breaking news

ถูกและดีไม่มีในโลก! อันตรายที่ชาร์จมือถือระเบิด-ในไทยยังไร้การควบคุม

มกราคม 27th, 2017 | by administrator
ถูกและดีไม่มีในโลก! อันตรายที่ชาร์จมือถือระเบิด-ในไทยยังไร้การควบคุม
Special Report
0

Share This:

“ มีเสียง เหมือนน้ำเดือดจากข้างใน จากนั้นฝาอะแดปเตอร์ก็กระจายออกมาเหมือนโดนแรงอัดอย่างแรง”

คำบอกเล่าของ นายเจตริน เต็มดี หนึ่งในผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดของอะแดปเตอร์ หลังจากที่ซื้ออุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์มาในราคาเพียง 60 บาทจากตลาดนัดของมหาวิทยาลัยและใช้งานไปได้แค่ 2 ครั้งเท่านั้น ก็พบความผิดปกติของตัวอะแดปเตอร์ที่ชาร์จไม่เข้า โดยในเบื้องต้นนายเจตริน สันนิษฐานว่าเกิดจากปลั๊กพ่วงชำรุดจึงเปลี่ยนมาเสียบกับเต้ารับปลั๊กไฟในบ้าน เพียงเสียบไปได้ไม่กี่วินาทีแต่แล้วก็ได้ยินเสียงการระเบิดของตัวอะแดปเตอร์ขึ้น  หลังจากที่สับเบรกเกอร์พบว่าที่ปลั๊กเป็นรอยไหม้และชิ้นส่วนภายในอะแดปเตอร์กระเด็นออกมาทั้งหมด โชคดีที่ไม่ผู้ใดได้อันตรายจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ข่าวลักษณะเช่นนี้ถูกพบในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลายกรณีพบว่าเกิดความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านทรัพย์สินและร่างกาย แม้ว่าการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของแท้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้ แต่ผู้ใช้จำนวนมากยังเลือกใช้เพราะปัจจัยด้านราคา

 “คิดว่าสายชาร์จอะไรก็ไม่ต่างกัน เลยเลือกที่ถูกเอาไว้ก่อน” เจตริน กล่าว

ซื้อง่าย สบายกระเป๋า อุปกรณ์ชาร์จปลอม เสี่ยงมากไหมต่อการใช้งาน ?

 

ผศ.ดร.บุญยัง  ปลั่งกลาง  อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายถึงสาเหตุของการระเบิดของอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์ว่าสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความผิดปกติของวงจรภายในนับตั้งแต่กระบวนการผลิต อาจเกิดข้อผิดพลาดในการประกอบแผงวงจรหรือใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าอีกหนึ่งสาเหตุนั่นคือ พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่ส่งผลให้อุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์เสื่อมสภาพหรือทำให้อายุการใช้งานน้อยลง เช่น การตกกระแทก เปียกน้ำ การเสียบปลั๊กค้างไว้เป็นเวลานานรวมถึงการใช้งานโทรศัพท์ขณะชาร์จแบตเตอรี่ เป็นต้น 

“ของถูกแค่ต่อวงจร ชาร์จติด เขาก็เอามาขายเลย ไม่ได้ทดสอบความปลอดภัยทนทานเป็นพันๆครั้งเหมือนของแท้จากศูนย์”  

ผศ.ดร.บุญยัง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์แท้และปลอมนั้นไม่ได้มีข้อแตกต่างกันในเรื่องของแผงวงจร เพราะรูปแบบการต่อวงจรไฟฟ้าเป็นแบบแผนตายตัวที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องที่ห้ามเปิดเผย แต่จะแตกต่างกันที่การเลือกใช้วัสดุภายในการประกอบวงจร ยิ่งใช้วัสดุที่ถูกมากเท่าไหร่ราคาการจำหน่ายก็ยิ่งถูกตามไปด้วย นอกจากนี้อุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์ปลอมยังลดต้นทุนในการผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนออกจำหน่าย เหมือนกับที่พบตามท้องตลาดทั่วไปซึ่งบางอันมีราคาเพียง 10 บาทเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาของปลอมกับของแท้ต่างกันค่อนข้างสูง 

 

 

เมื่อเลี่ยงไม่ได้ ใช้อย่างไรปลอดภัยที่สุด 

บ่อยครั้งเจ้าที่ชาร์จคู่ใจก็ไม่ถึกทนตอบรับการใช้งานของหนุ่มสาวยุคโซเชียลมีเดียที่มีมือถือเป็นอวัยวะที่ 33 การจะเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่อีกครั้งก็ต้องคิดแล้วคิดอีกในเรื่องของราคา เพราะถนนราคาของอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์ของปลอมถูกกว่าของแท้หลายเท่าตัว หลายคนจึงคิดว่า สาย 20 บาท พังก็ซื้อใหม่ ไม่เสียดายเงิน  …..

ผศ.ดร. บุญยัง แนะนำวิธีการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้ให้ปลอดภัยว่า ต้องหมั่นตรวจเช็คร่องรอยความเสียหายภายนอก อาทิ รอยแตก การบิดเบี้ยว คราบสีน้ำตาลซึ่งอาจเป็นรอยจากความร้อน นอกจากนั้นต้องระมัดระวังเรื่องการทำตกหล่นมากเป็นพิเศษ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ผ่านการตรวจสอบในเรื่องความปลอดภัยและความทนทาน การตกหล่นบ่อยครั้งจะกระทบต่อวงจรภายในและทำให้ระเบิดได้ ที่สำคัญที่สุดคือการเล่นขณะชาร์จโทรศัพท์  จะยิ่งทำให้ตัวอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานหนักขึ้น หากเกิดความผิดพลาดของวงจรภายในที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิต เหมือนกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในข่าวอย่างแพร่หลาย

“ในวงการไฟฟ้า ไม่มีหรอกครับอุปกรณ์ที่ราคาถูกและดี ถามว่าใช้ได้หรือไม่ ก็สามารถใช้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะเลือกความสะดวก หรือ ความปลอดภัย”

 

ภาครัฐชี้ ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานก่อนวางขายอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์

นายไกรเดช รักเปี่ยม นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีการควบคุมมาตรฐานก่อนออกจำหน่ายของอุปกรณ์เหล่านี้ จึงทำให้การค้าขายนำเข้าเป็นไปได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย การจะเข้ามาควบคุมมาตรฐานได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องเรียนจำนวนมากว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้สร้างความเสียหายเข้ามาทาง สมอ. จึงจะมีการพิจารณาร่างของมาตรฐานของอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานของต่างประเทศ

“ การตั้งมาตรฐานแต่ละชนิด ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นจริงด้วย ถ้าเรากำหนดมาตรฐานไว้สูง ต้นทุนก็สูง ราคาขายก็สูงตาม สุดท้ายคนก็เลือกซื้อของเถื่อนราคาถูกอยู่ดี ปัญหาการลักลอบมันก็จะมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้ามีเป็นร้อยเป็นพันชนิด ถ้ามันยังไม่มีผลกระทบมากพอ ก็ไม่จำเป็นต้องออกมาตรฐาน”

ทางด้าน นายแพทย์ประวิทธิ์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. เพิ่มเติมข้อมูลว่า ปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบอุปกรณ์พ่วงที่มากับโทรศัพท์มือถือ ทางกสทช จะตรวจสอบมาตารฐานเพียงแค่ตัวเครื่องเท่านั้น ส่วน สมอ.จะตรวจสอบในเรื่องของแบตเตอรี่ ในเมื่อตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้นมาจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าหน่วยงานใดระหว่าง กสทช และ สมอ. เป็นผู้ควบคุมดูแล จะต้องมีการจัดประชุมร่วมกันและแจกแจงถึงหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้

สุดท้ายแล้วการกำหนดมาตรฐานอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาเหล่านี้ แต่มันขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ของผู้บริโภคมากกว่าว่ายอมรับได้มากน้อยแค่ไหนที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้บนความเสี่ยง…….

 

Comments are closed.