพสร้างรายได้จากการเป็นยูทูบเบอร์หรือติ๊กต่อกเกอร์ ถ้าอยากฝึกก็ฝึกเลย พยายามเรียนรู้สิ่งที่เป็นพื้นฐานเยอะ ๆ”

พี่มีคติประจำใจหรือแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างไรครับ ?
“พี่จะมีความสุขเมื่อเห็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงจากการนำความจริงมาเล่าให้คนในสังคมได้รับรู้ค่ะ”

นอกจากจะติดตามคุณธัญญารัตน์ทางPPTVHD36 สามารถติดตามเธอทางโซเชียลมีเดียที่เฟซบุ๊ก น้อง-ธัญญารัตน์ ถาม่อย และติ๊กต่อก thanyaratreporter ได้เลย

 

เรื่อง: เมธาสิทธิ์ ก่ำแพ

ภาพ: ธัญญารัตน์ ถาม่อย

กราฟิก: ชนกธมน จินชัย

Share This:

Comments are closed.