บ้านพานถมตั้งอยู่เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร เมื่ออดีตกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีกลุ่มช่างฝีมือสองสาขาและช่างทำเครื่องถมทอง ได้รวมกลุ่มตั้งภูมิลำเนาอยู่ร่วมกันมา ณ ถนนพระสุเมรุ บริเวณหลังวัดปรินายก โดยได้ริเริ่มการทำเตาเพื่อทำขัน เงินหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขันน้ำพานรอง” จากการรวมกลุ่มของช่างฝีมือนั้นจึงได้เกิดเป็นชุมชนบ้านพานถมขึ้นมา ซึ่งต่อมาได้มีบริษัทแมวน้ำมาทำต่อ แต่ได้เปลี่ยนจากการแกะสลักโดยใช้คนเป็นการใช้เครื่องพิมพ์แทน จึงทำให้การแกะสลักที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อนได้สูญหายไป บ้านพานถมในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นเพียงชื่อหมู่บ้านเล็ก ๆ ชาวบ้านแห่งนี้ได้ยืดถือประกอบอาชีพทำเครื่องถมเป็นหลัก แต่ไม่รู้ว่าทำกันมานานตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานบันทึกเอาไว้แน่นอน รู้แต่ว่าได้รับเอารูปแบบมาจากพวกที่อพยพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการทำเครื่องถมจนเป็นที่รู้จักกันในทั่วประเทศ
แม้ในปัจจุบันนี้สิ่งที่ได้เรียกว่า “เครื่องถม” ได้หมดไปจากพานถมเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลทางการค้าขายที่ไม่มีคนนิยมมาก และช่างที่นี่ก็ไม่ได้มีฝืมืออยู่ในขั้นที่ดีเยี่ยม เหมือนช่างถมนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นต้นแบบ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านพานถมในปัจจุบันก็ได้อพยพย้ายออกกันไปหมดแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็ออกไปทำอาชีพต่าง ๆ ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่หายไปนั้นก็เพราะ ชาวบ้านคนเก่า ๆ ที่มีความรู้และมีฝีมือทางด้านการทำเครื่องถมเงินถมทองได้อพยพย้ายถิ่นฐานออกไปกันหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทน ชาวบ้านจึงมีการปรับตัวไปตามยุคตามสมัย ซึ่งพื้นที่ในตอนนี้ได้กลายเป็นเกสเฮ้าส์และโรงแรม ที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาพักอาศัยมากขึ้น เหตุนี้จึงทำให้บ้านพานถมไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในคนรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันค้นพบว่ามีบ้านที่ทำเครื่องถมเงินถมทองอยู่เพียงร้านเดียว ชื่อว่า ร้านไทยนคร