ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์สังกัดสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เผยถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะปลูกฝังจริยธรรมสื่อโดยเริ่มจากการเรียนรู้ในห้องเรียนว่า ในการปลูกฝังจริยธรรมสื่อจะต้องมีวิธีการที่เรียกว่า “การผสมผสานกัน” คือนักศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้หรือการมีบทบาทสมมุติ เช่น การจำลองเหตุการณ์สมมุติเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมสื่อในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง และนำเสนอให้รอบด้าน เปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้การวิเคราะห์ตามบทบาทของนักสื่อสารมวลชน และผู้รับสาร เพื่อจะได้มีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน รับรู้ถึงความรู้สึกทั้งสองฝ่าย และตระหนักมากขึ้นถึงสิ่งที่ควรและไม่ควรปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชน นอกจากนั้น การเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันทั้งแง่บวกและแง่ลบจะช่วยให้สังเคราะห์ประเด็นทางจริยธรรมได้ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์พัฒนาคู่มือการเรียนการสอนจริยธรรม และกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อนำมาใช้ในการปลูกฝังจริยธรรมและจรรยาบรรณ ที่เริ่มจากห้องเรียน ดร.รดี ธนารักษ์ อาจารย์ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ มองว่า การปลูกฝั่งจริยธรรมให้นักนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ต้องสร้างจิตสำนึกผ่านกระบวนการการเรียนรู้และสังเคราะห์มากกว่าเพียงแค่ใช้คู่มือจริยธรรมในการเรียนการสอน
“การนำคู่มือจริยธรรมไปใช้ให้เกิดผลขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ของแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนในลักษณะแบบไหน อย่างเช่นถ้าเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ จะกำหนดให้อาจารย์แต่ละท่าน นำคู่มือไปสอดแทรกใช้แต่ละรายวิชานั้นๆ อีกทั้งในคู่มือมีเนื้อหาค่อนข้างละเอียด ด้านอาจารย์ก็จะสั่งให้นักศึกษานำเนื้อหามาย่อยแล้วนำเสนอผ่านสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพื่อให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น และนำส่งเข้าประกวด กรณีนี้จะทำให้นักศึกษาเกิดแรงจูงใจที่จะศึกษารายละเอียดในคู่มือต่อไป
ผศ.ดร.จินตวีร์ เกษมศุข ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สะท้อนผลจากการวิจัยความรู้เบื้องต้นของนักศึกษานิเทศศาสตร์เกี่ยวกับจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพว่า จริยธรร,เป็นเรื่องในตัวตนของทุกคน แต่มีระดับความมากน้อยต่างกัน ถ้าจะสร้างการตระหนักรู้ต้องมีกระตุ้นย้ำในหลักการอย่างสม่ำเสมอ หมายความว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นระดับนักศึกษา ก็ต้องเป็นสถาบันการศึกษา แต่ถ้าเป็นระดับสื่อมวลชนมืออาชีพ ก็จะต้องหมายถึงองค์กรต้นสังกัด หน่วยงานเหล่านี้ ก็จะต้องคิดอยู่เสมอว่าจะทำการต้องกระตุ้นให้บุคลากรหรือนักศึกษาได้รับความรู้ความเข้าใจ หรือได้มีการทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับจริpธรรมสื่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อยกระดับการตระหนักรู้และกระตุ้นให้แสดงออกอย่างมีจริยธรรมและจรรยาบรรณาที่ชัดเจนในการใช้ความรู้ความเข้าใจพิจารณาว่าสิ่งใดถูกจริยธรรม และสิ่งใดผิดจริยธรรม
จริยธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องผ่านการปลูกฝัง จัดสัมมนา เสวนา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นการกระตุ้นจริยธรรมในระดับเพื่อก้าวไปสู้วิชาชีพ ซึ่งมองว่ามัน “ช้าเกินไป” หากคิดที่จะปฏิรูปสื่อ ควรปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่เด็กประถม เมื่อเข้ามาสู่สถาบันอุดมศึกษา หรือในระดับมหาวิทยาลัยก็ตามก็ควรที่จะยังคงมีรายวิชาจริยธรรมอยู่ในหลักสูตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะไปสอดคล้องกับงานวิจัยว่า ถ้ามีการกระตุ้นอยู่ทุกๆชั้นปี มันก็จะทำให้คนเราระลึกหรือตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมสื่อมากขึ้นอยู่ตลอด ไม่นิ่งเฉยไม่ปล่อยว่าง หรือละทิ้งหลักการสำคัญดังกล่าว
ปัทมาพร โพจันทร์