breaking news

เปิดสถิติความเสี่ยงทะเลาะวิวาทบนท้องถนน นักจิตวิทยาชี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง

ธันวาคม 28th, 2017 | by administrator
เปิดสถิติความเสี่ยงทะเลาะวิวาทบนท้องถนน นักจิตวิทยาชี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง
About Prototype
0

Share This:

แฮชแท็ก น็อตกราบรถ เก่งเกียร์ R ลุงวิศวะ หรือล่าสุดลุงไม้เท้าทุบกระจก เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนเหตุการทะเลาะวิวาทบนท้องถนนที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อหลัก และสื่อออนไลน์เป็นวงกว้าง ซึ่งภาพเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นภาพชินตาในสังคมไทยไปเสียแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนต่างถกเถียงและตั้งคำถามว่า.. ทำไมคนไทยสมัยนี้จึงมีความอดทนต่ำไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้?

 

สาเหตุทะเลาะวิวาทบนท้องถนนจากการกระตุ้นอารมณ์สู่ความ “หัวร้อน”

นายอภิชา ฤธาทิพย์ นักจิตวิทยา คลินิกชำนาญการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงสาเหตุการทะเลาะวิวาทบนท้องถนนว่า มีสาเหตุหลักมาจากภาวะทางอารมณ์ที่ไม่คงที่และการควบคุมสติของผู้ขับขี่ โดยอาจเกิดจากภาวะความเครียดสะสมก่อนขับรถ รวมถึงภาวะปัญหาจราจรที่ติดขัดในขณะขับขี่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะสภาพสังคมเมืองที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ ทำให้แบกรับความเครียดมากกว่า นอกจากนั้นปัจจัยรองลงมาที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทบนท้องถนนคือ การกระตุ้นจากผู้ที่ขับขี่รถรายอื่นที่ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎจราจร
“คนที่มีความเครียดเป็นทุนเดิม จะบั่นทอนการควบคุมสติลง และยิ่งต้องเจอกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่างๆในขณะขับรถเช่น การขับรถปาดหน้า การถูกรถคันอื่นขับเบียด ยิ่งทำให้ถูกกระตุ้นอารมณ์ได้ง่าย จนเกิดภาวะที่เรียกกันว่าอารมณ์ร้อน” นักจิตวิทยา ฉายภาพ

 

ไม่ใช่เรื่องเล็ก ! ขับรถไร้วินัยเสี่ยงทะเลาะวิวาทสูง

พ.ต.อ วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ ผู้บังคับบัญชาการกองบังคับการตำรวจจราจร ได้ให้ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทบนท้องถนนรวมไปถึงอาชญากรรมและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นว่า มี 3 พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะขับขี่ คือ 1. การกระพริบไฟสูงบ่อย เพราะผู้ขับขี่รายอื่นอาจคิดว่าเป็นการหาเรื่อง จนนำไปสู่การทะเลาะวิวาทได้ 2 . การขับรถปาดหน้า โดยเป็นเรื่องของการท้าทาย การแข่งขัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ถนนคนอื่น 3. การเปิดไฟตัดหมอกควรเปิดเท่าที่จำเป็น เพราะแสงสว่างอาจเกิดการรบกวนผู้ขับขี่รายอื่น ทำให้สูญเสียสมาธิในการขับรถ จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องเล็กๆที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทเช่นเดียวกับหลายเคสที่ปรากฏในข่าว


เปิดสถิติ คดีอุบัติเหตุจราจรการทะเลาะวิวาทที่มีต่อเนื่อง

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกปี 2559 ซึ่งเชื่อมโยงการเกิดการทะเลาะวิวาทได้ดังนี้คือ 1. การขับรถเร็ว จำนวน 8,862 ราย 2. การขับรถตัดหน้าระยะกระชั้นชิด จำนวน 8,861 ราย 3. ขับรถตามระยะกระชั้นชิด จำนวน 6,908 ราย 4.ขับรถคร่อมเลน จำนวน 3,294 ราย 5.ไม่ให้สิทธิ์ไปก่อน จำนวน 2,688 ราย 6.ไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว จำนวน1,039 ราย และสาเหตุอื่นๆ อาทิ บีบแตรรถใส่ บิดคันเร่งเสียงดัง เป็นต้น 18,894 ราย
นอกจากนั้นจากการบันทึกข้อมูลในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า มีสถิติคดีทะเลาะวิวาทจากอุบัติเหตุบนท้องถนนที่รับแจ้งในปี 2559 จำนวน 10 คดี และปี 2560 จำนวน 14 คดี ซึ่งยังไม่นับรวมการทะเลาะวิวาทที่ถูกแชร์ในสื่อโซเชียล และเรื่องที่ไม่มีการเข้าแจ้งความ แม้ว่าตัวเลขการแจ้งเพื่อดำเนินคดีมีไม่มาก แต่ในมุมกลับกันเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงถูกแชร์ต่อในสื่อต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

Comments are closed.