เมื่อได้ยินเพลงนี้ดังขึ้น เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าวันแห่งการสาดน้ำคลายร้อนในช่วงเดือนที่ร้อนระอุ หรือการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่กำลังจะเวียนมาบรรจบอีกครั้ง
.
แต่คราวนี้เราจะไม่พูดถึงบรรยากาศสงกรานต์ของไทย แต่จะพาบินลัดฟ้าไปยังมณฑลยูนนานของจีนในสิบสองปันนา บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงรายไม่ไกลนัก เป็นแหล่งอาศัยของชนเผ่าไต หนึ่งในชนเผ่ากลุ่มน้อยของจีน หากได้ลองศึกษาวัฒนธรรม ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไตอย่างเข้าใจ จะพบว่ามีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกับชาวไทยมากทีเดียว
……….เทศกาลสงกรานต์หรือที่ชาวไตเรียกกันว่า “เทศกาลสรงน้ำพระ” เป็นเทศกาลที่มีส่วนสัมพันธ์กับการรับเอาพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีน โดยรับเอาจากอินเดียส่งผ่านมาทางประเทศพม่า จนเข้าสู่ประเทศจีนแถบมณฑลยูนนานในที่สุด การหยั่งรากลึกของพระพุทธศาสนาในยูนนาน นำไปสู่การคงไว้ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ของชาวไตที่มีธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนารวมอยู่ด้วย
……….ชาวไตจะจัดกิจกรรมรื่นเริงในช่วงสงกรานต์นาน 3-7 วัน ซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณชายฝั่งแม่น้ำหลันชัง ชาวจีนหลากหลายชนเผ่าจะแต่งตัวกันอย่างเต็มยศ เพื่อเดินทางมารวมตัวกันที่ชายฝั่งแห่งนี้ บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยเสียงกลองและเสียงโห่ร้องของผู้ร่วมงาน เมื่อกิจกรรมสาดน้ำเริ่มขึ้น ผู้คนจะพรมน้ำด้วยใบไม้ไผ่ พร้อมกล่าวคำอวยพรที่เป็นสิริมงคลซึ่งกันและกัน และเมื่อบรรยากาศเข้าสู่ความรื่นเริงจนถึงขีดสุด ผู้คนจะเริ่มใช้ขันน้ำหรือถังน้ำสาดใส่กันจนเปียกปอนและชุ่มไปทั้งตัว โดยพวกเขามีความเชื่อกันว่าน้ำเป็นสิ่งมงคลที่จะช่วยชะล้างสิ่งเลวร้ายที่ติดตัวมาในปีที่ผ่านมา ช่วยปัดเป่าเคราะห์กรรมและยังเป็นการอวยพรให้ประสบแต่สิ่งดีๆ ในปีใหม่ที่จะมาถึง
……….นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมรื่นเริงอื่นๆอีกมากมายเช่น การพายเรือมังกรแข่งกัน ปล่อยบั้งไฟ การแสดงจินตลีลา และการโยนถุงผ้า ที่ถือเป็นกิจกรรมที่ต้องกล่าวถึงเพราะหนุ่มสาวจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้สึกผ่านถุงผ้าที่บรรจงปักขึ้น ฯลฯ เห็นทีสงกรานต์คราวนี้คงไม่ต้องมองหาโปรแกรมเที่ยวกันที่ไหน แพ็คกระเป๋าไปดื่มด่ำบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ที่ดินแดนสิบสองปันนาก็ไม่เลวทีเดียว
.
……….ขยับมาทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย อีกหนึ่งประเพณีสงกรานต์ของชาวอินเดีย หรือที่มีชื่อเรียกว่าเทศกาล “โฮลี่” เป็นเทศกาลของชาวฮินดู โดยกำหนดเอาคืนพระจันทร์เต็มดวงในเดือนที่ 12 ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันเฉลิมฉลองกัน เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ชาวฮินดูหลายคนจึงถือเอาเทศกาลโฮลี่เป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่และนำความสุขกลับมาให้ พวกเขาจะสลัดทิ้งความทุกข์ ลืมเรื่องเข้าใจผิด ให้อภัยและปรับความเข้าใจกัน นอกจากนี้โฮลี่ยังเป็นการฉลองผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลพืชพรรณธัญญาหารตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา และเพื่อบนบานขอให้ปีต่อไปได้ผลผลิตที่สมบูรณ์เหมือนเดิมด้วย นอกจากนั้นยังเป็นเทศกาลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลที่มีสีสันมากที่สุดในโลก
……….ที่บอกว่าโฮลี่เป็นสุดยอดเทศกาลแห่งสีสันนั้น เพราะในช่วงเทศกาลนี้ ท้องถนนในแคว้นมธุระ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเดลีของอินเดีย จะเต็มไปด้วยฝูงชนที่ออกมาสาด ป้าย และเทสีใส่กัน ร้องรำทำเพลงและโยกย้ายส่ายสะโพกไปตามจังหวะของเพลงบอลลีวู้ดที่ดังคละเคล้าไปกับเสียงหัวเราะ ความเฮฮาและบรรยากาศที่รื่นเริงถึงขีดสุด การเฉลิมฉลองจะมีเพียงหนึ่งวันและหนึ่งคืน
……….การสาดสีเป็นกิจกรรมหลักของการฉลองโฮลี่ ผงสีที่นำมาสาดมาป้ายกันเรียกว่า “กูเลา” ซึ่งเป็นเหมือนพรที่ผู้คนมอบให้กัน แต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันไป สีแดงแทนพลังและอำนาจ สีน้ำเงินแทนความสุขสงบ สีเขียวแทนความอุดมสมบูรณ์ สีเหลืองแทนความเบิกบานและอบอุ่น สีส้มแทนความสร้างสรรค์ และสีม่วงแทนความยิ่งใหญ่
……….ถ้าได้มีโอกาสไปร่วมเป็นสักขีพยานในการเฉลิมฉลองของชาวฮินดู ก็ดูจะเป็นการแต่งแต้มประสบการณ์ชีวิตให้มีสีสัน สัมผัสความหวัง ความสดใส และการเริ่มต้นใหม่ในเทศกาลนี้
.
……….ข้ามไปที่แถบยุโรปกันบ้าง ที่นั่นมีประเพณีสาดน้ำคล้ายๆกับในบ้านเรา คือประเพณี “Wet Monday” (เว็ท มันเดย์) วันจันทร์แห่งการเปียกของชาวยุโรป เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นแถบยุโรปกลางในโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน จะจัดขึ้นในช่วงวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการทำความสะอาด เพื่อชำระล้างบาปและต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ โดยเมื่อศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาหลัก เทศกาลเว็ท มันเดย์ จึงถูกนำมาใช้เป็นพิธีกรรมทางศาสนาของชาวคริสเตียนด้วย โดยให้ความหมายเกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดของวิญญาณบาป
……….เด็กชายและผู้ชายจะถือขวดหรือถังน้ำ วิ่งไล่ตามสาว ๆ และสาดตั้งแต่หัวจรดเท้า ในอดีตผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้านจะเป็นคนที่เปียกที่สุด แต่ในปัจจุบัน ผู้ชายจะสาดน้ำใส่ผู้หญิงคนไหนก็ได้ที่พวกเขาพบเจอ ต่อมาด้วยปัญหาการขาดแคลนน้ำในปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ บางคนบอกว่านี่เป็นการทำให้เสียของที่แย่มาก แต่ผู้ชายก็ยังเที่ยวพกขวดน้ำตามสาดผู้หญิงอยู่เหมือนเดิม และไม่คิดจะละทิ้งประเพณีโบราณนี้ เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เกิดสีหน้าที่มีความสุขของผู้คนจากการละเล่นดังกล่าว
……….นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทศกาลที่เกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลก ที่มีความคล้ายคลึงกับเทศกาลสงกรานต์ของบ้านเรา ซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกหลายเทศกาลที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน แต่อาจไม่เป็นที่รู้จัก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแต่ละเทศกาลจะมีความหมาย มีวันเวลาของการเฉลิมฉลองที่เหมือนและต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่มีความเหมือนกันของทุกเทศกาลนั่นก็คือ ต่างนำมาซึ่งความสนุกสนานและความสุขของผู้คน และนั่นก็คือที่มาขอการดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกไปเฉลิมฉลองยังแหล่งกำเนิดของเทศกาลนั้น ๆ นั่นเอง
.
.
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://issuu.com/theprototype/docs/issue1
.
.