สำหรับเด็กยุคปลาย 90s หรือยุค 2000s ที่ชื่นชอบการเล่นเกมยิงคงจะไม่มีใครไม่รู้จักเกม Counter-Strike เกมสไตล์ FPS Tactical Multiplayer ที่อยู่คู่กับวงการเกมมาอย่างยาวนาน กับภารกิจช่วยเหลือตัวประกันและการกู้ระเบิด โดยเกมนี้ปล่อยให้เล่นครั้งแรกในปี 1999 อย่าง Counter-Strike Beta จากนั้นตัวเกมก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี 2023 ได้ปล่อยเกมตัวใหม่ Counter-Strike 2 ออกมาที่ได้อัพเกรดจากภาค Global Offensive ใส่เทคโนโลยีใหม่เข้ามาทั้งตัว skin จากภาคเก่า ยกระดับกราฟิกเกมให้มีแสง สี เสียง รายละเอียดของเกม ให้มีความคมชัดและเอนจิ้นการแสดงภาพแบบใหม่
จากความนิยมของเกมจึงทำให้เมื่อวันที่ 20-21 เมษายน 2567 ทางสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยได้จัดการแข่งขันเกม Counter-Strike 2 ซึ่งการแข่งขันทั้ง 2 วันเป็นไปอย่างดุเดือด โดยในการแข่งขันครั้งนี้ เราได้สะดุดตากับโค้ชสาวจากทีม T.Moy หรือ ยู้-ณัฐพร ระดับชัยมงคล (ชื่อในวงการเกมว่า ชิคเก้นบัพ) ที่นำทัพนักแข่งวัย 18-22 ปีมาร่วมลงแข่งขันในรายการนี้ จึงเกิดเป็นบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้ ยู้เผยว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจการเล่นเกมมาจากคุณพ่อตั้งแต่ป.1 ที่ได้เห็นคุณพ่อเล่นเกม Counter-Strike 1.6 จนเป็นจุดเริ่มต้นของการชื่นชอบการเล่นเกมสไตล์ FPS และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้สำหรับเกมเมอร์สาวที่อยากจะลองมาแข่งขันเกมในระดับต่าง ๆ อีกด้วย
ยู้เผยถึงความรู้สึกของการแข่งขันรายการที่ผ่านมาในฐานะนักแข่งผู้หญิง ซึ่งส่วนมากผู้ที่มาเข้าแข่งขันเป็นผู้ชาย
“รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่แข่ง แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นการเปิดประสบการณ์ให้กับตัวเองในทุก ๆ ครั้งที่ได้แข่ง ได้เรียนรู้วิธีการเล่นของอีกฝ่าย เหมือนเป็นการพัฒนาตัวเองในทุก ๆ ครั้งที่ลงแข่ง”
เมื่อก่อนคุณยูู้ลงแข่งขันกับทีมแบบไหนบ้างในแต่ละเกม
“แต่ก่อนลงแข่งขันเป็นทีมผสม มีรายการหนึ่งก่อนหน้านี้ที่เป็นหญิงล้วนมาค่ะ เป็นอันดับ 3 ของ Apex ที่ลงไปแข่ง ถ้าสำหรับเกม Counter-Strike ทีมหญิงล้วน ส่วนตัวถือว่ายากมาก แต่ว่า Valorant ยังมีเยอะอยู่ค่ะ”
คิดเห็นอย่างไรกํบค่านิยมที่ว่าผู้หญิงมักเสียเปรียบ
“ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะว่าผู้หญิงบางคนก็มีความสามารถไม่แพ้ผู้ชายเลย”
ทำไมเกมนี้ถึงผันตัวมาเป็น “โค้ช” แทนที่จะมาเป็นนักกีฬาเสียเอง
“คือจริง ๆ แล้วรายการนี้ส่วนตัวอยากลงในฐานะนักกีฬา ที่ผ่านมาเราลงแข่งในฐานะนักกีฬามาตลอด แต่ว่าสำหรับรายการนี้มีกฎข้อหนึ่งเขียนว่า รับเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ก็เลยไม่สามารถลงได้ ก็เลยคิดหาว่ามีทางอื่นที่สามารถลงได้อีกไหม ก็ได้มาเจอตำแหน่งตรงโค้ชนี่แหละที่สามารถเป็นเพศไหนก็ได้ ก็เลยลงสมัครในฐานะโค้ชแทน”
ความรู้สึกระหว่างการเป็นนักกีฬาและโค้ช แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนอย่าไงร
“ส่วนตัวคือต่างกันมากเลย เป็นโค้ชมันต้องดูภาพรวมของทีมแล้วก็ต้องคอยวิเคราะห์แผน แก้จุดที่ทีมยังบกพร่องอยู่และนัดซ้อมทีม ดูภาพรวมของทีมทั้งหมด”
การเล่นเกมไม่ได้จำกัดเพศ ไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถเล่นเกมเหมือนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+
“ใช่ค่ะทุกวันนี้เราก็เห็นกันเยอะว่า ผู้หญิงก็ผันตัวมาเป็นสตรีมเมอร์เยอะ มันไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเพศไหน เพศไหนก็เล่นได้หมดเลย ซึ่งเกมมันก็สนุก เหมาะกับเวลาเราเครียด ๆ เหนื่อย ๆ จากการอ่านหนังสือ หรือจากการทำงาน เราก็ใช้เวลาว่างตรงนี้มาเล่นเกม และก็มา Enjoy กับเพื่อน นอกจากนี้มันยังได้ในแง่ว่าบางเกมมันก็สื่อสารกับต่างชาติ ทำให้ได้ในเรื่องของภาษาอีกด้วย”
และนี่คือเรื่องราวของเด็กสาวที่มีคุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจ จนก้าวเข้าสู่ผู้เข้าแข่งขันหญิงอย่างเต็มตัว กระทั่งวันนี้ได้มาเป็นโค้ชสาวนำทีมพิชิตการแข่งขันเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติ และนอกจากบทบาททั้งหมดนี้แล้ว เรื่องราวของเธอคงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน เหมือนที่คุณพ่อเคยเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เธอนั่นเอง
ถึงแม้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้ เธอจะมาในฐานะของโค้ช แต่ทางเราเชื่อว่าในอนาคต เธอจะกลับมาอีกครั้งในฐานะนักกีฬา หรือผู้เข้าร่วมแข่งขันในเกมแทน และไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็สามารถเล่นได้ เพราะในอดีตคนส่วนใหญ่คิดว่าผู้หญิงอาจจะไม่เหมาะสำหรับเกมสไตล์ FPS ผู้หญิงเล่นไม่เก่ง ไม่มีการวางกลยุทธ์แผนการเล่นที่เหมือนกับผู้ชาย แต่ในปัจจุบันก็จะเจอกับสตรีมเมอร์สาวมากมายบนโลกออนไลน์ ทั้งยูทูบหรือการไลฟ์สดสตรีมเกม นอกจากนี้ในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ก็อาจจะพบกับนักกีฬาผู้หญิงที่มากความสามารถอีกด้วย ทางสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ขอสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต เพราะนอกจากเกมจะเป็นส่วนหนึ่งของการกำจัดความเครียดแล้ว ยังเป็น Community ที่อาจจะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการมีมิตรภาพใหม่ ๆ และการพัฒนาในด้านของภาษาอีกด้วย และไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด คุณก็อาจจะได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศไทยที่ได้ไปแข่งในระดับโลกได้เช่นกัน
เรื่อง: กาญจนาวดี ไชยสงคราม
ภาพ: คณิศร เสี้ยมสอน
กราฟิก: ณัฐวัฒน์ สิงห์สัตย์