เครื่องเล่นแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ต สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกลืมไปในช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการฟังเพลง ทั้งแผ่นซีดี เครื่องเล่น MP3 หรือแม้กระทั่งสตรีมมิ่งของยุคดิจิทัล แต่ในยุคนี้ยุคที่ “คนรุ่นใหม่โหยหายุคเก่า” ผู้คนกลับมาให้ความสนใจเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตกันเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะไม่รุ่งเรืองเท่าในอดีต แต่ก็นับได้ว่าเป็นการคืนชีพแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียว เราจะพาทุกคนไปดูกันว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงหันกลับมานิยมแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตอีกครั้ง
“การกลับมาของแผ่นเสียง”
แผ่นเสียงอยู่กับเรามาโดยตลอด เพราะมีการผลิตออกมาเรื่อย ๆ เพียงแต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พอมีเทปคาสเซ็ตเข้ามา คนก็เล่นแผ่นเสียงน้อยลง พอแผ่นซีดีเข้ามา ก็ทำให้เทปคาสเซ็ตได้รับความนิยมน้อยลง แต่พอถึงยุคที่แผ่นซีดีหมดความนิยม ผู้คนก็หันไปฟังเพลงต่าง ๆ ในสตรีมมิ่งแทน แต่ด้วย”คนยุคใหม่โหยหายุคเก่า” ยุคที่เด็กรุ่นใหม่หันมาฟังแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ตมากขึ้น ทำให้เมื่อมีเพลงใหม่ออกมาก็เลยมีการผลิตแผ่นเสียงออกมาด้วย ในประเทศไทยเพลงไทยใหม่ ๆ จะขายดีและเป็นที่นิยมมากกว่าเพลงสากล เพราะเพลงบางเพลงไม่เคยมีการผลิตแผ่นเสียงมาก่อน ทำให้ผู้คนสนใจที่จะสะสม แต่ราคากลับสวนทางกันในยุคก่อนเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะมีราคาแพงมากกว่าแผ่นเสียง ในยุคนี้เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีราคาที่ถูกลง เข้าถึงได้ แต่ราคาแผ่นเสียงกลับสูงขึ้นถึง 2,000-3,000 บาท หรือถูกสุด ๆ ก็อยู่ที่ 1,500-1,600 บาท
“เทปคาสเซ็ตกับราคาที่สูงขึ้น”
จากการสัมภาษณ์ คุณปิยะนันท์ ศรีแหลมสิงห์ เจ้าของร้าน Cake & Vinyl Shop ให้ความคิดเห็นว่า การกลับมาของเทปคาสเซ็ตเริ่มจากหนังเรื่อง “Guardians of the Galaxy Film” ที่ตัวเอกใช้เครื่องซาวด์อะเบาท์จนผู้คนให้ความสนใจ ทางค่ายจึงได้จัดทำเทปคาสเซ็ตซาวด์แทร็คออกมาจำหน่าย จนเป็นกระแสนิยมขึ้นมาอีกครั้ง
หลาย ๆ ค่ายเพลงในไทยจึงหันกลับมาทำเทปคาสเซ็ตกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ในการผลิตยุคนี้ โรงงานผลิตในประเทศไทยไม่มีอยู่แล้ว ทำให้ต้องสั่งผลิตจากต่างประเทศ เช่น แคนาดา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น การผลิตเทปคาสเซ็ตต่ออันจึงมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาเทปคาสเซ็ตสูงไปถึง 500-800 บาท และผลิตมากสุดประมาณ 500-1,000 ชุด แต่จะเทียบกับสมัยก่อนก็ไม่ได้ เพราะยุคก่อนโรงงานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ทำให้เข้าถึงได้ทุกคน สมัยก่อนขายม้วนละ 100 บาท ถ้าขายได้ 1 ล้านตลับ กำไรก็อยู่ที่ 10 ล้านบาท แต่ตอนนี้ ผลิตเพียงมา 500 ม้วน ขายม้วนละ 800 บาท กำไรมากสุดก็อยู่ที่ 4 แสนบาท แต่ด้วยการผลิตน้อยลง ทำให้ไม่พอขายหน้าร้าน และเมื่อหน้าร้านขายหมด ก็ทำให้เกิดตลาดรีเซลขึ้น ทำให้ราคาดีดขึ้นไปถึง 1,000-2,000 บาท
“เสน่ห์ที่หลายคนหลงใหล”
การที่เราได้เดินเข้าไปในร้านขายแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ต การได้ถูกล้อมไปด้วยสิ่งที่เราสนใจ ได้รู้สึกตื่นเต้นเมื่อเจอเพลงที่ตามหา ได้อวดคอลเลคชันของที่สะสมให้กับแขกที่มาเยี่ยมเยือนได้เห็น หรือการได้นั่งมองแผ่นเสียงหมุนวนไปบนเครื่องเล่นแผ่นเสียง แม้กระทั่งได้ฟังเสียงเพลงที่มีเอกลักษณ์ของเทปคาสเซ็ต ก็เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ทางกายภาพ และเป็นความสุนทรีย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ คนหันมาให้ความสนใจแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตกันอีกครั้ง
“สุดท้ายนี้ แผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ไม่ได้หายากอย่างที่คิด วงดนตรีใหม่ ๆ ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนที่นอกจากออกซิงเกิ้ลเพลงแล้วก็ยังผลิตแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ตออกมาให้ได้เลือกซื้อไปสะสมด้วยเช่นกัน ใครอยากลองสัมผัสเสน่ห์ของเครื่องเล่นแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตด้วยตัวเอง ก็ลองดูกันนะคะ รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน”
👑 บรรณาธิการ : บดินทรกานต์ พิทักษ์สรยุทธ
🌟 รองบรรณาธิการ : อภิญญา บุญยะยุตร
⭐️ เลขา : ตรีวงศ์ ตรีวัฒนชัยกุล
กองบรรณาธิการ 💪🏻
ฝนลัดดา ห้วงน้ำ
นภาพร สุปินะ
สุพัชชา โฮมจัตุรัส
อภิภูมิ กาญจนวัฒน์
ช่างภาพ 📸
ธงทอง สุคาคม
กราฟิก💻
ชลลธร เที่ยงแท้
ภัทริกา บุญปั้น
พิสูจน์อักษร📝
พรชิตา จินพละ
ปาณิศา นิลนวล