นายปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลนซีพีเอฟ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เผยว่า โครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” เป็นความร่วมมือกันระหว่างซีพีเอฟ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ องค์กรในท้องถิ่นและชุมชน ร่วมกันริเริ่มและพัฒนาโครงการฯตั้งแต่ปี 2557 เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 25557 – 2561 มีเป้าหมายในการปลูกป่าชายเลนเพิ่มจำนวน 100 ไร่ โดยปีแรกดำเนินการได้ 7 ไร่ ซึ่งแผนการดำเนินงานในแต่ละปีคือ ใน ปี 2558 ดำเนินการปลูกป่าเพิ่ม 18 ไร่ ปี 2559 ดำเนินการปลูกป่าเพิ่ม 30 ไร่ ปี2560 ดำเนินการปลูกป่าเพิ่ม 15 ไร่ และใน ปี 2561 อีก 15 ไร่ ภายใน 5 ปีรวมเป็น 100 ไร่ตามเป้าหมาย
ด้านนายสมบัติ กาญจนไพหาร หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยถึง สภาพพื้นที่ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรกว่าเดิมมีพื้นที่กว่า 8,000 ไร่ อีกทั้งเคยประกาศเป็นป่าเมื่อปี 2529 โดยใช้มาตรการป่าสงวนควบคุมแต่ปรากฎว่าสภาพป่ามีความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว สาเหตุหลักเกิดจาก ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องจากคลื่นลมในอ่าวค่อนข้างรุนแรงและปัญหาในช่วงที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเปลี่ยนแปลงสภาพชายฝั่งป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมเป็นนากุ้ง ซึ่งเป็นตัวเร่งในการกัดเซาะมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าชายเลนเพียง 500 ไร่ ด้วยสภาพป่าชายเลนที่มีดินเลนค่อนข้างลึกและอ่อนตัว จึงใช้วิธีการปลูกป่าชายเลนโดยทำแนวป้องกันคลื่นลมและป้องกันขยะทางทะเลที่เข้ามาทับถมต้นกล้า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีโครงการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงมีการทดสอบพันธุ์ต้นกล้าที่มีความแข็งแรงและสามารถเจริญเติบโตได้ นั่นคือ ต้นแสมขาว โดยในปี 2557 เริ่มทำการปลูกป่าชายเลนไปแล้ว 7 ไร่ หรือประมาณ 5,000 ต้น อัตราการรอดของต้นกล้าอยู่ที่ 65 % หากเทียบกับในอดีตมีการรอดไม่ถึง 10 %
ทางด้านนายสุรินทร์ ระหงษ์ ประธานคณะกรรมการชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เผยถึงปัญหาขยะทางทะเลที่คลื่นลมพัดเข้ามาบริเวณป่าชายเลนว่า ชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเก็บขยะที่พัดเข้ามารวมถึงการทำแนวกั้นขยะโดยใช้ไม้ไผ่ปักกั้นแปลงปลูกและนำตาข่ายรอบล้อมอีกชั้น เป็นวิธีการที่ช่วยให้ต้นไม้สามารถเติบโตขึ้นมาได้ หากระบบนิเวศมีความอุดมสมบูรณ์นั่นหมายถึงชุมชนสามารถจับสัตว์น้ำทางทะเลมารับประทานหรือเป็นการประกอบอาชีพอย่างหนึ่งได้