breaking news

โหล 6 ใบ แผน(ทรัพย์)ซัพพอร์ต ฉบับคู่รัก

มกราคม 30th, 2021 | by administrator
โหล 6 ใบ แผน(ทรัพย์)ซัพพอร์ต ฉบับคู่รัก
About CA
0

ครั้งหนึ่งในชีวิตทุกคนคงจะเคยผ่านการเป็น First Jobber หรือการเริ่มทำงานครั้งแรก แน่นอนว่าการใช้เงินก้อนแรกที่หามาได้ด้วยตัวเองนั้น คงจะเป็นความฝันของใครหลายๆ คน และสิ่งที่สำคัญในการใช้เงินนั้นก็คือการบริหารจัดการเงินนั้นเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีรูปแบบการบริหารเงินให้เลือกศึกษาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วสำหรับคุณที่จะต้องบริหารเงินด้วยตัวเองหรือยิ่งคนที่กำลังมีความรัก จะต้องมีการบริหารเงินกันอย่างไร และยิ่งเป็นช่วงสถานณ์การโควิด-19 แล้ว จะมีวิธีการเก็บเงินแตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร ให้สามารถมีชีวิตที่ใช้เงินได้อย่างไม่ต้องเกรงใจกระเป๋าสตางค์ ตามมาอ่านวิธีที่น่าสนใจอย่างระบบ 6 Jars และระบบสภาพคล่องกันเลยดีกว่า

คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า คุณจะไม่ใช้เงินหมดไปกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองในช่วงการเป็น first jobber หรือหมดไปกับการมีความรักที่แสนจะหวานชื่น ด้วยเหตุนี้ถึงได้มีนักวิชาการที่มีความรู้ในด้านการวางแผนทางการเงินมาแนะนำวิธีการบริหารเงินให้เงินอยู่ในสภาพคล่องกัน คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ วิทยากรหลักสูตรเกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและการวางแผนการเงินให้ผู้ประกอบการ ได้ให้ข้อมูลว่าการจัดเงินสำหรับคู่รักมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบกระเป๋าเดียวกันและแบบแยกกระเป๋า โดยคุณนิภาพันธ์แนะนำคู่รักข้าวใหม่ปลามันให้เลือกใช้วิธีแบบแยกกระเป๋ากันจะดีที่สุด เพราะถ้ามีสภาพคล่องด้วยกันทั้งคู่ ต่อให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ก็ยังมีอีกฝ่ายคอยเกื้อหนุนให้ ไม่ต้องกลายเป็นคู่รักแสนอาภัพเงินในช่วง first jobber

ระบบ 6 Jars การเก็บเงินเต็มรูปแบบ สู่แผนการเงินระยะยาว

สำหรับคู่รักหน้าใหม่ที่มีแผนจะใช้ชีวิตร่วมกันนั้น หลายๆ คู่คงคิดถึงอนาคตที่แสนจะโรแมนติกและนอนบนกองเงินกองทอง ด้วยวิธีการเก็บเงินระบบ 6 Jars หรือโหล 6 ใบ จะช่วยให้ความฝันของคู่รักหลายคู่เป็นจริงได้เลยทีเดียว หากพูดถึงรายได้ต่อบุคคลที่เริ่มต้นทำงานมีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาทจะต้องมีการบริหารจัดการเงินเป็นระบบแบบ 6 Jars โดยแบ่งโหลแรกที่ 55% ใช้ตามความจำเป็นหรือไว้จับจ่ายใช้สอย โหลใบที่สองเก็บสัก 10% ใช้ทำเรื่องสนุกหรือซื้อของให้เป็นรางวัลตัวเอง โหลใบที่สามก็เก็บอีก 10% เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ เช่นถ้าอยากจะผ่อนรถยนต์สักคนไปรับคนรัก แนะนำการผ่อนแบบไม่มีดอกเบี้ยหรือเก็บเงินก้อนใหญ่รวมๆ กันไว้ตามราคาของที่อยากซื้อ แล้วนำไปซื้อแบบไม่มีการผ่อนจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด โหลใบที่สี่เก็บ 10% แบ่งเก็บไว้สำหรับการศึกษาพัฒนาตัวเอง เช่น การซื้อหนังสือมาอ่านหรือเข้าเรียนภาษาต่างประเทศ ส่วนโหลใบที่ห้าเก็บอีก 10% เก็บเพื่อลงทุนระยะยาวสำหรับอนาคต และโหลใบสุดท้ายเก็บเพียง 5% เพื่อบริจาคช่วยเหลือคนอื่นสร้างบุญสร้างกุศลกันไป

นอกจากจะมีโหล 6 ใบ ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรามีเงินไว้ใช้ในระยะยาวนั้นก็คือ สภาพคล่อง โดยคุณนิภาพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากมีสภาพเงินเดือนที่ไม่มั่นคงหรือในสถาการณ์โควิด-19 จะต้องจัดการเงินด้วย 3 วิธีหลักๆ คือ ต้องให้เงินเดือนอยู่ในสภาพคล่อง 10-12 เดือน สภาพคล่องก็คือ เงินที่เก็บไว้ยามฉุกเฉิน เผื่อเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่มีรายได้แล้ว เมื่อในเดือนใดได้รับรายได้มากควรเลือกที่จะเก็บไว้ใช้ก่อน วิธีต่อมาคือ ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อบันทึกการจัดการเงินในแต่ละเดือนให้มีแบบแผนในการวางระบบการใช้เงินในเดือนต่อๆ ไปและวิธีสุดท้ายคือ การลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยให้ได้มากที่สุด และในสถาการณ์โควิด-19 ล่ะ ควรทำอย่างไร แน่นอนว่าเงินเดือนที่ได้มาจะต้องมีลดลงไปบ้าง ดังนั้นการเก็บเงินแบบสภาพคล่องต้องปรับต่างจากการเก็บเงินในช่วงปกติเป็น 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ทำให้สภาพคล่องอาจจะต้องเพิ่มมากขึ้นจาก 3-6 เดือน เป็น 6-12 เดือน เพื่อให้ยังคงใช้การบริหารเงินได้แบบคล่องตัว โดยไม่หวั่นกับสถานการณ์โควิด-19 อีกต่อไป

แต่การจะบริหารเงินเก็บเพิ่มขึ้นเป็น 3-6 เท่าได้นั้น จะต้องวิเคราะห์ความมั่นคงทางการงานกันก่อนนะ เช่น ถ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน การโรงแรม อาชีพเหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งอาจถูกลดเงินเดือน ทำให้จำเป็นจะต้องมีเงินเก็บให้มากกว่าสถานการณ์ทั่วไป และควรเช็คสิทธิ์สวัสดิการของบริษัทก่อน เพราะบริษัทประจำจะให้สิทธิสวัสดิการประจำกลุ่ม แต่บางบริษัทมีความไม่แน่นอน ดังนั้นควรไปทบทวนสิทธิ์ต่างๆ ในการรักษาพยาบาล เพราะหากเกิดตกงานแล้วโชคร้ายไม่สบายขึ้นมาอาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิดขึ้นก็เป็นได้ เมื่อนำวิธี 6 Jars และสภาพคล่องไปใช้ในชีวิตคู่หรือการเริ่มต้นทำงานครั้งแรกอย่าง first jobber ก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่า ในแต่ละเดือนจะใช้เงินแบบไหนดีไม่ให้กระทบต่อเงินส่วนอื่นๆ เช่น เงินที่เอาจะลงทุนไปกับแฟนที่สุดแสนน่ารักของคุณไง จะหมดกันไปกี่บาทละเนี่ย สุดท้ายนี้อยากฝากไว้ว่า เราไม่ควรที่จะเป็นหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ ในช่วงของการเป็น first jobber เพราะถ้าหากเป็นหนี้จะส่งผลให้เราไม่มีเงินเก็บไว้ใช้ในระยะยาว เนื่องจากเงินที่หามาได้ก็จะต้องนำไปใช้หนี้ต่างๆ ที่ตัวเงอสร้างไว้ ฉะนั้นการไม่เป็นหนี้คือสิ่งที่จะแนะนำมากที่สุดสำหรับเหล่า first jobber หน้าใหม่

คู่รักนักวางแผนสู้โควิด

ในปัจจุบันมีเหล่าคู่รักมากมายที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและหนึ่งในปัญหาของชีวิตคู่ คือการบริหารจัดการเงินร่วมกันและยิ่งเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 เหล่าคู่รักจะมีวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ซึ่งในเคสคู่ของคุณกษิดิศ ไทรบุรี นักออกแบบหมวกนิรภัย ที่ บริษัท เอ เปอร์เฟกต์ ไรด์ จำกัด และคุณวารินทร์ อ๊อกเอี่ยม ผู้จัดการฝ่ายเจ้าหน้าที่ดูแลบริหารข้อมูลสนับสนุนของสำนักงานแนะแนวและรับสมัครนักศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ก็เป็นอีกหนึ่งคู่รักที่อาศัยอยู่ร่วมกันและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้าทั้งคู่ได้เล่าว่า มีพฤติกรรมการใช้เงินแบบแยกกระเป๋ากันตามที่คุณนิภาพันธ์ได้แนะนำไว้ และด้วยความที่ทั้งคู่ไลฟ์สไตล์ของที่ไม่ตรงกัน ต่างคนจึงต่างมีค่าใช้จ่ายที่คล้ายและต่างกันไปบ้าง แต่เวลาที่ไปเที่ยวหรือรับประทานอาหารจะเป็นการหารกันคนละครึ่ง ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นจะแยกกันใช้ไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละคน

รายได้ต่อเดือนของทั้งสองคนรวมกันนั้นมากกว่า 43,000 บาท/เดือนเลยทีเดียว โดยส่วนของคุณวารินทร์จะมีการบริหารเงินในแต่ละเดือนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นภายในบ้าน และอีกส่วนจะเป็นการเก็บเงินไว้ใช้เป็นเงินฉุกเฉิน นอกจากนั้นยังมีการหารายได้เสริมจากการขายของออนไลน์ เพื่อนำมาเป็นเงินเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเช่นกัน ทางด้านคุณกษิดิศจะมีการแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน คือ แยกเก็บไว้ 1 ส่วน อีก 3 ส่วนจะเป็นค่ารถ ค่าเบ็ดเตล็ด ค่าบ้าน ฯลฯ จากการบริหารจัดการเงินของทั้งคู่ในหนึ่งเดือนนั้น ทำให้สามารถมีเงินเหลือเก็บรวมกันได้ประมาณ 10,000 บาท/เดือน

ทั้งหมดนี้อาจจะดูเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับคู่รักหรือ first jobber ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ทั้งนั้น ต่อให้จะมีไลฟ์สไตล์ที่เหมือนหรือต่างกันก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากนี่เป็นเพียงแค่รูปแบบการจัดการเงินแบบปกติที่ไม่มีปัจจัยภายนอกมาควบคุมล่ะ หากในอนาคตหรือสถานการณ์เศรษฐกิจเกิดแย่ขึ้นมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  เหล่าคู่รักจะมีวิธีการรับมือกันอย่างไร จากพิษโควิด-19 ทั้งคู่เริ่มวางแผนหารายได้เสริม เพื่อให้รายรับและรายจ่ายมีความสมดุลกัน ซึ่งในสถานณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในครั้งนี้ ทั้งคู่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตกันใหม่นั้นก็คือ การบริหารเงินในรูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากแบบปกติ โดยทั้งคู่นั้นเริ่มปรับเปลี่ยนการแบ่งส่วนของรายจ่ายมากขึ้น ซึ่งการทำงานอยู่ที่บ้านอาจจะสิ้นเปลืองกว่าการออกไปทำงานที่ออฟฟิศ เพราะการอยู่ที่บ้านตลอดทั้งเดือนจะต้องเสียเงินไปกับค่าสั่งอาหารที่มีการคิดค่าบริการเพิ่มเข้าไป รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าและน้ำที่เพิ่มตามขึ้นไปด้วย และในส่วนของการหารายได้เสริมนั้น คุณวารินทร์คิดว่าการขายของออนไลน์น่าจะตอบโจทย์หลายๆ คนที่ไม่ต้องออกจากบ้านมาซื้อของเอง ดังนั้นการใช้ระบบ 6 Jars,สภาพคล่อง และการหารายได้เสริมนี้ จะทำให้ทั้งคู่มีเงินเหลือพอสำหรับใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน

ถ้ากลับมาพูดในเรื่องของไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่นั้น แน่นอนว่าเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะเดิมทีก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งคู่ยังคงสามารถออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนได้เต็มที่ อยากจะไปไหนทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเสียเงินเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยหรือเจลล้างมือ แต่เมื่อมีการระบาดทำให้ต้องมีการระมัดระวังตัวมากขึ้น ต้องงดการออกนอกบ้าน การสัมผัสตัวกันและการที่ต้องนั่งทำงานอยู่ที่บ้านส่งผลให้เกิดความเครียดจากการทำงาน เพราะไม่มีช่องทางในการระบายความเครียด การปาร์ตี้ต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการทานข้าวด้วยกัน ทำให้ต้องแบ่งเงินเก็บบางส่วนมาใช้ เพราะการบริหารจัดการเงินเริ่มมีความไม่คล่องตัว จึงต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้คล่องตัวมากขึ้น

การบริหารจัดการเงินมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบรวมกระเป๋า แบบแยกกระเป๋า หรือแบบหารกันคนละครึ่ง ซึ่งการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะของชีวิตคู่และไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล รวมถึงการบริหารจัดการเงินเป็นระบบแบบ 6 Jars ซึ่งเหมาะกับคู่รัก หรือใครก็ตามที่อยากจะมีเงินเก็บหรือบริหารเงินในระยะยาว การใช้วิธีแบบ 6 Jars ก็นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีความน่าสนใจ รวมถึงการเป็นหนี้เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากเป็นหนี้จะส่งผลต่อการบริหารจัดการเงินในระยะยาว แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้แน่นอนว่าจะต้องทำให้ตนเองสามารถมีสภาพคล่องทางการเงินให้ได้ รวมถึงการหารายได้เสริมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คู่รักอีกหลายๆ คู่สามารถมีเงินไว้ใช้พอสำหรับแต่ละเดือนและยังสามารถมีเงินไว้เติมความหวานให้กันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงินจะไม่พอจ่ายอีกแล้วล่ะ

Share This:

Comments are closed.