breaking news

อาชีพ “ช่างภาพ” ไม่มีวันตาย

พฤศจิกายน 27th, 2015 | by administrator
อาชีพ “ช่างภาพ” ไม่มีวันตาย
Special Report
0

“เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สื่อใหม่เข้ามาแทนที่ แต่สุดท้ายก็ยังต้องการ ช่างภาพมืออาชีพ ที่คอยสร้างสรรค์มุมมองและถ่ายทอดความเป็นจริงให้ผู้คนได้รับรู้ถึงเรื่องราวและเหตุการณ์เพื่อย้ำเตือนความทรงจำ การถ่ายภาพไม่ใช่เพียงการยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ แต่มันต้องนึกถึงสิ่งที่เราจะนำเสนอ อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่า อาชีพนี้ไม่มีวันตาย”

 

ในโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการถ่ายภาพ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ก้าวเข้าสู่ยุคที่ “ใครๆก็ถ่ายภาพได้” เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือ ถือกล้อง DSLR ที่นับวัน ราคายิ่งถูกลง หรืออาจให้เพื่อนของคุณถ่ายให้ฟรีๆ

แค่นี้ก็พร้อมที่จะสร้างสรรค์ภาพออกมาได้หลากหลาย นับเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ที่สนใจด้านการถ่ายภาพ ก้าวเข้าสู่ “วงการช่างภาพ” ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

ขณะที่กระแส ”การถ่ายภาพ” กำลังได้รับความนิยม บางคนมีกล้องเพื่อถ่ายภาพเหตุการณ์ เพียงเพราะมีใจรักในการถ่ายภาพ แต่สำหรับบางคนมีไว้สร้างประสบการณ์ เพื่อรับงานเป็นอาชีพ

คนกลุ่มไหนที่คุณพร้อมจะทุ่มเทเงินเพื่อจ้างเขามาถ่ายรูปให้ในวันสำคัญ คนกลุ่มไหนที่จะสามารถสรรค์สร้างภาพได้ตามแบบที่คุณต้องการ แล้วคนกลุ่มไหนที่เป็น “ช่างภาพมืออาชีพ”สำหรับคุณ ?

The Prototype ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 ช่างภาพ ทั้งแนวสารคดี ช่างภาพงานแต่งแบบเล่าเรื่อง  และกลุ่มคนที่อยู่แถวหน้า ยามมีเหตุการณ์สำคัญ อย่างช่างภาพข่าว เพื่อทำความเข้าใจในลักษณะงาน และวิธีการปรับตัวเพื่อรองรับกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เพื่อตอบโจทย์กับความเป็น “มืออาชีพ ที่ไม่มีวันตาย”

ในวงการช่างภาพ ต่างให้คำนิยามกับ ความเป็นมืออาชีพ ไว้หลากหลายมุมมอง ทั้งเป็นคนที่ทำงานด้านการถ่ายภาพและมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงชีพได้ หรือเป็นคนที่สามารถสรรค์สร้างภาพให้ออกมาดีที่สุด

ส่วนในเรื่องของอุปกรณ์ ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพสูงและมีราคาแพงมาก แต่สิ่งที่จะมาชดเชยความล้าสมัยในส่วนนี้ได้ก็คือ “ประสบการณ์”

ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นมืออาชีพได้อย่างชัดเจน ช่างภาพมืออาชีพจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถจัดวางตำแหน่ง มุมมอง และทิศทางแสงให้ต่างจากคนอื่น เพื่อที่จะบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญให้ทันช่วงเวลา เพราะบางเหตุการณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

     “ผลงานดีอยู่ที่มุมมอง คนที่มีอุปกรณ์แพงๆอาจจะไม่มีมุมมองที่ดีก็ได้ ความเป็นมืออาชีพจะต้องมีการสร้างมุมมองให้หลากหลาย ไม่ใช่ถ่ายแค่มุมเดิมๆก็อาจจะทำให้ภาพดูจำเจ ไม่น่าสนใจ” ทัศนะหนึ่งจากช่างภาพผู้มากประสบการณ์

“ผลงานดี ภาพโดดเด่น” โอกาสในการเลือกลูกค้า

ช่างภาพที่เป็นทั้งนักคิด นักผจญภัย ทำงานภายใต้บริบทของงาน “สารคดี” หนึ่งในนั้นคือ “ช่างภาพสัตว์ป่า”

การทำงานแบบเอาชีวิตเข้าเสี่ยง ห้องทำงานไม่ใช่ออฟฟิศ แต่เป็นเพียงป่าเขาพนาไพรที่เต็มไปด้วยฝูงสัตว์มากมาย นานาชนิด แม้แต่การบันทึกภาพ ต้องอาศัยความอดทนและความเข้าใจสูง เพื่อให้ภาพได้อารมณ์ตามต้องการ

     “บารมี เต็มบุญเกียรติ” ช่างภาพสัตว์ป่าแนวหน้าของไทยที่หลงใหลการถ่ายภาพธรรมชาติ กล่าวว่า การถ่ายภาพสัตว์ป่าแนวสารคดี ต้องมีความเข้าใจในงานที่เราถ่าย ตีโจทย์ให้แตกว่าต้องการอะไร สร้างเอกลักษณ์ให้กับตนเอง เรียนรู้ธรรมชาติ ทำความเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์ โดยบอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอ ทำให้คนรู้จักสัตว์ชนิดนั้น ผ่านมุมมองที่สวยงามตามหลักของศิลปะด้านการถ่ายภาพ และสิ่งที่สำคัญ คือต้องถ่ายทอดออกมาตามความเป็นจริง ไม่เซทและเปลี่ยนแปลงแก่นแท้ของเหตุการณ์นั้นๆ

เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เรื่องการถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป เช่นเดียวกับ ช่างภาพสัตว์ป่า อย่างคุณก้อง บารมีที่มองว่า เป็นโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้น ช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น อีกทั้งยังทำให้ความผิดพลาดต่างๆให้ลดน้อยลง

12269103_1482388538736086_1064607726_o

      “ยิ่งมีคนถ่ายภาพเป็น ยิ่งมีคู่แข่งเยอะ ทำให้ช่างภาพผลักดันตนเองในการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น”

      ในยุคที่มีการแข่งขันสูง สมัยนี้จะมีการทำเป็นเพจเฟซบุ๊คหรือเว็บไซต์เพื่ออัพเดตผลงาน อันนี้คือช่องทางที่สามารถให้คนอื่นเข้ามาดูผลงานเราได้  เราจะต้องใส่ใจในรายละเอียดของงานเราก่อน และงานจะมีเข้ามาหาเราเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย

     การบอกปากต่อปากก็ได้ผลในสมัยเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ต่างจากสมัยนี้ที่เราสามารถสร้างแฟ้มผลงานได้ในโซเชียลมีเดีย ตรงนี้ช่วยให้มีช่องทางที่กว้างมากขึ้น

CAT_8252

ขณะเดียวกันคนอื่นก็มีช่องทางที่มากพอๆกับเรา ก็ต้องย้อนกลับมาดูกันที่ผลงาน ซึ่งถ้าความโดดเด่นกว่าคนอื่นมากก็จะทำให้มีโอกาสเลือกลูกค้ามากกว่าคนอื่น ในขณะที่คนอื่นขอให้มีงานเข้ามาก็พอ

    “หากเราถ่ายภาพออกมาได้ดี มีผลงานดีๆ ผู้คนก็จะสนใจงานเรามากขึ้น แล้วก็อาจจะทำให้มีงานเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายคนในสมัยนี้ก็ถือว่าเป็นช่างภาพได้ เนื่องจากเราสามารถเรียนรู้กันได้ ทั้งในอินเตอร์เน็ต หรือฝึกฝีมือเอง ผลงานของแต่ละคนก็จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันไป”

แนวคิดการตลาด เพิ่มมูลค่า “ช่างภาพงานแต่ง”

เมื่อเอ่ยถึงบุคคล ที่บ่าว-สาวไว้ใจให้มาถ่ายทอดช่วงเวลาสำคัญที่เป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” คงเป็นใครไม่ได้นอกจาก “ช่างภาพงานแต่งงาน”

และเมื่อปัจจุบันมีช่างภาพมากมายให้เลือกเต็มไปหมด ซึ่งบางครั้งบ่าว-สาว อาจเรียกใช้ญาติหรือคนใกล้ชิดมาบันทึกภาพวันสำคัญให้ เพราะ ยุคนี้ทุกคนก็มีกล้องถ่ายภาพ ทั้งในมือถือ และเป็นกล้องดิจิทัลราคาแสนประหยัด เทคนิคต่างๆก็สามารถเรียนรู้ได้ในอินเทอร์เน็ต

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ “ช่างภาพมืออาชีพ”ต่างต้องปรับตัว พัฒนาภาพถ่ายให้มีความโดดเด่น ตามสไตล์ของแต่ละคน

Photogra

    “วุฒิพร สู่พานิช” Freelance Photographer กล่าวว่า Wedding photojournalism หรือถ่ายภาพแต่งงานเล่าเรื่อง มีความแตกต่างจากช่างภาพงานแต่งงานทั่วไป ในเรื่องของแนวคิดในการเล่าเรื่อง ซึ่งสไตล์ภาพต้องถ่ายทอดวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิดของผู้คนในงาน ที่สะท้อนเหตุการณ์ในวันสำคัญนั้นๆได้

“การถ่ายภาพงานแต่งงาน ต้องสามารถเล่าเรื่องให้ได้ว่า ในวันสำคัญของคู่บ่าว-สาวมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะเมื่อเวลามันผ่านไป  หากย้อนกลับมาดู คุณจะจำความสุขในวันนั้นได้ ภาพที่ถ่ายจะมีคุณค่า คุณจะสัมผัสได้ถึงวันวานที่ผ่านมา เหมือนกับเป็นการเตือนความจำในอดีต”

ton2

แม้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการถ่ายภาพจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นจุดเปลี่ยนของ “ช่างภาพงานแต่งงาน” ในยุคดิจิทัล ที่ต้องรู้จักวางแผนทางด้านการตลาด เพื่อแข่งขันกับช่างภาพคนอื่นๆ

ส่วนวิธีการปรับตัวให้เข้ากับยุคที่เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามามีบทบาทในการทำงานของอาชีพช่างภาพมากขึ้นนั้น คนที่เป็นช่างภาพมืออาชีพนอกจากจะถ่ายภาพให้สวยแล้ว ต้องรู้จักวางแผนทางด้านการตลาด ตั้งแต่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน

สำหรับการถ่ายภาพแต่งงานเล่าเรื่องราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 20,000-50,000 บาทต่องาน กลุ่มเป้าหมายก็คือ บ่าวสาวที่ชอบภาพที่แปลกตา ดูมีเรื่องราว มีมุมมองภาพที่แตกต่าง และมีกำลังทรัพย์ในระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งคุ้นชินกับภาพสไตล์นี้อยู่แล้ว

ton1

เทคโนโลยีที่เข้ามาก็เหมือนเป็นการสร้างโอกาสในการหางานเพิ่ม นอกจากนี้ควรหาช่องทางการโปรโมทภาพ สร้างการบริการที่ดี คอยให้คำแนะนำแก่บ่าว-สาว เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับผลงาน

“มีเว็บไซต์ สำหรับเป็นหน้าร้านที่แสดงผลงาน รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับช่างภาพ แนวการถ่ายภาพ ลักษณะภาพที่ถ่ายให้ในงาน 1 งาน เพื่อเป็นการบอกว่า จะถ่ายภาพเหตุการณ์อะไรในงานให้ลูกค้าบ้าง ช่องทางการติดต่อหากสนใจ อีกทั้งยังมีโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรมเพื่อโปรโมทผลงานให้คนรู้จักและเข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการฝากแฟ้มผลงานกับ PR โรงแรม รีสอร์ทต่างๆที่ไปถ่ายงานให้ลูกค้าด้วย”

DSC_3665edit

“นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพที่พัฒนาไปมาก ไม่ส่งผลต่ออาชีพช่างภาพมากนัก เพราะ งานแต่งงานเป็นอีเว้นท์หรือเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตของทุกคน คนส่วนใหญ่จึงยังให้ความสำคัญ ดังนั้น การหาช่างภาพที่มีความชำนาญในการถ่ายภาพงานแต่ง ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่ถูกมองข้ามเท่าใดนัก”

เทคโนโลยี ท้าทาย อาชีพ “ช่างภาพข่าว”

หากพูดถึงกลุ่มคนแถวหน้า ที่คอยบันทึกฉากเหตุการณ์สำคัญหรือภาพเหตุฉุกเฉิน น้ำท่วม ภัยพิบัติ เขาคอยลั่นชัตเตอร์ ชนิด “วินาทีต่อวินาที” แม้จะเสี่ยง แต่พวกเขาหวังเพียงแค่ถ่ายทอดเรื่องราวให้สาธารณชนได้รับรู้

     “สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล” บรรณาธิการฝ่ายภาพ Bangkok Post กล่าวว่า เขาทำงานเป็นช่างภาพมาเกือบ 15 ปีแล้ว แม้ปัจจุบันจะทำงานในฐานะบรรณาธิการ แต่ก็ยังจำภาพเหตุการณ์ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้เจอเป็นอย่างดี แต่ในการที่จะมาเป็นช่างภาพข่าว จะต้องมีการคิด วางแผน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้  เพราะว่าสถานการณ์ที่เราต้องไปถ่ายภาพนั้น สามารถเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ab84501a-ad59-4864-a081-ae4853ab6c0b

“ช่างภาพข่าว” จะต้องมีไหวพริบที่จะคอยคิดให้ทันต่อเหตุการณ์  ซึ่งเหตุการณ์ที่เจอจะมีทั้ง “อันตราย”และ “ความเสี่ยง” ที่ช่างภาพจะต้องปรับตัวให้พร้อมกับสถานการณ์นั้น

“ภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ช่วงการกระชับพื้นที่ เมื่อกลางปี 2553 ผมในฐานะช่างภาพที่ต้องเข้าไปบันทึกภาพ จึงมีการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเท่าที่จะหาได้ในระยะเวลานั้น เช่น เสื้อเกราะ หมวกกันกระสุน หน้ากากกันแก๊สพิษ แก๊สน้ำตา เลือกใช้อุปกรณ์ที่ถ่ายภาพเหตุการณ์ตรงหน้า ระยะประชิดให้เหมาะสมและที่สำคัญต้องมี สติ ติดตัวตลอดเวลา เพราะ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ความเป็นความตายอยู่ที่หน้าเราตลอด”

mob

ลักษณะของ “ช่างภาพข่าวมืออาชีพ” นั้น จะต้องมีวินัย มีไหวพริบ รักการอ่าน เป็นคนช่างคิด ช่างจินตนาการ มองทุกอย่างเป็นภาพ ขยันหามุม มีความคล่องตัวในหลายๆด้าน และที่สำคัญจะต้องมีสติในการแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ผลงานที่ออกมานั้นจะต้องผ่านการวางแผนมาก่อนว่า ในรูปควรจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง และคิดหามุมว่า มุมไหนจะดี จะแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งพอลงสถานการณ์จริง ทุกอย่างอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด แต่อย่างน้อย “การวางแผน” ก็ช่วยให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไรในรูปภาพ แล้วค่อยคิดหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ทุกวันนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆก็พัฒนาไปมาก แต่บรรณาธิการฝ่ายภาพ Bangkok Post กลับมองว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่ออาชีพช่างภาพมากนัก เพราะสุดท้ายสื่อใหม่ๆก็ยังต้องการช่างภาพที่สร้างสรรค์มุมมองและถ่ายทอดภาพความเป็นจริงให้ผู้คนได้รับรู้เรื่องราวเหมือนเดิม

unnamed (11)

“เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมา เหมือนเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราได้เรียนรู้งานที่ง่าย และหลากหลายมากขึ้น และคอยสนับสนุนเราในการทำงานด้วย”

ทุกคนมีกล้องอยู่ในมือและสามารถถ่ายรูปได้ ข้อดีของการมีตรงนี้ คือ ทุกเหตุการณ์จะมีคนช่วยบันทึกไว้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ช่างภาพมืออาชีพจะต้องตามไปทำต่อ คือ ต้องมีการคิดที่จะเล่าเรื่องต่อไป สร้างสรรค์มุมมองใหม่ๆเพื่อถ่ายทอดให้คนได้รับรู้เรื่องราวอีกด้านของสังคม

แม้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการถ่ายภาพจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับอาชีพช่างภาพมากน้อยเพียงใด แต่สังคมก็ยังต้องการ “ช่างภาพมืออาชีพ”ที่มีมุมมองที่แตกต่าง และมีผลงานที่โดดเด่น

ภาพที่บอกเล่าเรื่องราวได้ทุกอย่าง นั่นแหละคือสิ่งที่คนยังต้องการ อาชีพช่างภาพไม่มีวันตาย คำพูดนี้ยังใช้ได้

 

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก : Baramee Temboonkiat Fanpage , Bangkok Post ,Woodyalens photography

 

สายฝน , ชนัญญา  , สัญลักษณ์ , กาญจน์ณัฏฐา

Share This:

Comments are closed.